วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

คนงานฟาร์มไก่สหรัฐติดหวัดนก

 ขณะนี้ สหรัฐฯ ยืนยันการติดเชื้อของคนงานฟาร์มเลี้ยงไก่อย่างน้อย ๔ รายแล้ว โดยรายที่ ๕ อยู่ในรัฐโคโลราโด ยังรอการยืนยันโรคจากกรมควบคุมโรค 

กรมควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ พบคนงานฟาร์มเลี้ยงไก่ ๔ รายติดเชื้อโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง เอช ๕ เอ็น ๑ ในรัฐโคโลราโด รายที่ ๕ รอการยืนยันโรค คนงานเหล่านี้ทำหน้าที่เชือดไก่ไข่ แล้วแสดงอาการป่วยเล็กน้อย ตาอักเสบ ร่วมกับการติดเชื้อทางเดินหายใจทั่วไป อย่างไรก็ตาม ไม่มีคนงานรายใดต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล นักระบาดวิทยาเชื่อว่า เป็นผลมาจากพนักงานเหล่านี้ทำงานแล้วได้รับเชื้อโดยตรงจากสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ   

อ้างอิงตามกรมสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รัฐโคโลราโด หรือซีดีพีเอชอี  (Colorado Department of Public Health and Environment, CDPHE) ส่งตัวอย่างจากผู้ป่วย ๓ รายจากห้องปฏิบัติการสุขภาพรัฐให้กับกรมควบคุมโรคสหรัฐฯแล้วเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฏาคม เพื่อยืนยันโรค

ผู้ป่วยรายที่สี่เป็นรายที่สงสัยเพิ่มเติมโดยห้องปฏิบัติการรัฐ ในเวลาต่อมาก็ได้รับการยืนยันจากกรมควบคุมโรคสหรัฐฯ ขณะที่ ตัวอย่างจากพนักงานรายที่ห้าก็ตรวจเบื้องต้นเป็นบวกโดยห้องปฏิบัติการรัฐ และส่งตัวอย่างไปยังกรมควบคุมโรค เพื่อยืนยันอีกครั้ง และยังไม่มีผลการทดสอบเพิ่มเติมในเวลานี้

               ซีดีพีเอชอีไม่ได้บอกว่า พนักงานเหล่านี้ทำงานที่ไหน หรือตำแหน่งแห่งหนที่แน่นอน นอกจากบอกว่าอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐโคโลราโด ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ​หรือยูเอสดีเอ ส่วนสำนักงานตรวจสอบสุขภาพพืชและสัตว์ หรือเอฟิส แสดงข้อมูลฟาร์มไก่ไข่ที่ยืนยันโรคแล้วในเมืองเวลด์เมื่อวันที่ ๘​ กรกฏาคมที่ผ่านมานี้เอง

               กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ เปิดเผยว่า พนักงานที่ติดเชื้อไข้หวัดนกเอช ๕​ เอ็น ๑ ในรัฐโคโลราโด ทั้ง ๔​ รายยืนยันแล้ว ขณะที่ รายที่ ๕ คาดว่าผลจะเป็นบวกเช่นกัน

               อ้างอิงตามแหล่งข่าวจากซีดีพีเอชอี พนักงานฟาร์มเหล่านี้ กำลังปฏิบัติการทำลายไก่ไข่ในฟาร์ม แล้วแสดงอาการเล็กน้อย ทั้งเยื่อตาอักเสบ และอาการทางระบบหายใจทั่วไป อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ป่วยคนใดต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล นักระบาดวิทยาเชื่อว่า พนักงานฟาร์มสัตว์ปีกได้รับเชื้อโดยตรงจากสัตว์ปีกป่วยที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ยังไม่มีฟาร์มไก่ไข่อื่นๆในรัฐโคโลราโดเกิดโรคไข้หวัดนกในปี พ.ศ.๒๕๖๗ นี้ รายล่าสุดที่ยืนยันโรคทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอช ๕ เอ็น ๑ ในปีนี้เพิ่มเป็นสองเท่า รายอื่นๆพบในพนักงานในฟาร์มโคนมที่ติดเชื้อเอช ๕ เอ็น ๑  โดยรัฐโคโลราโดพบ ๑ ราย เท็กซัส ๑ ราย และมิชิแกน ๒ ราย

เอกสารอ้างอิง

Graber R. 2024. H5N1 confirmed in at least 4 poultry workers. [Internet]. [Cited 2024 Jul 15]. Available from: https://www.wattagnet.com/poultry-meat/diseases-health/avian-influenza/article/15679544/h5n1-confirmed-in-at-least-4-poultry-workers

ภาพที่ ๑ พนักงานฟาร์มไก่สหรัฐฯติดหวัดนกหลายราย  (แหล่งภาพ CDC/ Dr. Erskine Palmer)





วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ใช้ฝาจจัดการเชื้อ อี.โคไล ก่อโรค

 ผลิตภัณฑ์คอคเทลฝาจ ๗ ชนิดลดเชื้อ อี.โคไล ก่อโรค หรือเอเพค ในไก่ได้

การใช้แบคเทอริโอฝาจ มีประสิทธิภาพช่วยลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อ อี. โคไล ก่อโรคในสัตว์ปีก หรือเอเพคในไก่ได้ จากผลการศึกษาของวิทยาลัยเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยเพอร์ดู อ้างอิงตามผลการวิจัย การใช้แบคเทอริโอฝาน ร่วมกับการจัดการฟาร์มที่ดีช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเพอร์ดู แยกเชื้อแบคเทอริโอฝาจ ๗ ชนิด ที่สามารถช่วยควบคุมเชื้อ อี.โคไล ก่อโรคในสัตว์ปีกได้

คอคเทล

               พอล เอบเนอร์ หัวหน้าคณะผู้วิจัยอธิบายผลการวิจัยครั้งนี้ว่า เชื้อแบคเทอริโอฝาจสามารถทำลายเชื้อ อี. โคไล ก่อโรคในสัตว์ปีกได้ถึงร้อยละ ๙๐ เมื่อนำไปให้กับไก่ ผลการทดลองช่วยลดเชื้อ อี. โคไล ก่อโรคในสัตว์ปีกในปอดและไส้ตันได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ยังไม่มีผลกระทบต่อผลการเลี้ยง ทั้งที่ให้เชื้อพิษทับกับสัตว์ทดลอง และยังไม่มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อต้านฝาจอีกด้วย

               ผลิตภัณฑ์นี้ให้ด้วยการป้อนทางปากโดยมีการทำเป็นไมโครเอนแคปซูเลชันเพื่อป้องกันฝาจจากสิ่งแวดล้อมในระบบทางเดินอาหาร และช่วยให้แบคเทอริโอฝาจที่มีชีวิตเข้าถึงตำแหน่งที่มีการติดเชื้อได้

               ผลการวิจัยครั้งนี้ทำในรัฐอินเดียนา พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการผลิตอาหารในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง และโครงการต้นแบบถูกพัฒนาไปแล้วในปากีสถาน ผลการวิจัยในปากีสถาน พบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าเนื้อไก่ที่ใช้แบคเทอริโอฝาจแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ ขณะนี้ มหาวิทยาลัยกำลังศึกษาอุปสรรคที่เป็นกำแพงกั้นระหว่างผู้ผลิตสัตว์ปีก และสัตวแพทย์ผู้ดูแลสัตว์ปีก

การพัฒนาแบคเทอริโอฝาจ

               ผลิตภัณฑ์จากแบคเทอริโอฝาจสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกยังมีจำนวนน้อยที่ทำตลาด และยังมีอุปสรรคในการใช้ในภาคปศุสัตว์ แม้ว่าจะเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่ามีศักยภาพที่จะใช้แทนยาปฏิชีวนะได้ ท่ามกลางอุปสรรคเหล่านี้คือ ความสำเร็จทางประวัติศาสตร์ของยาปฏิชีวนะ ที่หาซื้อได้ง่าย และเป็นที่คุ้นเคยกัน แต่การขึ้นทะเบียนได้ลำบากในหลายประเทศก็ทำให้การทำตลาดเป็นไปด้วยความยากลำบาก

               ความก้าวหน้าในการผลิตแบคเทอริโอฝาจทำให้การใช้งานได้ง่ายขึ้น ในช่วงต้นปีนี้มีองค์กรที่แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และช่วยสนับสนุนการรับรองขึ้นทะเบียนอย่าง ฝาจเอเชีย ผู้ก่อตั้งชี้ให้เห็นถึงการขาดความเอาใจใส่ต่อห่วงโซ่คุณค่าของอาหาร รวมถึง ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนที่เป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้การยอมรับเทคโนโลยีนี้ไปใช้เป็นไปอย่างล่าช้า   

เอกสารอ้างอิง

Clements M. 2024. APEC phage product developed for low- mid-income countries. [Internet]. [Cited 2024 Jul 10]. Available from: https://www.wattagnet.com/latest-news/news/15679265/apec-phage-product-developed-for-low-midincome-countries#:~:text=APEC%20phage%20product%20developed%20for%20low-%20mid-income%20countries,in%20avian%20pathogenic%20Escherichia%20coli%20in%20treated%20birds.

ภาพที่ ๑ การอุบัติใหม่อย่างต่อเนื่องของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ทำให้การจัดการสุขภาพสัตว์มีทางเลือกที่จำกัด ฝาจเป็นเครื่องมือใหม่สำหรับผู้ผลิตสัตว์ปีกที่ช่วยให้สัตว์มีสุขภาพที่ดี 



วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ตรวจหวัดนกด้วยภาพอินฟราเรด

 ระบบการจัดการคอมพิวเตอร์ สามารถตรวจสอบฝูงไก่เนื้อที่ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกได้ ฟังแล้วเหมือนกับว่าห่างไกลไปในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง นักวิทยาศาสตร์จากอิหร่านและสหรัฐฯ แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นไปได้ที่จะตรวจโรคไข้หวัดนก และนิวคาสเซิลด้วยการใช้ภาพถ่ายอุณหภูมิและเอไอบอกโรคก่อนที่อาการจะปรากฏออกมาให้เห็นได้

การตรวจพบโรคไข้หวัดนกในโรงเรือนสัตว์ปีกตั้งแต่ระยะแรกมีความสำคัญต่อการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปยังฟาร์มอื่นๆ ผลการศึกษาร่วมกันของอิหร่านและสหรัฐฯ ไม่ใช่ครั้งแรกที่จะตรวจโรคไข้หวัดนกโดยใช้ภาพถ่าย ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ นักวิจัยชาวจีนก็ได้พัฒนาอัลกอลิทึมสำหรับตรวจสอบเอช ๕ เอ็น ๒ ในไก่เนื้อ โดยอาศัยเส้นโครงร่าง และข้อมูลเกี่ยวกับกระดูก

ในครั้งนี้ นักวิจัยจากอิหร่านและสหรัฐฯก็ใช้ภาพถ่ายอุณหภูมิเพื่อจำแนกระหว่างสัตว์ป่วยและสัตว์ปรกติ โดยสัตว์ป่วยมีอุณหภูมิที่ผิดปรกติ อ้างอิงตามรายงานการวิจัยจากวารสารวิชาการ แอนิมอล วิธีที่ใช้สามารถตรวจสอบโรคไข้หวัดนกได้ ๘ ชั่วโมงภายหลังการติดเชื้อ แม้ว่าความแน่นนอนจะยังน้อยกว่าร้อยละ ๙๐ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอ้างว่า สามารถทำนายโรคได้แม่นยำอย่างมากภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง

ภาพถ่ายอุณหภูมิภายหลังการติดเชื้อ

               นักวิจัยจากอิหร่าน และสหรัฐฯ ร่วมกับทดลองภายใต้สภาวะในห้องปฏิบัติการแบ่งไก่เป็น ๔ กลุ่มการทดลองโดยใช้ไก่พันธุ์รอส ๓๐๘ จำนวน ๒๐ ตัวต่อกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้เชื้อไวรัสนิวคาสเซิล อีกกลุ่มหนึ่งให้เชื้อไวรัสไข้หวัดนกเอช ๙ เอ็น ๒ และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มควบคุม เลี้ยงไก่ในกรงแยกกันด้วยตะข่าย ภาพถ่ายอุณหภูมิบันทึกทุก ๘ ชั่วโมงในทุกกลุ่มจาก ๘ ถึง ๕๖ ชั่วโมงภายหลังการให้เชื้อ โดยตั้งไว้ในระยะ ๐.๕ เมตร

               นักวิจัยระบุว่า ภาพถ่ายดังกล่าวได้จากระบบโรบอตแบบเคลื่อนที่ ที่สามารถตรวจสอบอาการระยะแรกของการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกโดยอาศัยภาพถ่ายอุณหภูมิ ๓ ภาพต่อไก่เนื้อ ๑ ตัวในทุก ๘ ชั่วโมง ในโลกของบิ๊กดาต้า ข้อมูลมหาศาลจำเป็นต้องนำมาวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยในการศึกษาครั้งนี้ค้นหาคุณลักษณะทางสถิติของภาพถ่ายอุณหภูมิที่สามารถคัดกรองและคัดเลือกออกมาได้ ด้วยการใช้สูตรและการใช้เอไอ จึงได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

การวิจัยขนาดเล็ก

               ในการทดลองด้วยการใช้ระบบเอไอ ๒ วิธี เพื่อประมวลภาพถ่ายอุณหภูมิ เทคนิคที่ ๓ ถูกใช้โดยประมวลผลร่วมกับอีกสองวิธีข้างต้น พบว่า มีความแม่นยำสูงร้อยละ ๙๗.๒ สำหรับโรคไข้หวัดนก และร้อยละ ๑๐๐ สำหรับโรคนิวคาสเซิล

               นักวิจัยยอมรับว่า นี่เป็นเพียงการทดลองขนาดเล็ก จำเป็นต้องขยายขนาดให้การทดลองใหญ่ขึ้นกว่านี้ เป้าหมายของนักวิจัยกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้กับฟาร์มทุกวัน การตรวจอาการของโรคไข้หวัดนกยังเป็นความรับผิดชอบของผู้จัดการฟาร์มเป็นหลักอยู่

เอกสารอ้างอิง

van der Werff N. 2024. Spotting avian influenza with infrared imaging. [Internet]. [Cited 2024 Jul 8]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/spotting-avian-influenza-with-infrared-imaging/

ภาพที่ ๑ การตรวจสอบโรคในมนุษย์มีการทดลอง และทดสอบมาแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาของไก่บ้าง  (แหล่งภาพ ANP)



วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

กลุ่มเคลื่อนไหวสวัสดิภาพสัตว์เรียกร้องเทสโก้ร่วมอีซีซี

 เอ็นจีโอสวัสดิภาพสัตว์เรียกร้องให้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรให้ยอมรับแคมเปญเบทเทอร์ ชิกเก้น คอมมิตเมนต์ ภายหลังร้านซูปเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมไปแล้ว ทำให้การเลี้ยงไก่ใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น

ฮิวแมนลีก ขอให้เทสโก้ตัดสินใจยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์ราว ๑๕๐ ล้านตัว โดยให้ไก่สดที่ติดฉลากเทสโก้มีพื้นที่การเลี้ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ ถึงเวลาแล้วที่เทสโก้ต้องยอมรับแคมเปญเบทเทอร์ ชิกเก้น คอมมิตเมนต์ ได้แล้ว และยุติการเลี้ยงไก่โตเร็วได้แล้ว

การสนับสนุน

               ฮิวแมนลีกได้ประชุมร่วมกับกับเทสโก้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึง ๒๕๖๒ แล้วเริ่มปฏิบัติต่อซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๕ แต่ก็เป็นแคมเปญที่ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายอ้างอิงจากห้างมอร์ริสัน, Lild และโคออพ ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคอย่างมาก

               ขณะนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตเลือกซื้อไก่จากฟาร์มที่จัดพื้นที่เลี้ยงไก่เพิ่มขึ้นแล้ว เป็นความสำเร็จขั้นแรกของฮิวแมนลีก ที่เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหยุดใช้ไก่แฟรงเกนสไตน์ สิ่งนี้ไม่ใช่ทางเลือกของสินค้าอีกต่อไป ฝูงไก่เหล่านี้ถูกเลี้ยงให้ตัวโตอย่างรวดเร็ว ร่างกายของพวกมันสามารถพังทลายลงได้ด้วยน้ำหนักตัวมันเอง จนกว่าเทสโก้จะเปลี่ยนสายพันธุ์ไก่เหล่านี้ สัตว์หลายล้านตัวยังคงติดกับดักของความทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็น

               ฮิวแมนลีกเชื่อมั่นว่า ร้านค้าปลีกที่เหลืออีก ๒ ใน ๖ ทั้งอัลดี และแอสด้า จะลดหรือยอมรับเงื่อนไขการลดความหนาแน่นลงให้ได้ในปี พ.ศ.๒๕๖๘ นี้

มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่สูงขึ้น

               เทสโก้ ได้ปรับระดับความหนาแน่นในการเลี้ยงลงเป็น ๓๐ กิโลกรัมต่อตารางเมตรจากเดิมมาตรฐานของอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกเป็น ๓๘ กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญในมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ การเคลื่อนไหวนี้เพื่อให้มั่นใจว่า สัตว์จะมีโอกาสเข้าถึงของเล่น เช่น ก้อนฟาง คอนเกาะ วัสดุสำหรับจิกเล่น และแสงธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น 

               เทสโก้ทราบดีว่า ลูกค้าให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพสัตว์ และสัญญาว่าจะยกระดับมาตรฐานให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในปีถัดไป ไก่สดของเทสโก้ทั้งหมดจะเลี้ยงภายใต้มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ระดับสูง โดยมีพื้นที่การเลี้ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ จากมาตรฐานของอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก เทสโก้ขอบคุณฮิวแมนลีก ที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ดีขึ้น เป็นทางเลือกที่ยั่งยืน และเทสโก้ยินดีกับคุณค่าที่ยิ่งใหญ่นี้

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2024. Animal welfare groups call on Tesco to join Better Chicken Commitment. [Internet]. [Cited 2024 Jul 3]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/animal-welfare-groups-call-on-tesco-to-join-better-chicken-commitment/

ภาพที่ ๑ นาตาลี สมิธ หัวหน้าส่วนประมงและเกษตรกรรมยั่งยืน เทสโก้ แถลงข่าวแสดงความเห็นถึงความเข้าใจต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ และมุ่งมั่นทำงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานนี้  (แหล่งภาพ Canva)



วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ผู้ผลิตพันธุ์ไก่ยุโรปเดินหน้าพัฒนาไก่เนื้อโตช้า

 สายพันธุ์ไก่ของ เอเวียเจน ได้รับรองสวัสดิภาพสัตว์จากอาร์เอสพีซีเอ สำหรับพันธุ์โตช้าที่สอดคล้องกับมาตรฐานข้อตกลงไก่ยุโรป หรืออีซีซี

สายพันธุ์ รัสติกโกลด์ ของเอเวียเจน ได้รับรองให้เป็นสายพันธุ์ไก่เนื้อโตช้าที่เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์สอดคล้องกับมาตรฐานข้อตกลงไก่ยุโรป หรืออีซีซี (European Chicken Commitment, ECC) ตามสายพันธุ์โรแวนเรนส์ ก่อนหน้านี้มีเพียงสองสายพันธุ์ที่ได้รับรอง ได้แก่ แรนเจอร์โกลด์ และแรนเจอร์คลาสสิก ถือเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นให้กับผู้ผลิตไก่เนื้อ 

ความสมดุลของสวัสดิภาพสัตว์และผลการเลี้ยง

               คุณลักษณะของสายพันธุ์ รัสติก ได้แก่ ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารสัตว์ที่ดี ด้วยดุลยภาพระหว่างหลักสวัสดิภาพสัตว์และผลการเลี้ยง ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนาของอะเวียเจน ดร.เบรนดอน ดักแกน พยายามคัดเลือกสายพันธุ์ไก่โตช้าโดยคำนึงถึงสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และการผลิตอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่ต้องใช้ในการปรับปรุงสายพันธุ์ไก่ โดยเอเวียเจนร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับอาร์เอสพีซีเอ และองค์กรต่างๆในยุโรป เพื่อส่งเสริมหลักสวัสดิภาพสัตว์

ต้นทุนการผลิต

               ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังรายงานผลการวิจัยล่าสุด พบว่า การปรับเปลี่ยนมาตรฐานการผลิตตามอีซีซีจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๓๗.๕ ต่อกิโลกรัมของเนื้อไก่ การใช้น้ำและอาหารสัตว์ก็มีปริมาณสูงขึ้น นอกเหนือจากการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก

               ปริมาณเนื้อสัตว์ที่ได้ก็ลดลง หากผู้ผลิตรายใดจะรักษาระดับการผลิตในปัจจุบันไว้ได้ ก็จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ขึ้นอีกมาก ผลการศึกษาของเอดาสในสหราชอาณาจักรสำหรับสมาคมโรงงานแปรรูปสัตว์ปีก และการค้าสัตว์ปีกของประเทศภายในสหภาพยุโรป (Association of Poultry Processors and Poultry Trade, AVEC) พบว่า

·      การใช้ทรัพยากรน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๕.๔ คิดเป็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น ๑๒.๔๔ ล้านคิวบิกเมตรต่อปี

·      การใช้อาหารสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๕.๕ คิดเป็นปริมาณอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ๗.๓ ล้านตัน

·      การปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๔.๔ ต่อเนื้อไก่ ๑ กิโลกรัม

·      ปริมาณเนื้อไก่ทั้งหมดลดลงร้อยละ ๔๔ เปรียบเทียบกับระบบการผลิตมาตรฐานในปัจจุบันที่ใช้พื้นที่การผลิตมากกว่า ๓๐ กิโลกรัมต่อตารางเมตร

·      ความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ใหม่ทั้งหมด ๙,๖๙๒ โรงเรือน มูลค่าเกือบสี่แสนล้านบาท เพื่อให้ระดับการผลิตใกล้เคียงกับปัจจุบัน

รายงานกล่าวว่า ผลกระทบดังกล่าวต่อการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นกว่าเดิม ที่อาจส่งผลต่อการสูญเสียผู้บริโภคจำนวนมากไม่ตัดสินใจซื้อเนื้อไก่อีก หรือการนำเข้าก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประเทศที่สามที่มาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ไม่ดี

ข้อตกลงไก่ยุโรป หรืออีซีซี

               ข้อตกลงไก่ยุโรป หรืออีซีซี มีข้อกำหนดสำคัญ เช่น การใช้สายพันธุ์ไก่โตช้า ความหนาแน่นลดลง การจัดของเล่นให้ไก่ทั้งสินค้าเนื้อไก่แปรรูป แช่แข็ง และสดทั้งหมดภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๙ หรืออีกไม่ถึงสองปีข้างหน้า   

ภาพที่ ๑ เอเวียเจนได้รับรองสายพันธุ์ไก่เนื้อโตช้าเพิ่มเติมที่สอดคล้องตามมาตรฐานข้อตกลงไก่แห่งยุโรปจากอาร์เอสพีซีเอ (แหล่งภาพ Aviagen)   



ไมเคิลฟู้ดส์เรียกคืนไข่เหลว

สำนักตรวจสอบและความปลอดภัยอาหาร กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ แจ้งให้ไมเคิลฟู้ดส์เรียกคืนไข่เหลวสองพันกิโลกรัม เนื่องจาก การติดฉลากผิดพลาด และไม่ได้เตือนอันตรายจากสารก่อภูมิแพ้ โดยสินค้าประกอบด้วยนมโค เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสารก่อภูมิแพ้  

ไข่เหลวในสูตรอาหารเช้า ถูกผลิตเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายนที่ผ่านมาในเมืองเกย์ลอร์ด รัฐมินเนโซต้า โดยผลิตภัณฑ์ที่ถูกเรียกคืนสินค้า ได้แก่

·      ผลิตภัณฑ์บรรจุภายในกล่องที่ทำจากกระดาษแข็ง ประกอบด้วย ไข่ทั้งฟองผสมกรดซิตริกของมูลนิธิแฟร์มีโดว์ (FAIR MEADOW Foundations WHOLE EGGS with CITRIC ACID) หมดอายุ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๗ และรหัสล๊อต ๔๑๖๒จี ภายในยังมีกล่องกระดาษลูกฟูก ที่มีฉลากระบุรายละเอียดเป็นไข่คน (Scrambled Egg Blend) วันที่และรหัสตรงกัน ปริมาณรวมทั้งหมด ๐.๙๐๘ กิโลกรัม

·      ผลิตภัณฑ์ที่ถูกตีกลับระบุหมายเลขโรงงานไว้เป็น อีเอสที. จี๑๔๕๕ ภายใต้เครื่องหมายรับรองของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ส่งให้กับร้านอาหารในรัฐอัลบามา ไอดาโฮ หลุยส์เซียนา มินเนโซต้า เนบร้าสก้า นิวเม็กซิโก โอไฮโอ เซาต์แคโรไลนา และยูท่าห์

·      สินค้าดังกล่าวถูกตรวจพบระหว่างการประเมินบรรจุภัณฑ์ตามปรกติ โรงงานผู้ผลิตได้แจ้งให้กับสำนักตรวจสอบและความปลอดภัยอาหาร เมื่อพบปัญหาว่า กล่องไข่ทั้งหมด และกรดซิตริก

·      โรงงานผู้ผลิตได้แจ้งปัญหานี้ให้กับสำนักตรวจสอบและความปลอดภัยอาหารเมื่อตรวจพบว่า สินค้าไข่ไก่ทั้งฟองผสมกรดซิตริก (Whole Egg with Citric Acid) หายไปจำนวนหนึ่ง แล้วไปปรากฏในรายการสินค้าไข่คนอาหารมื้อเช้า (Breakfast Blend Scrambled Egg) โดยผู้ผลิตได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า สินค้าไข่ไก่ทั้งฟองผสมกรดซิตริกที่หายไป ถูกไปใช้ระหว่างการผลิตสินค้าไข่คนอาหารมื้อเช้าโดยไม่ตั้งใจในช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งนี้สินค้าในสูตรอาหารเช้าประกอบด้วยสารก่อภูมิแพ้เป็นส่วนประกอบจากน้ำนมโค ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในฉลากสินค้าไข่ทั้งฟองผสมกรดซิตริก  

·      ไม่มีรายงานยืนยันเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการบริโภคสินค้าเหล่านี้ หากผู้บริโภควิตกเกี่ยวกับความผิดปรกติของร่างกายควรพบแพทย์  

·      สำนักตรวจสอบและความปลอดภัยอาหารกังวลว่า สินค้าดังกล่าวอาจถูกส่งไปในตู้เย็นตามร้านอาหาร หรือร้านค้าปลีกไปแล้ว และได้เตือนร้านเหล่านี้ไม่ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ควรทิ้งหรือส่งคืนกลับไปยังผู้จำหน่าย

·      สำนักตรวจสอบและความปลอดภัยอาหาร พยายามตรวจสอบประสิทธิภาพในการเรียกคืนสินค้า โดยเตือนให้โรงงานผู้ผลิตแจ้งให้กับลูกค้าเรียกคืนสินค้ากลับ และดูแลขั้นตอนต่างๆเพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าไม่ได้วางจำหน่ายอีกต่อไปแล้ว   

เอกสารอ้างอิง

Consumer Affairs. 2024. Michael Foods recalls 4,620 pounds of liquid egg products. [Internet]. [Cited 2024 Jul 1]. Available from: https://www.consumeraffairs.com/recalls/michael-foods-recalls-4620-pounds-of-liquid-egg-products-070124.html#:~:text=Michael%20Foods%20Inc.%2C%20is%20recalling%20approximately%204%2C620%20pounds,which%20is%20not%20declared%20on%20the%20product%20label.

ภาพที่ ๑ ไมเคิลฟู้ดส์เรียกคืนสินค้าไข่เหลวสองพันกิโลกรัม เนื่องจากฉลากสินค้าผิดพลาด และไม่ได้ระบุข้อมูลสารก่อภูมิแพ้ (แหล่งภาพ Consumer Affairs)



วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

การปรับปรุงสายพันธุ์ไก่ตามข้อกำหนดใหม่ และระบบการผลิตในอนาคตสำหรับไก่ไข่

   บรรยายโดย T. van der Braak (Hendrix Genetics, เนเธอร์แลนด์)

        ทิศทางการปรับปรุงสายพันธุ์ไก่ไข่ ปัจจุบัน และอนาคต มีเป้าหมายเพื่อให้ความสามารถในการรอดชีวิต การให้ผลผลิตไข่ไก่ได้เป็นเวลานาน รูปแบบการให้ผลผลิตเหมาะสม คุณภาพเปลือกไข่ดี พฤติกรรม และฟุ้ตพรินต์ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการบริโภคโปรตีนจากสัตว์ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2031 การบริโภคโปรตีนจากสัตว์จะเพิ่มขึ้นอีก 16% จากปี ค.ศ. 2021 โดยเฉพาะ เนื้อสัตว์ปีก (26%) และไข่ไก่ (22%) โจทย์สำคัญในปัจจุบันเป็นการพัฒนาการผลิตสัตว์ปีกอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ ทั้งสวัสดิภาพสัตว์ ฟุ้ตพรินต์ ลดการใช้ยาปฏิขีวนะ โดยมีราคาที่ย่อมเยา

          ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต ได้แก่ กฏระเบียบของภาครัฐบาล มาตรฐานของผู้ผลิตและลูกค้าที่เป็นพรีเมียมแบรนด์ ทั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่มาจากความต้องการทางสังคมในฐานะที่อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต การใส่ใจต่อสวัสดิภาพสัตว์ การรักษาสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาสุขภาพ และการเลือกซื้อสินค้าในท้องถิ่น (buy local) เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตสินค้าจากปรกติให้กลายเป็นสินค้าทางเลือกที่มีความหลากหลายกว่าเดิมประทับตราเครื่องหมายรับรองระบบต่างๆติดอยู่ข้างบรรจุภัณฑ์

          ระบบการผลิตไข่ไก่ เริ่มตั้งแต่ เพียวไลน์ (PL) 4 ตัวผลิตฝูงไก่ปู่ย่าพันธุ์ (GPS) ได้ 50 ตัว เพื่อผลิตฝูงไก่พ่อแม่พันธุ์ 5,000 ตัว สำหรับฝูงแม่ไก่ไข่ 500,000 ตัว สุดท้ายจึงได้ไข่ไก่ จำนวน 250,000,000 ฟอง จำหน่ายให้กับผู้บริโภค โดยวงจรการผลิตจากเพียวไลน์ไปจนถึงแม่ไก่ใช้เวลา 3 ปี เช่น เพียวไลน์ในปี ค.ศ.2024 กว่าจะได้เห็นภาพการผลิตไข่ไก่จริงๆก็ต้องรอจนถึงปี ค.ศ.2027 ความก้าวหน้าด้านพันธุกรรมช่วยให้แม่ไก่สามารถออกไข่ได้จำนวนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมและนานกว่าเดิมจาก 350 ฟองต่อแม่จะเพิ่มขึ้นได้อีก 150 ฟองเป็น 500 ฟอง การปรับปรุงความแข็งแรงของเปลือกไข่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ

          การแลกเปลี่ยนอาหารที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในสถานการณ์ที่ทรัพยากรต้องแบ่งปันกันใช้ประโยชน์ระหว่างอาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์กับพลังงาน โดยมีแรงกดดันมากขึ้นกับถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์ม กลยุทธ์จากฟาร์มสู่ส้อมจะต้องใช้ by-products มากขึ้นในอาหารไก่ เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นด้วยการลด FCR และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจาก carbon footprint การเลี้ยงไก่ควรมองว่าเป็นการลงทุนแทนที่จะเป็นต้นทุน

          ในยุโรป การเลี้ยงไก่บนกรงตับกำลังถึงกาลอวสานแล้วโดยมีการรณรงค์ให้ยุติการเลี้ยงสัตว์ในกรง (End the cage age) จากองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) เช่น COMPASSION in world farming โดยสื่อสารถึงพลเมืองในยุโรป 1.5 ล้านคนจะยุติการจัดการฟาร์มในสัตว์โดยการเลี้ยงขังไว้ในกรง

          คาดการณ์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของการเลี้ยงไก่ไข่ต่อการปล่อยแก๊สเรือนกระจก (GHG) เปรียบเทียบระหว่างปี ค.ศ.2018 ไข่ไก่เปลือกสีน้ำตาลผลิตแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 87 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมของไข่ไก่ สูงกว่าไข่เปลือกสีขาว คิดเป็น 4.1% และปี ค.ศ. 2030 แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลง 204 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมของไข่ไก่ ลดลงคิดเป็น 9.4% เปรียบเทียบกับปัจจุบัน แต่ไข่เปลือกสีขาวจะปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงได้ 242 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมของไข่ไก่ คิดเป็น 11.5% เปรียบเทียบกับปัจจุบัน ไข่สีน้ำตาลผลิตคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าไข่สีขาว 124 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมของไข่ไก่ บ่งชี้ว่า แม่ไก่สีขาวช่วยลดแก๊สเรือนกระจกได้ดีกว่า และพัฒนาได้รวดเร็วกว่าแม่ไก่สีน้ำตาล ในปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป เช่น สเปน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และฝรั่งเศส ก็ยังนิยมไข่ไก่สีน้ำตาลมากกว่าไข่ไก่สีขาว มีเพียงไม่กี่ประเทศ เช่น เดนมาร์ก ที่บริโภคไข่ไก่เปลือกสีขาวเกือบทั้งหมดแล้ว แต่โดยภาพรวม ในยุโรปเปลี่ยนมาบริโภคไข่ไก่สีขาวเพิ่มขึ้น 

          เทคโนโลยีการจำแนกเพศตัวอ่อนในไข่ฟัก กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คณะผู้วิจัยบางรายเลือกที่จะจำแนกเพศตัวอ่อนในช่วงก่อนระยะการฟัก 6 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตัวอ่อนยังไม่รู้สึกเจ็บปวด เช่น Matrixspec, eggXYT และ CSIRO เป็นต้น ส่วนใหญ่เลือกช่วงระยะการฟัก 7-13 วัน ซึ่งเป็น grey zone ตัวอ่อนเริ่มพัฒนาประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดบ้างแล้ว เช่น SELEGGT, IN OVO, PLANTegg, ATT, ORBEM เป็นต้น 

          การพัฒนาเทคโนโลยี Gene editing ล่าสุด ในระดับเพียวไลน์ นักวิจัยใช้ ZFP เป็น genetic marker ชนิดใหม่ที่ตัดแต่งจีนเข้าไปใน Z chromosome ของเพียวไลน์ เพื่อใช้ตรวจสอบแยกเพศตั้งแต่ตัวอ่อนในไข่ฟักอายุได้ 1 วัน แล้วดึงไข่ไก่ที่มี genetic marker ZFP บน Z chromosome ออกมาก่อนที่จะนำไปเข้าตู้ฟัก ดังนั้น จึงมีเฉพาะลูกไก่เพศเมียเท่านั้นที่จะออกจากตู้ฟัก โดยไม่ต้องทำลายชีวิตตัวอ่อน หรือลูกไก่เพศผู้อีกตัวไป



วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

โรคหัวบวมระบาดในอเมริกาเหนือ

 ภายหลังการตรวจพบเชื้อไวรัสเอเวียน เมตานิวโมไวรัส หรือเอ-เอ็มพีวี สับไทป์ บี ในฟาร์มไก่งวงที่ออนตาริโอ ๒ แห่งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม โรคนี้ยังระบาดต่อไปในจังหวัดดังกล่าง โดยเฉพาะภายในทวีปอเมริกาเหนือ

ศูนย์เอฟบีซีซี (Feather Board Command Center, FBCC) ของออนตาริโอ มีหน้าที่กำกับดูแลปัญหาโรคสัตว์ปีก ร่วมกับคณะกรรมการสัตว์ปีก ประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคเอ-เอ็มพีวี ในจังหวัดค่อนข้างหนักมาก

โรคนี้รู้จักกันดีในชื่อว่า โรคท่อลมและจมูกอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสในไก่งวง (Turkey viral rhinotracheitis) และโรคหัวบวม (Swollen Head Syndrome) ในไก่ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคหลอดลมอักเสบ และโรคไข้หวัดนก อัตราการตายสูง การแพร่กระจายโดยตรงกับสัตว์ปีกที่เกิดการติดเชื้อ ผ่านพาหะของโรคจำพวกนกป่า หรือจากวัสดุหรืออุปกรณ์ที่เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค

ระบาดไปแล้วหลายครั้ง

               จนถึงวันที่ ๒๗ มิถุนายนที่ผ่านมา เอฟบีซีซี รายงานการพบโรคเอ-เอ็มพีวีใน ๑๒ เมืองแล้วในออนตาริโอ รวมถึง จังหวัดใกล้เคียงอย่างมานิโตบา สหรัฐฯ และเม็กซิโก ในสหรัฐฯ การเกิดโรคครั้งล่าสุดพบในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๖๖ พบในไก่งวง และไก่เนื้อในรัฐเวอร์จิเนีย นอร์ธแคโรไลนา เพนน์ซิลวาเนีย เซาต์แคโรไลนา และแคลิฟอร์เนีย ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังตรวจพบสับไทป์ ซี ในรัฐมินเนโซต้าอีกด้วย

การควบคุมโรค

               ยังไม่มีแผนการควบคุมโรค หรือแผนการรับมือกับโรคเอ-เอ็มพีวี ในเวลานี้ ศูนย์เอฟบีซีซี กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาล เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ และให้ความร่วมมือตามความจำเป็น ยังไม่มีวัคซีนที่จดทะเบียนอนุญาตให้ใช้ได้ในคานาดา หรือสหรัฐฯ แม้ว่า วัคซีนเชื้อตายสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินอนุญาตให้ใช้ได้โดยสำนักงานตรวจสอบอาหาร หรือเอฟไอเอ (Food Inspection Agency) เป็นกรณีไป

สายพันธุ์ใหม่ ความกังวลใหม่

               ในสหรัฐฯ นักวิจัยจากเครือข่ายห้องปฏิบัติการสัตว์ปีกแห่งจอร์เจีย และห้องปฏิบัติการวิจัยสัตว์ปีกตะวันออกเฉียงใต้ และหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขภาพพืชและสัตว์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เพิ่งเผยแพร่รายงานการวิจัยตรวจพันธุกรรมของสายพันธุ์เชื้อไวรัสเอ-เอ็มพีวีใหม่นี้

               รายงานการวิจัยนี้เป็นการค้นพบเชื้อไวรัสเอ-เอ็มพีวี สับไทป์-เอ และบี สายพันธุ์ล่าสุดในสหรัฐฯ และสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ภายหลังจากสหรัฐฯปลอดจากโรคเอ-เอ็มพีวีมาเป็นเวลานานจากมาตรการกำจัดโรคสับไทป์-ซีมาก่อนหน้านั้น ดังนั้น จำเป็นต้องหาชุดตรวจสอบระดับโมเลกุลสำหรับเชื้อไวรัสเอ-เอ็มพีวีนี้ เนื่องจาก ยังไม่มีจำหน่ายในสหรัฐฯเลย

               ผลการวิเคราะห์ไฟโลเจเนติกจากเชื้อไวรัสที่แยกได้ล่าสุด จัดกลุ่มได้ภายในสับไทป์-เอ ซึ่งมีความใกล้ชิดมากที่สุดกับสายพันธุ์ที่พบในเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์กรดอะมิโนโดยละเอียดยังพบการกลายพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์ในจีนชนิด จี ของตัวอย่างไวรัสจากสหรัฐฯเปรียบเทียบกับเม็กซิโก

               คณะนักวิจัยเปรียบเทียบผลการเลี้ยง ปฏิกิริยาข้าม และแอลโอดีของวิธีการทดสอบด้วย อาร์ที-คิว-พีซีอาร์ จากชุดทดสอบเชิงพาณิชย์ ๒ ชนิด พบว่า ให้ผลคล้างคลึงกัน และสามารถจำแนกสับไทป์ได้

เอกสารอ้างอิง

Hein T. 2024. Avian metapneumovirus spreads in North America. [Internet]. [Cited 2024 May 31]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/avian-metapneumovirus-spreads-in-north-america/

ภาพที่ ๑ การระบาดของเชื้อไวรัสเอ-เอ็มพีวีพบในไก่งวง และไก่เนื้อในรัฐเวอร์จิเนีย นอร์ธแคโรไลนา เพนน์ซิลวาเนีย เซาท์แคโรไลนา และแคลิฟอร์เนีย (แหล่งภาพ Hans Prinsen)



วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...