วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

๑๐๐ องศาฟาเรนไฮต์เป็นตัวเลขมหัศจรรย์ในโรงฟัก

 โรงฟักมีบทบาทสำคัญต่อคุณภาพลูกไก่แรกเกิด และผลผลิตของสัตว์ปีกในช่วงสัปดาห์แรก นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงิน ค้นพบปัจจัยที่น่าสนใจที่อาจส่งผลให้ไก่เนื้อรับมือกับโรคติดเชือ้ได้ เช่น โรคลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย และโคลัยบาซิลโลซิส นั่นคือ การรักษาอุณหภูมิที่ผิวเปลือกไข่ไว้ที่ ๑๐๐ องศาฟาเรนไฮต์ หรือ ๓๗.๗๘ องศาเซลเซียสตลอดระยะเวลาการบ่มไข่ฟัก  

            ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ กระตุ้นให้เกิดความสนใจในการค้นหาทางเลือกใหม่สำหรับการป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อ วิธีการหนึ่งคือ รีไซเลนซ์ (animal resilence) เป็นการส่งเสริมให้สัตว์สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น โรคติดเชื้อ และฟื้นฟูสุขภาพให้เกิดสูญเสียต่อการทำหน้าที่ของร่างกายน้อยที่สุด การรีไซเลนซ์สำหรับโรคติดเชื้อ สามารถประเมินได้ ๓ ส่วน ได้แก่ ความต้านทานต่อการติดเชื้อ ความทนทานระหว่างการติดเชื้อ และการฟื้นตัวจากการติดเชื้อ งานวิจัยด้านสุขภาพสัตว์ส่วนใหญ่เน้นเพียง ๑ ใน ๓ ส่วนนี้เท่านั้น ขณะที่ จำเป็นต้องรวมไว้ทั้งสามข้อเพื่อให้บรรลุข้อสรุปที่แท้จริงถึงปัจจัยที่ช่วยในการควบคุมโรคได้ งานวิจัยครั้งล่าสุดนี้จะครอบคลุมทุกส่วนที่ส่งผลกระทบต่อโรคทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ

               สิ่งแวดล้อมในช่วงแรกของชีวิตจะมีผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์ไปอีกยาวนาน ดังนั้น จึงสนับสนุนแนวความคิดเรื่อง รีไซเลนซ์ อย่างไรก็ตาม ผลของสิ่งแวดล้อมในช่วงแรกของชีวิตต่อโรคติดเชื้อในไก่เนื้อยังไม่ค่อยมีการศึกษากันมากนัก ข้อแรก อุณหภูมิสำหรับการฟักอาจส่งผลกระทบต่อ รีไซเลนซ์ในช่วงชีวิตถัดมา เนื่องจาก ผลกระทบต่อการพัฒนาตัวอ่อน คุณภาพลูกไก่แรกเกิด และการเจริญเติบโตในเวลาต่อมา อุณหภูมิที่เปลือกไข่อย่างสม่ำเสมอ (Constant eggshell temperature, EST) ระหว่างการฟักไข่ที่ ๑๐๐ องศาฟาเรนไฮต์เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยบางกลุ่มก็เห็นต่างกันว่า อุณหภูมิที่สูงกว่านี้ ๑๐๒ องศาฟาเรนไฮต์ (๓๘.๘๙ องศาเซลเซียส) ระหว่างช่วงกลางของการฟัก และต่ำลงที่ ๙๘ องศาฟาเรนไฮต์ (๓๖.๖๗ องศาเซลเซียส) ระหว่างช่วงท้ายของการฟักน่าจะเหมาะกับการพัฒนาตัวอ่อนและลูกไก่ ผู้วิจัยจึงเชื่อว่า รูปแบบของอุณหภูมิในระหว่างการฟักมีส่วนช่วยในกระบวนการรีไซเลนซ์ในไก่เนื้อได้เช่นเดียวกัน ข้อที่สอง การเคลื่อนที่เข้าหาอาหารและน้ำครั้งแรกภายหลังการฟัก มีอิทธิพลต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ของไก่เนื้อในช่วงชีวิตถัดมา ในทางปฏิบัติแล้ว ลูกไก่เนื้อเข้าถึงอาหาร และน้ำโดยตรงได้ภายหลังการฟัก เรียกว่า การให้อาหารเร็ว (early feeding) หรือเข้าหาอาหารและน้ำช้าออกไปจนกระทั่งลงลูกไก่ในฟาร์มเรียบร้อยแล้ว เรียกว่า การให้อาหารช้า (delayted feeding)  

               นักวิชาการทราบกันอยู่แล้วว่า กลยุทธ์การให้อาหารภายหลังการฟัก ส่งผลต่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน และการเจริญเติบโตจนถึงอายุจับ แต่ยังไม่ทราบถึงผลกระทบต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ต่อโรคติดเชื้อในไก่เนื้อ นอกจากนั้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิการฟัก และกลยุทธ์การให้อาหารภายหลังการฟักเป็นตัว ยังไม่เคยศึกษามาก่อนจนถึงปัจจุบัน นักวิจัยจึงตั้งสมมติฐานว่า รูปแบบของ EST ที่เหมาะสม ร่วมกับการให้อาหารเร็ว จะส่งผลต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ในการเลี้ยงไก่เนื้อได้

ภาพที่ ๑ การทดลองด้วยการปรับเปลี่ยนอุณหภูมิการฟักต้องใช้วิธีการควบคุมอุปกรณ์ที่แตกต่างจากปรกติ (แหล่งภาพ Brockotter)








 วิธีการวิจัย

การทดลองที่ ๑ ศึกษาผลของรูปแบบ EST ต่อคุณภาพลูกไก่แรกฟัก โดยเฉพาะ การพัฒนาอวัยวะในระบบภูมิคุ้มกัน การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในเวลาต่อมา และการเจริญเติบโต ผลการศึกษายังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆข้างต้น ผลการทดลองพบว่า EST ในช่วงท้ายต่ำลงก็ยิ่งทำให้การเจริญเติบโตจนถึงอายุจับต่ำลงด้วย เชื่อว่าเป็นผลมาจากช่วงเวลาการฟักที่ช้าออกไป และเวลาสำหรับการเจริญเติบโตน้อยลง สำหรับระบบภูมิคุ้มกัน กรณี EST ช่วงกลางสูงขึ้น หรือ EST ช่วงท้ายต่ำลง ช่วยให้เกิดความแตกต่างของรูปร่างต่อมเบอร์ซาในลูกไก่แรกเกิดอย่างชัดเจนเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม รวมถึง รูปแบบของเซลล์เม็ดเลือดขาว  นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราการตายที่สูงขึ้นในช่วงการเลี้ยงทั้งหมด พบว่า EST ในช่วงท้ายต่ำลงเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม บ่งชี้ว่า อุณหภูมิการฟักไข่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงไก่เนื้อ และระบบภูมิคุ้มกัน แต่ผลต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจาก ยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่าง EST ช่วงกลางที่สูงขึ้น และ EST ช่วงท้ายที่ต่ำลง ผลกระทบของ EST จึงนำมาทดสอบแยกจากกันในอีกสองการทดลองติดตามมา โดยรวมเอากลยุทธ์การให้อาหารภายหลังการฟักเป็นตัวลูกไก่รวมไว้ด้วย 

การทดลองที่ ๒ เป็นการศึกษาอุณหภูมิการฟักในช่วงท้ายที่ต่ำลง กลยุทธ์การให้อาหารภายหลังการฟักเป็นตัวลูกไก่ โดยมีทั้งให้อาหารเร็ว หรือช้าลง ๔๘ ชั่วโมง และความสัมพันธ์ของปัจจัยเหล่านี้ต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ต่อโรคลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย ตลอดช่วงอายุ ๔ สัปดาห์ โรคลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย เหนี่ยวนำโดยการป้อนเชื้อ บิด และเชื้อ คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ เก็บข้อมูลอัตราการตาย และน้ำหนักรายตัวเป็นรายวันเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ภายหลังการป้อนเชื้อ แล้ววัดจำนวนไข่บิด หรือโอพีจี และอัตราการป่วยที่อายุ ๒๘ และ ๒๙ วัน ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่าง EST และกลยุทธ์การให้อาหารภายหลังการฟักเป็นตัวลูกไก่ ต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ต่อโรค EST ช่วงท้ายที่ต่ำลง ลดกระบวนการรีไซเลนซ์ต่อโรคลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตายเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากความเสียหายที่สูงขึ้นต่ออัตราการเจริญเติบโต และค่าโอพีจีที่สูงขึ้น การให้อาหารเร็วมีแนวโน้มส่งเสริมกระบวนการรีไซเลนซ์ต่อโรคลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตายเปรียบเทียบกับการให้อาหารช้า จากอัตราการตายที่ต่ำลง การป่วยจากโรคประเมินจากรอยโรคที่ลำไส้ที่อายุ ๒๘ และ ๒๙ วัน ไม่ได้รับอิทธิพลจาก EST หรือกลยุทธ์การให้อาหารภายหลังการฟักเป็นตัวลูกไก่

               การทดลองที่ ๓ ศึกษาผลของอุณหภูมิการฟักไข่ช่วงกลางที่สูงขึ้น กลยุทธ์การให้อาหารภายหลังการฟักเป็นตัวลูกไก่ และความสัมพันธ์ของปัจจัยเหล่านี้ต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ต่อโรคโคลัยบาซิลโลซิสในไก่เนื้อ โรคโคลัยบาซิลโลซิสถูกเหนี่ยวนำที่อายุ ๘ วัน ชั่งน้ำหนักทุกวันเป็นเวลา ๑๓ วัน บันทึกอัตราการป่วย ๖ ครั้งหลังการให้เชื้อ และอัตราการตายทุกวัน ผลการทดลอง แสดงให้เห็นว่า EST ช่วงกลางที่สูงขึ้น ช่วยลดโอกาสในการรอดชีวิตจากโรคโคลัยบาซิลโลซิส นอกจากนั้น การให้อาหารเร็วจะช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อเฉพาะที่ การสูญเสียน้ำหนักตัวรายวันลดลง และอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้นจนกระทั่งจับ นอกจากนั้น ยังพบความสัมพันธ์ระหว่าง EST และกลยุทธ์การให้อาหารหลังฟัก เมื่อ EST ช่วงกลางสูงขึ้น การให้อาหารเร็วจะเพิ่มอุบัติการณ์ของโรคขึ้น แต่ไม่รุนแรง บ่งชี้จาก อัตราการพบเชื้อ อี.โคลัย ในเลือดของไก่เนื้อ และรอยโรคในตับและ/หรือเยื่อหุ้มหัวใจที่สูงขึ้น ในกลุ่มควบคุม การติดเชื้อตามระบบไม่ได้มีผลกระทบจากกลยุทธ์การให้อาหาร และความรุนแรงของรอยโรคเฉลี่ยโดยรวมต่ำลง สำหรับการให้อาหารเร็วเปรียบเทียบกับการให้อาหารช้า

              โดยสรุปแล้ว EST ช่วงกลางที่สูงขึ้นน่าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาตัวอ่อน และยังส่งผลทางลบต่อประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการให้อาหารเร็วที่มีต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ในไก่เนื้อ ซึ่งสามารถพบได้จากกลุ่มควบคุม EST นักวิจัยยังไม่พบความสัมพันธ์กับกลไกทางชีววิทยาที่ใช้อธิบายผลการทดลองนี้ อาจเป็นผลมาจากความเครียดที่เกิดขึ้น เมื่อระดับของฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนมีระดับสูงขึ้นในลูกไก่ที่ให้อาหารช้า ความเครียดมีผลกระทบทางลบต่อระบบภูมิคุ้มกันอ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบความแตกต่างของความเครียดในแต่ละกลุ่มการทดลอง ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เมตาโบลิซึมของสารอาหาร ภูมิคุ้มกัน ความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิ หรือบางสิ่งที่อาจแตกต่างกันไปบ้าง โดยสรุปแล้ว นักวิจัยยังไม่เข้าใจแน่ชัด และจำเป็นต้องมีงานวิจัยพื้นฐานสำหรับศึกษาเชิงลึกต่อไปว่า สภาวะในช่วงแรกเกิดของลูกไก่ส่งผลต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ในไก่เนื้อต่อการติดเชื้อโรคอย่างไรบ้าง  

ภาพที่ ๒ อุณหภูมิที่ผิวเปลือกไข่ถูกตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด ด้วยเซนเซอร์รายฟอง (แหล่งภาพ Brockotter)   






อุณหภูมิคงที่

               ทั้ง EST ช่วงกลางที่สูงขึ้น และ EST ช่วงท้ายที่ต่ำลง ส่งผลต่อการลดกระบวนการรีไซเลนซ์ต่อการติดเชื้อในไก่เนื้อเปรียบเทีบกับ EST ด้วยอุณหภูมิคงที่ ๑๐๐ องศาฟาเรนไฮต์ หรือ ๓๗.๗๘ องศาเซลเซียส สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสมมติฐาน รูปแบบ EST ข้างต้นอางส่งผลเสียต่อพัฒนาการตัวอ่อน นอกจากนั้น การพัฒนาตัวอ่อนที่ไม่ดีสามารถส่งผลกระทบทางลบต่อกลยุทธ์การให้อาหารภายหลังการฟักเป็นตัวที่มีต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ในไก่เนื้อได้

ภาพที่ ๓ ลูกไก่แรกเกิดทุกตัวถูกประเมิน และตรวจติดตามระหว่างการเลี้ยง (แหล่งภาพ Brockotter)









การจัดการ EST ที่ไม่เหมาะสม ร่วมกับการให้อาหารเร็ว อาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามระบบ ขณะที่ โดยทั่วไปแล้ว ไก่เนื้อที่ให้อาหารเร็วจะมีกระบวนการรีไซเลนซ์ต่อโรคติดเชื้อได้ดีกว่าไก่เนื้อที่ให้อาหารช้าไป ๔๘ ชั่วโมงอย่างชัดเจนมาก ความเบี่ยงเบนของอุณหภูมิที่เปลือกไข่เล็กน้อย ระหว่างการฟักราว ๒ องศาฟาเรนไฮต์ อาจส่งผลอย่างมากต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ต่อโรคในช่วงเวลาถัดมาของการเลี้ยงไก่ สิ่งที่สำคัญสำหรับการฟักไข่ แนะนำว่า การรักษาอุณหภูมิเป้าหมายที่ ๑๐๐ องศาฟาเรนไฮต์ หรือ ๓๗.๗๘ องศาเซลเซียสที่เปลือกไข่คงที่ไว้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเสร็จสิ้น เป็นสิ่งจำเป็นต่อความสำเร็จในการเลี้ยงไก่เนื้อ อุณหภูมิที่เปลือกไข่คงที่ ๑๐๐ องศาฟาเรนไฮต์ หรือ ๓๗.๗๘ องศาเซลเซียส จะสร้างผลลัพธ์ที่มหัศจรรย์ในกระบวนการฟักไข่    

ภาพที่ ๔  Dr Jan Wijnen กล่าวไว้ว่า การจัดการช่วงแรกของชีวิต จะส่งผลต่อกระบวนการรีไซเลนซ์ไปได้ตลอดชีวิต (แหล่งภาพ Brockotter)   









เอกสารอ้างอิง  

Brockotter F. 2023. 100°F is where the magic happens in the hatchery. [Internet]. [Cited 2023 Jan 9]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/layers/100f-is-where-the-magic-happens/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แมคโดนัลด์ทยอยเปิดร้านใหม่ในยูเครน

  นับตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป แมคโดนัลด์เริ่มเปลี่ยนไปใช้ไก่จากบริษัทเอ็มเอชพีสำหรับร้านจำหน่ายสินค้าในยูเครน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป...