วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ตรวจพบสารปนเปื้อนในไข่ไก่อินทรีย์เดนมาร์ก

 ไข่แดงอินทรีย์พบสารเคมีปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม และสารโพลีฟลูออโรอัลคิล (polyfluoroalkyl substances, PFAS)  ในเดนมาร์ก

            สารเคมีจากสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนครั้งนี้เชื่อว่ามาจากปลาป่นที่ผสมในอาหารสัตว์ สำหรับแม่ไก่อินทรีย์ การตรวจพบสารปนเปื้อนครั้งนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่า เด็กที่รับประทานไข่อินทรีย์อาจเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้

            สถาบันอาหารแห่งชาติเดนมาร์ก (Danish National Food Institute) ร่วมกับสำนักสุขภาพสัตว์ และอาหารแห่งเดนมาร์ก (Danish Veterinary and Food Administration) ตรวจพบสารปนเปื้อนระดับต่ำในไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ และขังกรง

สารตกค้างตลอดกาล (Forever chemicals)

            พีเอฟเอเอส เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสารตกค้างตลอดกาล เนื่องจาก ไม่เกิดการเสื่อมสภาพในสิ่งแวดล้อม และเมื่อกินเข้าไปต้องใช้เวลา ๓ ถึง ๗ ปีก่อนที่ความเข้มข้นของสารจะลดลงครึ่งหนึ่ง

            ศาตราจารย์ คิต แกนบี แห่งสถาบันอาหารดีทียู (DTU National Food Institute) อ้างว่า ภาคการผลิตอาหารสัตว์ในเดนมาร์ก สมัครใจที่จะหาวัตถุดิบชนิดอื่นๆทดแทนในอาหารอินทรีย์สำหรับแม่ไก่ไข่อินทรีย์ และประเด็นนี้ได้ถูกรายงานต่อสหภาพยุโรปแล้ว

            หน่วยงานปศุสัตว์ของรัฐจะวางแผนตรวจติดตามระดับชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมการปนเปื้อนของสารพีเอฟเอเอสในวัตถุดิบอาหารหลัก เพื่อรายงานความก้าวหน้าต่อสหภาพยุโรป เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคจากการได้รับสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร

การปนเปื้อนในปลาป่น

             สาเหตุสำหรับการปนเปื้อนในปลาป่น เชื่อว่า แหล่งอาหารที่มาจากมหาสมุทร และอาหารทะเล ได้รับผลกระทบจากมลภาวะในบรรยากาศที่เกิดการสะสมของสารพีเอฟเอเอส แล้วปนเปื้อนต่อไปยังปลาป่น

            สำนักความปลอดภัยอาหารยุโรป (European Food Safety Authority, EFSA) ได้กำหนดค่ามาตรฐานไว้เมื่อต้นปีนี้ ปริมาณสารเคมีชนิด พีเอฟเอเอส ทั้งหมด (ประกอบด้วย พีเอฟโอเอ พีเอฟเอ็นเอ พีเอฟเอชเอ็กซ์เอส และพีเอฟโอเอส) ที่ยอมรับได้ต่อสัปดาห์ ๔.๔ นาโนกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัมต่อสัปดาห์ กรณีเด็กรับประทานไข่ไก่ ๕ ถึง ๖ ฟองต่อสัปดาห์ จะได้ได้รับปริมาณ ๑๐ นาโนกรัมต่อกิโลกรัมต่อสัปดาห์ นอกจากนั้น พลเมืองในเดนมาร์กทั้งหมดมีโอกาสได้รับพีเอฟเอเอสจากแหล่งอาหารอื่นๆอีกมากมายทำให้การได้รับโดยรวมเพิ่มขึ้นอีก

            เด็กมีความเสี่ยงจากการได้รับสารพีเอฟเอเอสจากการบริโภคไข่ไก่มากกว่าสองเท่าของปริมาณที่ยอมรับได้อย่างปลอดภัย นับว่าเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก

            อย่างไรก็ตาม สารพีเอฟเอเอส ก็ไม่ใช่สารพิษที่จะทำให้ป่วยได้ในทันที แต่ต้องได้รับในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี จึงจะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน   

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2023. Environmental contaminant found in organic egg yolks in Denmark. [Internet]. [Cited 2023 Feb 1]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/layers/environmental-contaminant-found-in-organic-egg-yolks-in-denmark/

ภาพที่ ๑ ไข่แดงจากไข่ไก่อินทรีย์ในเดนมาร์กตรวจพบสารเคมีปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม (แหล่งภาพ Canva)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แมคโดนัลด์ทยอยเปิดร้านใหม่ในยูเครน

  นับตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป แมคโดนัลด์เริ่มเปลี่ยนไปใช้ไก่จากบริษัทเอ็มเอชพีสำหรับร้านจำหน่ายสินค้าในยูเครน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป...