วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566

แบคเทอริโอฝาจป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในอากาศ

 การใช้ยาปฏิชีวนะเคยเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือเอเอ็มอาร์ แบคทีเรียที่พบได้ทั่วไป แพร่กระจายไปตามมูลสัตว์ น้ำ หรืออาหาร ยังสามารถปนเปื้อนอยู่ในอากาศ แบคเทอริโอฝาจเป็นมาตรการควบคุมเชื้อแบคทีเรียในอากาศที่มีประสิทธิภาพดี 

               ความกังวงต่อปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสม แม้ว่าจะพยายามกำหนดมาตรการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มสัตว์ปีก แต่เชื้อดื้อยาก็เพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว แซงหน้าการพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่เข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม หนทางแก้ไขที่กำลังเป็นความหวัง ได้แก่ แบคเทอริโอฝาจ (ฝาจ) กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในการเป็นทางเลือกใหม่สำหรับป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ฝาจเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคสำหรับแบคทีเรีย ปรากฏทั่วไปในสิ่งแวดล้อม รวมถึง ไมโครไบโอตาของมนุษย์

โรคโคไลบาซิลโลซิส

               โรคโคไลบาซิลโลซิสในสัตว์ปีกมีความสำคัญมากในการผลิตสัตว์ปีก โดยเฉพาะ เชื้อ อี.โคไล ก่อโรคในสัตว์ปีก หรือเอเพค ทำให้ไก่ป่วยได้ทุกอายุ และทุกระบบการผลิต เชื้อเอเพคสามารถพบได้ในระบบทางเดินอาหารของไก่ และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเชื้อฉวยโอกาสเมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็จะไปเพิ่มจำนวนในเนื้อเยื่อและอวัยวะ โรคโคไลบาซิลโลซิสสามารถก่อโรคได้หลายทางทั้งการติดเชื้อในกระแสเลือด การอักเสบของถุงหุ้มหัวใจ โรคถุงลม การอักเสบของท่อนำไข่ และการอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง นอกจากนั้น โรคโคไลบาซิลโลซิสมีสาเหตุจากเชื้อ อี.โคไล ที่ได้รับจีนกำหนดความรุนแรงหลายชนิด และมีที่มาจากหลากหลายแหล่ง

               ยาปฏิชีวนะทางสัตว์แพทย์สามารถผ่านระบบทางเดินอาหารของสัตว์โดยไม่ผ่านการแปรรูป แล้วขับออกมาทางมูลสัตว์ ยาปฏิชีวนะเหล่านี้สามารถถ่ายทอดจากมูลสัตว์ออกสู่ดินและน้ำ ระหว่างนั้นก็มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียแล้วพัฒนาภาวะดื้อยาปฏิชีวนะขึ้นภายในเซลล์ได้

จีนดื้อยาจากสิ่งแวดล้อม

                  แม้ว่า อาหารสัตว์จะไม่มีแบคทีเรียมีชีวิต แต่ก็อาจปนเปื้อนด้วยดีเอ็นเอของแบคทีเรีย เช่น จากดิน ที่มีจีนดื้อยาอยู่ จีนเหล่านี้มีโอกาสถูกเก็บโดยแบคทีเรีย เช่น อี. โคไล ที่พบในลำไส้ของไก่ หรือในอากาศภายในฟาร์มสัตว์ปีก เมื่อแบคทีเรียรับเอาจีนดื้อยาเข้าไปแล้ว ก็สามารถแบ่งปันกับเพื่อนๆแบคทีเรียต่อไปได้อีก แถมด้วยเชื้อแบคทีเรียต่างสปีชีส์อีกมากมาย

การลดเอเพคในอากาศ

               บริษัท โปรตีออน ฟาร์มาซูติคัล พัฒนาผลิตภัณฑ์ บาฟาคอล ซึ่งเป็นแบคเทอริโอฝาจที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ อี.โคไล ก่อโรค หรือเอเพค ได้ แบคเทอริโอฝาจเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศทั่วโลก มีบทบาทช่วยควบคุมแบคทีเรีย ยิ่งไปกว่านั้น แบคเทอริโอฝาจยังไม่มีฤทธิ์ตกค้าง ไม่เป็นพิษ และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์นี้ออกฤทธิ์ควบคุมการตาย และได้ผลผลิตกลับมาเป็นปรกติ ช่วยรักษาไมโครไบโอมของสัตว์ปีก โดยเฉพาะ การเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการผลิต และผลการเลี้ยงโดยภาพรวม เหมาะสำหรับใช้ในสัตว์ปีกชนิดต่างๆ ไม่เพียงไก่อย่างเดียว ยังใช้ได้ดีในไก่งวง เป็ด นกพิราบอีกด้วย จากความร่วมมือกับสถาบันการผลิตสัตว์ในประเทศโปแลนด์ ในการศึกษาในสัตว์ แสดงให้เห็นถึง ประสิทธิภาพของบาฟาคอลในไก่เนื้อ

               การศึกษาคุณภาพอากาศในโรงเรือนสัตว์ปีก เน้นไปที่เอเพคที่ดื้อยาปฏิชีวนะ ไก่เนื้ออายุ ๑ วัน สุ่มแบ่งกลุ่มเป็น ๓ กลุ่มๆละ ๑๖๐ ตัว ได้แก่ กลุ่มควบคุมลบ กลุ่มที่ให้ยาปฏิชีวนะเป็นเอนโรฟลอกซาซิน ขนาด ๑๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเป็นเวลา ๖ วัน และกลุ่มทดลองใช้บาฟาคอลขนาด ๑ × ๑๐ พีเอฟยูต่อตัวทุกวัน การทดลองสิ้นสุดในวันที่ ๓๖ บาฟาคอล และยาปฏิชีวนะผสมใส่น้ำให้ไก่กิน โดยให้ทุกวันตลอดการเลี้ยง และเอนโรฟลอกซาซินให้เพียง ๖ วันที่อายุ ๘ ถึง ๑๓ วัน เก็บตัวอย่างอากาศก่อนและหลังการให้ยาปฏิชีวนะสำหรับตรวจหาเชื้อก่อโรคเอเพคในวันที่ ๖ และ ๒๒ แล้วประเมินเชื้อดื้อยา

               ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ในวันที่ ๒๒ ของการทดลองภายหลังการให้ยาปฏิชีวนะสังเกตพบเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เก็บในวันที่ ๖ นอกจากนั้น ในกลุ่มที่ให้ยาปฏิชีวนะเอนโรฟลอกซาซิน ระดับของเชื้อดื้อยาสูงที่สุดเทียบกับกลุ่มอื่นๆ สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคือ ระดับของเชื้อดื้อยาต่ำลงอย่างมากในกลุ่มที่ให้แบคเทอริโอฝาจเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมลบ

สรุปการทดลอง

               การให้บาฟอคอลไม่ทำให้ระดับการดื้อยาในไก่เนื้อเพิ่มขึ้นแตกต่างจากการให้ยาปฏิชีวนะด้วยเอนโรฟลอกซาซิน และยังช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ทำให้เกิดการกระจายจีนดื้อยาในสิ่งแวดล้อม แบคเทอริโอฝาจเป็นสารเติมอาหารสัตว์ชนิดใหม่ที่พัฒนาโดยบริษัท โปรตีออน ฟาร์มาซูคิคอล ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นในห่วงโซ่การผลิตอาหาร และช่วยให้สุขภาพสัตว์ดีขึ้นอีกด้วย     

เอกสารอ้างอิง

Proteon Pharmaceuticals. 2023. The role of bacteriophages in the prevention of airborne bacteria. [Internet]. [Cited 2023 Dec 13]. Available from: https://www.poultryworld.net/article/the-role-of-bacteriophages-in-the-prevention-of-airborne-bacteria/

ภาพที่ ๑ แบคเทอริโอฝาจป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในอากาศ  (แหล่งภาพ Shutterstock)




วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ไมโครฟลูอิด และระบบอัตโนมัติจะทรานส์ฟอร์มวัคซีนในโรงฟัก

 แพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีใหม่จะช่วยคัดเพศ และให้วัคซีนพร้อมกัน

แพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้เอไอ ร่วมกับกล้องจับภาพความเร็วสูง และไมโครฟลูอิด ช่วยเร่งความเร็วในการให้วัคซีนและการคัดเพศในโรงฟัก โดยบริษัททาร์แกน (Targan) ด้วยการนำเทคโนโลยีเอไอ เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก  แพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีใหม่ใช้เอไอในการเคลื่อนลูกไก่ไปตามสายพานขณะให้วัคซีน แล้วคัดเพศไปพร้อมกัน การให้วัคซีนดีขึ้น ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารดีกว่าเดิม ความสม่ำเสมอของฝูงในโรงเรือนก็ดี และลดแรงงานลงอีกด้วย

เทคโนโลยีนี้ใช้พารามิเตอร์ที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพื่อเก็บข้อมูล ขณะที่ ลูกไก่เข้าสู่กระบวนการมากขึ้น ก็จะทำงานอย่างรวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น

การคัดเพศลูกไก่แบบอัตโนมัติ

               ปัจจุบัน การคัดเพศลูกไก่ในโรงฟักเป็นกระบวนการที่ใช้แรงงานมาก อย่างไรก็ตาม ก็ได้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะ เอฟซีอาร์ เมื่อเลี้ยงไก่เพศผู้ และเพศเมียแยกจากกัน ประสิทธิภาพการแปรรูป และผลผลิตในโรงเชือดก็ดีขึ้น เนื่องจาก ความสม่ำเสมอดีกว่า และลดการบาดเจ็บ การตายจากการจิกตีกัน อย่างไรก็ตาม แลกมาด้วยค่าแรงงานที่มีความชำนาญอย่างมาก เทคโนโลยีอัตโนมัติจะช่วยจัดการปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปได้ การคัดเพศลูกไก่แบบอัตโนมัติผ่านกล้องบันทึกภาพความเร็วสูง และเอไอ ช่วยให้ผลผลิตดีขึ้นที่โรงฟัก  

เพิ่มประสิทธิภาพการให้วัคซีน

               ระบบการให้วัคซีนแบบอัตโนมัติสามารถช่วยให้ลูกไก่ได้รับวัคซีนบิด ไอบี และนิวคาสเซิลได้ในวันเดียวกันที่โรงฟัก ไก่จึงมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นต่อโรคต่างๆโดยไม่ต้องให้วัคซีน หรือยากันบิดอีกต่อไป แพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีใหม่นี้ช่วยในการหยอดตาวัคซีนเชื้อเป็นให้ลูกไก่ด้วยความเร็วสูงถึง ๑๐๐,๐๐๐ ตัวต่อชั่วโมง โดยมีความแม่นยำร้อยละ ๙๗

เอกสารอ้างอิง

Doughman E. 2023. Microfluidics, automation could transform hatchery vaccinations. [Internet]. [Cited 2023 Dec 8]. Available from: https://www.wattagnet.com/poultry-future/poultry-tech-summit-news/article/15659914/microfluidics-automation-could-transform-hatchery-vaccinations

ภาพที่ ๑ ไมโครฟลูอิด และระบบอัตโนมัติจะทรานส์ฟอร์มวัคซีนในโรงฟัก  (แหล่งภาพ kharhan | BigStock.com)



วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2566

อีโธมิเตอร์ ดวงตาพิเศษในโรงเรือนไก่เนื้อ

 รอยัล จีดี กำลังพัฒนาเครื่องมือ อีโธมีเตอร์ ระบบกล้องตาวิเศษที่ช่วยเตือนผู้เลี้ยงไก่เนื้อให้ทราบถึง พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในฝูงไก่ ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกจึงสามารถจัดการกับปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรค หรือสวัสดิภาพสัตว์ได้ก่อนจะเกิดขึ้นจริง ผลการใช้งานในขั้นต้นเป็นที่น่าพึงพอใจมาก  

               อีโธมีเตอร์ ตรวจจับภาพสัตว์แต่ละตัว แล้วเปลี่ยนเป็นไฟล์จีไอเอฟ สัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญ สามารถตรวจสอบกิจกรรมของไก่จาก ๔ หมื่นไฟล์ แล้ว สามารถจำแนกพฤติกรรม ๑๙ ชนิดได้ทั้งการกินน้ำ การคุ้ยเขี่ยพื้น จิกแกลบ ไซร้ขน อาบฝุ่น นั่งเงียบๆ และตีปีก การแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ถูกเรียกว่า อีโธแกรม ด้วยโปรแกรมการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักรก็จะติดเครื่องหมายจำแนกกลุ่มภาพถ่ายไว้ จึงเป็นการใช้อัลกอริธึมสำหรับประเมินพฤติกรรมไก่ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาขึ้นหลายอย่างทั้งบิ๊กดาต้า และเอไอ ดังนั้น จีดีจึงต้องการที่จะอาศัยเทคโนโลยีเหล่านี้ปรับมาใช้ในฟาร์มบ้าง โครงการนี้ริเริ่มด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการสัตว์ปีกดัทช์ เอวิเนด จากการทดลองด้วยกล้องถ่ายภาพในสถานที่เลี้ยงสัตว์ปีกของจีดีในดีเวนเตอร์ การวิจัยครั้งนี้ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย หลังจากนั้น จึงขยายโครงการต่อไปอีก ๒ โรงเรือนในฟาร์มไก่เนื้อ และมีแผนจะทดลองต่อในช่วงฤดูร้อนปีหน้านี้ในฟาร์ม ๕ แห่ง

               อีโธมิเตอร์ ไม่ได้จะเข้ามาแทนที่ผู้เลี้ยงไก่เนื้อที่คอยเดินตรวจความเรียบร้อยภายในโรงเรือน แต่จะเป็นดวงตาพิเศษที่ช่วยในการมองเห็นสิ่งผิดปรกติได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยการแสดงออกทางพฤติกรรมของไก่ การตรวจพบสิ่งผิดปรกติอย่างรวดเร็ว ช่วยให้ผู้เลี้ยงสามารถจัดการได้ก่อนเหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้น

สวัสดิภาพสัตว์

               หลักสวัสดิภาพสัตว์ด้วย ๕ อิสรภาพ คิดค้นขึ้นโดยคณะกรรมาธิการแบรมเบลล์แห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ล่วงมาแล้วเกือบเจ็ดสิบปี สัตว์ต้องปลอดจากความหิว กระหาย ไม่สบายกาย ความเจ็บปวด อาการบาดเจ็บ และโรค รวมถึง ความกลัว และความเครียด หลักแนวคิดดังกล่าวยังเป็นหลักการพื้นฐานของเบทเทอร์ไลฟ์ ให้จัดพื้นที่การเลี้ยงอย่างเพียงพอ ของเล่น และแสงธรรมชาติ

               แต่ในทางปฏิบัติแล้ว แสงธรรมชาติก็อาจสว่างมากจนเกินไป แล้วทำให้ไก่มีอาการเครียดจิกกัน การให้ของเล่นผ่อนคลาย เช่น ก้อนฟาง หินไว้จิกเล่น และถุงหญ้าอัลฟัลฟา ก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นประโยชน์ต่อสัตว์แล้วจริงๆหรือไม่ แม่ไก่ที่เสริมเมล็ดธัญพืช หรือหญ้าอัลฟัลฟา อาจเลือกกิน แล้วเกิดปัญหาระบบทางเดินอาหาร อีโธมิเตอร์สามารถช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้ 

พฤติกรรมธรรมชาติ

               แนวความคิดที่ว่าปศุสัตว์ควรสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ไม่ใช่ความคิดใหม่ ความจริงแล้วเป็นหนึ่งในอิสรภาพของคณะกรรมการแบรดเดลที่ค่อยเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และกลายเป็นหัวข้อสำคัญอีกครั้งในเนเธอร์แลนด์ ภายหลังจากรัฐบาลให้การยอมรับแก้ไขจากกลุ่มเพื่อสัตว์ โดยเอ็มพี ลีโอนี เวสเตอริง กำหนดให้ระบบการเลี้ยงปศุสัตว์ในเนเธอร์แลนด์ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของสัตว์ และจะถูกประมวลรวมเข้ากับกฏหมายว่าด้วยสัตว์

                  ประจวบเหมาะกับการพัฒนาอีโธมีเตอร์ อุปกรณ์ที่สามารถตรวจสอบการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ ผู้เลี้ยงไก่เนื้อสามารถรับประกันสินค้าของตัวเองได้ว่าจะสามารถจำหน่ายในราคาพรีเมียมจากการตรวจสวัสดิภาพสัตว์ได้อย่างใกล้ชิด แทนที่จะใช้วิธีการแบบเก่าที่ใช้เวลาตลอดทั้งวันเดินตรวจตราภายในโรงเรือน ด้วยอีโธมีเตอร์ ผู้เลี้ยงสามารถดูแลสัตว์ได้อย่างใกล้ชิดด้วยการใช้ระบบเอไอจัดการแบบอัตโนมัติ

แอพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นพิเศษสำหรับตรวจติดตามกิจกรรมของสัตว์ตามเวลาจริง แล้วทำเป็นแดชบอร์ดแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน สามารถนำมาเปรียบเทียบกันภายในฟาร์ม ภายในบริษัท และภายในประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ได้ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงแปลกๆ ก็จะส่งสัญญาณเตือนทางโทรศัทพ์ เช่น สัตว์จำนวนมากนั่งนิ่งอยู่เป็นเวลานานผิดปรกติ ผู้เลี้ยงไก่สามารถตั้งค่าความเบี่ยงเบนที่ให้ระบบส่งสัญญาณเตือนได้ เพื่อประมวลรายงานเข้าสู่ระบบให้กับผู้เลี้ยงไก่

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องบันทึกไก่แต่ละตัว แต่ไม่ได้ติดตามแยกจากกัน ระบบจะเก็บตัวอย่างจำนวนมาก แต่ละโรงเรือนติดตั้งกล้องเพียงตัวเดียวก็เพียงพอแล้ว สามารถบันทึกพฤติกรรมของสัตว์ได้หลายพันรูปแบบต่อชั่วโมง แต่ผู้พัฒนาระบบก็ยังยอมรับว่า หากมีสิ่งผิดปรกติที่มุมใดมุมหนึ่งของโรงเรือน ก็อาจพลาดได้ 

นักวิจัยพยายามทดลองใช้กล้องหลายๆตัวต่อฝูง อีโธมีเตอร์ไม่ได้บอกว่ามีอะไรเกิด อาจเกี่ยวข้องกับโรค หรือรู้สึกไม่ค่อยสบาย แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนับว่ามีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด ผู้เลี้ยงไก่เนื้อต้องตรวจสอบตัวเองว่า มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเป็นไปได้ควรปรึกษาสัตวแพทย์ นักวิชาการอาหารสัตว์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านฟาร์ม ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า การติดตั้งอีโธมีเตอร์จะราคาแพงเท่าใด อีโธมีเตอร์พัฒนาขึ้นมาครั้งแรกสำหรับไก่เนื้อ เพราะถูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัด และมีความสม่ำเสมอโดยธรรมชาติ แต่เชื่อว่า ก็ใช้ได้ผลสำหรับสัตว์ และโรงเรือนชนิดอื่นๆด้วย    

เอกสารอ้างอิง

van der Werff N. 2023. An extra pair of eyes in the broiler house. [Internet]. [Cited 2023 Nov 20]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/broilers/an-extra-pair-of-eyes-in-the-broiler-house/

ภาพที่ ๑ ระบบอีโธมิเตอร์สามารถจับภาพไก่แต่ละตัว แต่ไม่ได้ติดตามเป็นรายตัว ระบบแมชชีน เลิร์นนิ่ง อาศัยตัวอย่างจำนวนมาก (แหล่งภาพ Royal GD)



วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2566

หวัดนกเอช ๕ เอ็น ๑ ระบาดเร็วกว่าเดิม

 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบคุณลักษณะทางพันธุกรรมของโรคไข้หวัดนกที่ช่วยอธิบายถึงความสามารถของเชื้อไวรัสเอช ๕ เอ็น ๑ ระบาดได้เร็ว และติดเชื้อสิ่งมีชีวิตได้หลากหลายชนิดกว่าเดิมมาก

นักวิทยาศาสตร์พบว่า จีนของเชื้อไวรัสหลายตำแหน่ง กลายพันธุ์และวิวัฒนาการให้ร่วมกันปรับตัวให้เหมาะต่อการติดเชื้อ แพร่กระจาย และคงอยู่ในร่างกายสัตว์ปีก แต่ยังคงไม่สามารถติดเชื้อสู่มนุษย์ได้ คณะนักวิจัย ยังสังเกตพบว่า เชื้อไวรัสสามารถเคลื่อนที่ได้เพียงระยะทางสั้นๆไม่เกิน ๑๐ เมตร และยังไม่สามารถแพร่ข้ามระหว่างฟาร์มผ่านอากาศได้ ซึ่งเป็นผลการศึกษาของโครงการแปดสมาชิกฟลูแมป สำนักสุขภาพพืชและสัตว์สหราชอาณาจักร ด้วยการพัฒนาเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไก่ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในช่วงชีวิต และค้นพบว่า นกทะเลอย่างนกแกนเนต และแชก สามารถตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้หวัดนกได้

ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ภูมิคุ้มกันอย่างจำเพาะต่อเอช ๕ เอ็น ๑ บ่งชี้ถึงการได้รับเชื้อ และหายเป็นปรกติได้ อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสยังพยายามกลายพันธุ์ และระดับแอนติบอดีจะลดลงตามเวลา ลูกที่ออกมาในปีถัดไป ไม่สามารถรับประกันได้ว่ามีภูมิคุ้มกัน จึงยังไม่มีภูมิคุ้มกันในระดับประชากรที่เพียงพอ

นักวิจัยกลุ่มใหม่ศึกษาวิวัฒนาการของเชื้อไวรัส

               กลุ่มนักวิจัยชั้นนำพยายามศึกษาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ตั้งแต่วิวัฒนาการของเชื้อไวรัส และการพยากรณ์การปรากฏของสายพันธุ์ใหม่ และการป้องกันโรคทั้งสัตว์และมนุษย์ โดยหวังว่าจะค้นพบแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ และการพยากรณ์การปรากฏเชื้อไวรัสใหม่ที่มีการรวมกันของโปรตีนชนิดต่างๆในอนาคต นอกจากนั้น ยังพยายามศึกษาการแพร่กระจายระหว่างมนุษย์

 โดยมีศาสตราจารย์ เอียน บราวน์ ผู้อำนวยการ สำนักฯ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยนี้  

               งานวิจัยใหม่นี้จะช่วยให้การรับมือกับการวิวัฒนาการของโรคไข้หวัดนก และทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการแพร่กระจาย และการติดเชื้อในประชากรนกหลายๆชนิด รวมถึง การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากนกป่าไปยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก ช่องโหว่ของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่ปล่อยให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ฟาร์ฒ บทบาทของภูมิคุ้มกันในนกป่าในการวิวัฒนาของเชื้อไวรัส และสุดท้าย มาตรการใช้วัคซีนจะรับมือกับการระบาดของโรคได้อย่างไร

 เอกสารอ้างอิง

Peys R. 2023. Current H5N1 avian influenza viruses can spread faster and wider. [Internet]. [Cited 2023 Nov 27]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/health/current-h5n1-ai-viruses-can-spread-faster-and-wider/  

ภาพที่ ๑ การศึกษานำร่องพบภูมิคุ้มกันต่อเอช ๕ เอ็น ๑ บ่งชี้ถึง การได้รับเชื้อและหายจากโรคในประชากรนก (แหล่งภาพ Canva)



วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ข้อมูลคุณภาพซากเป็นภาพสะท้อนสูตรอาหารสัตว์

 คุณภาพซากจากลักษณะภายในและภายนอกเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพคุณภาพของเนื้อสัตว์ สุขภาพสัตว์ และสวัสดิภาพสัตว์ ข้อมูลคุณภาพซากที่ได้จากโรงเชือดจึงช่วยปรับรายละเอียดสูตรอาหารสัตว์ โดยเฉพาะ แร่ธาตุได้ 

ความสมดุลระหว่างการจัดการพันธุ์ไก่ที่มีผลผลิตสูง ขณะที่ ต้นทุนการผลิต และแรงงานยังสูงอีกด้วยเป็นประเด็นปัญหาทั่วทั้งห่วงโซ่การผลิตสัตว์ปีก บางครั้งก็กลับไปสร้างปัญหาคุณภาพซาก และการปลดทิ้งเพิ่มขึ้นอีกด้วย สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องป้องกัน และให้ความสำคัญ เนื่องจาก ปัญหาคุณภาพซากสัตว์ปีกสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อทั่วโลกนับหมื่นล้านบาท หมายความว่า สายพันธุ์ไก่โตเร็วต้องจัดการอย่างเหมาะสมระหว่างที่เลี้ยงอยู่ในฟาร์มทั้งด้านสุขภาพ สวัสดิภาพ และคุณภาพเนื้อ 

หากความหนาแน่นการเลี้ยงสูงเกินไป อาจส่งผลต่อการเกิดรอยขีดข่วนเพิ่มขึ้น และหากระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือการป้องกันโรคย่อหย่อนลงไป ซากสัตว์สามารถปนเปื้อนด้วยเชื้อก่อโรค เช่น อี.โคไล แคมไพโลแบคเตอร์ หรือ ซัลโมเนลลา ได้ แต่รอยโรคก็อาจมาจากเทคนิคการจับที่ไม่ดีเพียงพอ หรือเกิดการช้ำระหว่างกระบวนการแปรรูป

ยังไม่มีระบบการให้คะแนนที่มาตรฐาน

                กระบวนการตรวจสอบคุณภาพซากที่โรงเชือดไม่ได้ตรวจสอบรอยโรคอย่างละเอียดทั้งภายนอกและภายใน ทั้งที่เป็นคะแนนที่มีความสำคัญ ความจริงแล้ว สิ่งที่อยู่ในโรงเชือดทำเงินได้มากที่สุด ในเวลาเดียวกัน แต่ยังไม่มีใครให้ความสำคัญกับการให้คะแนนรอยโรคอย่างถูกต้อง และพยายามคิดว่า ทำไมจึงเกิดรอยโรค และเกิดขึ้นตั้งแต่ที่ไหนกันแน่ เพราะเมื่อทราบแล้ว เราก็จะสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้จากข้อมูลเชิงลึกของซากสัตว์ และต้นทุนที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ช่วยได้อย่างมากในการพัฒนากระบวนการผลิตทุกขั้นตอนจากมุมมองด้านเศรษฐกิจ และสวัสดิภาพสัตว์

               การจัดการดังกล่าวเปรียบเทียบได้กับงานนิติเวชที่ช่วยสืบหาปัญหาในกระบวนการผลิตและแปรรูป เมื่อนำข้อมูลรอยโรคทั้งภายในและภายนอก วิเคราะห์หาขั้นตอนที่เกิดรอยโรค และสาเหตุ จากนั้นกำหนดวิธีการควบคุมปัญหาต่อไป สิ่งที่สำคัญ ผู้ผลิตสัตว์ปีกต้องมีภาพที่สมบูรณ์ รอยโรคที่สังเกตเห็นจากภายในซากอาจจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากกว่ารอยโรคภายนอก เมื่อหยิบยกขึ้นมาพิจารณาร่วมกันก็จะสามารถควบคุมปัญหาได้จริงๆ

การวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน

               ข้อมูลคุณภาพซากเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันจากผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนในกระบวนการผลิตทั้งผู้จัดการคุณภาพ ผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการด้านการเงิน ผู้จัดการฟาร์ม นักวิชาการอาหารสัตว์ และสัตวแพทย์ เมื่อนำผลจากการวิเคราะห์พิจารณาร่วมกัน แล้วประเมินความสูญเสียทางการเงิน จากนั้นวางแผนการแก้ไขปรับปรุงในรอบถัดไปทั้งการจัดการในฟาร์มและอาหารสัตว์ปีก หลังจากที่เลี้ยงไก่รุ่นถัดมาแล้วก็อาจจัดให้มีการตรวจประเมินติดตามผล แล้วมองหาปัจจัยที่แตกต่างระหว่างกลุ่มที่อาจส่งผลกระทบด้วย เช่น เพศ ความหนาแน่นการเลี้ยง หรือการใช้สารเติมอาหารสัตว์บางชนิด การตรวจประเมินเป็นระยะจะเป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนาคุณภาพซากให้ดีขึ้นได้

การหาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพซากและอาหารสัตว์

               ความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และคุณภาพซาก จะช่วยให้นักวิชาการอาหารสัตว์ปรับปรุงผลผลิต เช่น การจัดการสุขภาพทางเดินอาหาร และฟื้นฟูสุขภาพกลับเป็นปรกติอย่างรวดเร็ว หรือรีไซเลนส์ มีความสัมพันธ์สูงกับคุณภาพซาก การจัดการอาหารสัตว์ช่วยให้สุขภาพทางเดินอาหาร และภูมิคุ้มกันดีขึ้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดรอยโรคที่ผิวหนัง และปัญหาขาพิการ สิ่งต่างๆเหล่านี้ ส่งผลทางบวกต่อความสามารถของไก่ในการต้านทานโรค และผลผลิต เพิ่มกำไร และช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัย ด้วยอาหารที่มีคุณภาพดี

               การใช้แร่ธาตุรองอย่างเหมาะสมต่อสุขภาพ สวัสดิภาพสัตว์ และคุณภาพเนื้อ ธาตุสังกะสี มีอิทธิพลต่อความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ควบคุมการอักเสบ และการสมานบาดแผลของผิวหนัง แร่ธาตุรองอื่นๆในอาหารไก่เนื้อ เช่น แมงกานีส ทองแดง โครเมียม และซีลีเนียม ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญด้านโภชนาการที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพเนื้อ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึงจะช่วยให้ตัดสินใจเติมซีลีเนียมในอาหารระยะสุดท้ายได้ สอดคล้องกับหลักการสูตรอาหารสัตว์แม่นยำ และคำแนะนำที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และปัญหาในฟาร์ม                

เอกสารอ้างอิง

Koeleman E. 2023. Poultry carcass data helps to fine-tune diets. [Internet]. [Cited 2023 Nov 22]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/processing/poultry-carcass-data-helps-to-fine-tune-diets/

ภาพที่ ๑ ไก่เนื้อโตเร็วต้องจัดการดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่ที่ฟาร์ม เพื่อให้มั่นใจต่อคุณภาพเนื้อในโรงงานแปรรูปการผลิต



วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

หวัดนกระบาดหนักในฮังการี

 เชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดนกสับไทป์ เอช ๕ เอ็น ๑ ยืนยันแล้วโดยหน่วยงานสัตวแพทย์ฮังการี

โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง ระบาดเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในประเทศฮังการีบริเวณฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ ขณะที่ อิตาลีก็มีรายงานครั้งแรกของฤดูกาล

ฮังการี เป็นประเทศล่าสุดของยุโรปที่มีรายงานการระบาดของโรคในฟาร์มสัตว์ปีก ภายในสัปดาห์เดียวเกิดการระบาด ๑๕ ครั้งจากสับไทป์เอช ๕ เอ็น ๑ จากรายงานของหน่วยงานสัตวแพทย์ฮังการีต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลก ฟาร์มส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใน ๗ จังหวัดทางตะวันออกของประเทศ

อิตาลี ขณะเดียวกัน อิตาลีเป็นประเทศแรกที่เกิดการระบาดในฤดูใบไม้ร่วงนี้ การปรากฏของเชื้อไวรัสซีโรไทป์เดียวกันนี้ได้รับการยืนยันที่ฟาร์ม ๓ แห่ง ทั้งหมดอยู่ในจังหวัดปาดัวในแถบเวเนโต้ ฟาร์มที่เกิดโรคเป็นไก่งวงเนื้อ นกกระทา และไก่เนื้อ ตามรายงานของอิสวี่

  โครเอเชีย และเยอรมัน นอกจากนั้น ยังมีรายงานการระบาดครั้งแรกไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลกจากประเทศโครเอเชีย และรัฐทางตอนเหนือของเยอรมัน ในโครเอเชียเป็นฟาร์มสัตว์ปีกไม่ระบุชนิดจำนวน ๑๙,๖๐๐ ตัว ขณะที่ เยอรมันเป็นไก่งวงเนื้อ ๒๔,๐๐๐ ตัว  

สหราชอาณาจักร เป็นไก่เลี้ยงเชิงพาณิชย์จำนวน ๑๔,๐๐๐ ตัวที่เกิดการระบาดครั้งล่าสุด ทางตะวันออกของประเทศ เมืองลินคอล์นเชียร์ตั้งแต่ต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยภาพรวมฟาร์มในยุโรประบาดผ่านไป ๔๐๐ ครั้งแล้ว จนถึงปัจจุบันก็ ๔๑๕ ครั้งใน ๒๒ ประเทศ อ้างอิงตามข้อมูลล่าสุดจากระบบข้อมูลโรคสัตว์จากคณะกรรมาธิการยุโรป หรืออีซี เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ผลการตรวจติดตามสถานการณ์โรคในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน  โดยภาพรวมแล้ว เกิดการระบาด ๒ ครั้งในตุรกี และอีก ๑ ครั้งในพื้นที่ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส และอีกสองแห่งที่ไม่ได้อยู่ในทวีปยุโรป ไม่รวมไว้ในระบบข้อมูลของสหราชอาณาจักร เมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดทั้งหมด ๒,๓๒๑ ครั้งในฟาร์มสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ใน ๒๔ ประเทศในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๖๕

นับตั้งแต่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเริ่มอัพเดตข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน รายแรกของปี พ.ศ.๒๕๖๖ เกิดขึ้นในโคโซโว หลังจากนั้นจึงระบาดต่อไปในฮังการี (๘ ครั้ง) อิตาลี (๓ ครั้ง) เนเธอร์แลนด์ (๒ ครั้ง) และอีกอย่างละครั้งในบัลกาเรีย และเดนมาร์ก  ประเทศที่เกิดการระบาดมากที่สุดในปี พ.ศ.๒๕๖๖ เป็นฝรั่งเศส ๑๕๒ ครั้งแล้ว ถัดมาเป็นฮังการี ๘๙ ครั้ง เยอรมันและเนเธอร์แลนด์เพิ่มพบรายใหม่ในนกขังกรง หากนับเฉพาะนกขังกรงรวมถึงสวนสัตว์ด้วย ๑๕ ประเทศในยุโรปพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง รวมแล้ว ๙๓ ครั้ง

เอกสารอ้างอิง

WATTPoultry. 2023. Avian flu hits Hungarian poultry farms. [Internet]. [Cited 2023 Nov 22]. Available from: https://www.wattagnet.com/poultry-meat/diseases-health/avian-influenza/article/15658848/avian-flu-hits-hungarian-poultry-farms

ภาพที่ ๑ โรคไข้หวัดนกระบาดหนักในฮังการี(แหล่งภาพ pepere24 | AdobeStock.com)



วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ควบคุมซัลโมฯในไก่ได้ก็ไม่ลดผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อ ซัลโมเนลลา ในสัตว์ปีก ไม่อาจลดลงได้หากปราศจากการจัดการโดยอาศัยพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์

เชื้อ ซัลโมเนลลา เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอาหารเป็นพิษในสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกมีสัดส่วนสูงที่สุดของการระบาดโรคอาหารเป็นพิษเปรียบเทียบกับสาเหตุอื่นๆ อ้างอิงตามข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคระบาดสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอย่างเดียวก็ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ทั้งหมดในความเห็นของ ดร.มินดี้ บราเชียรส์ มหาวิทยาลัยเท็กซัสเทค สาเหตุที่สัตว์ปีกยังเป็นแพะรับบาปเกิดจากวิธีการประเมินของศูนย์ควบคุมโรคระบาดสหรัฐฯ

สังเกตจากข้อมูลในเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมโรคระบาดสหรัฐฯ กระบวนการเก็บข้อมูลตามหมวดหมู่อาหารทั่วไปที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ เช่น ซัลโมเนลลา วิธีการรวบรวมข้อมูลมาจากการจัดเก็บทางอิเล็กโทรนิกส์จากแต่ละหน่วยงานรัฐตามท้องถิ่น  ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถิติข้อมูลผู้ป่วยจากสัตว์ปีกก็ลดลงตามลำดับ ก่อนหน้านี้ ดร.บราเชียรส์ เคยทำงานที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ บางครั้งเกิดการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อ ซัลโมเนลลา ในสัตว์ปีก มีผู้ป่วยหลายร้อยคน แต่มีเพียง ๕ ตัวอย่าง หรือผู้ป่วย ๕ รายเท่านั้นที่สามารถยืนยันโรคได้

หากผู้ป่วยถูกตรวจเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่โรงพยาบาล ก็มักคิดไปเองทันทีว่า ตัวเองกินเนื้อไก่ไปครั้งสุดท้ายเมื่อไรจนเกิดอาการป่วยขึ้นมา ข้อมูลต่างๆจึงไม่ได้ประเมินถึงการปนเปื้อนข้ามจากสาเหตุอื่นๆ ไม่ได้พูดถึงเนื้อสุกร ผลไม้ หรือผักกันเลย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คำว่า ไก่และซัลโมฯ กลายเป็นสิ่งเดียวกัน จึงเป็นข้อมูลที่มีอคติ การสร้างความสัมพันธ์ทางตรงกับไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาจริงๆจึงเป็นไปได้ยากมาก

อุตสาหกรรมสัตว์ปีกโฟกัสไปที่เชื้อ ซัลโมเนลลา กันทุกซีโรไทป์ ไม่ใช่แค่ซีโรไทป์ที่ก่อโรคมากที่สุดเท่านั้น การลดอุบัติการณ์เชื้อที่ไม่ก่อโรคอาจสร้างระยะห่างเพิ่มขึ้นกับเชื้อก่อโรค และยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีก

นอกเหนือจากนั้น ระบบการตรวจสอบและความปลอดภัยอาหาร หรือเอฟซิส กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เก็บข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการปนเปื้อนเชื้อ ซัลโมเนลลา ในผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกที่ลดลง การนำของเอฟซิสเชื่อว่า การจัดการเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่ใช้ในปัจจุบันไม่สามารถลดผู้ป่วยจากการติดเชื้อ ซัลโมเนลลา ได้

ดร. บราเชียรส์ แสดงความเห็นถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างแนวความคิดของเอฟซิสที่ว่า การลดเชื้อ ซัลโมเนลลา ในสัตว์ปีกจะไม่ส่งผลต่อการลดผู้ป่วย แต่ใช้มาตรการนี้เพื่อลดเชื้อ ซัลโมเนลลา ในสัตว์ปีก หากเอาผู้ป่วยทั้งหมดจากเชื้อ ซัลโมเนลลา ในสัตว์ปีกออกไป ก็ยังไม่สามารถลดอุบัติการณ์ลงได้ถึงร้อยละ ๒๕ ผู้ผลิตสัตว์ปีกควรมุ่งมั่นควบคุมเชื้อซีโรไทป์ก่อโรคที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เชื้อ ซัลโมเนลลา ทั้งหมด ดร.บราเชียร์ เพิ่มเติมว่า เอฟซิส ไม่ใช่หน่วยงานวิจัย และมีเป้าหมายเพียงบังคับใช้นโยบายรัฐเท่านั้น ดังนั้น ผู้ผลิตสัตว์ปีกจึงได้รับข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่รวดเร็วกว่าเอฟซิส ผู้ผลิตสัตว์ปีกควรเป็นผู้นำทางในการควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา มากกว่า    

เอกสารอ้างอิง

Dawson M. 2023. Current Salmonella approach may not reduce foodborne illness. [Internet]. [Cited 2023 Nov 15]. Available from: https://www.wattagnet.com/broilers-turkeys/food-safety/article/15638754/current-salmonella-approach-may-not-reduce-foodborne-illness

ภาพที่ ๑ โรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อ ซัลโมเนลลา ในสัตว์ปีก ไม่อาจลดลงได้หากปราศจากการจัดการโดยอาศัยพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (แหล่งภาพ nd3000 | BigStock.com)



วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

บีเทอีนทดแทนเมธัยโอนีนในอาหารไก่เนื้อ

 บีเทอีนสามารถช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้ จากงานทดลองที่ศูนย์วิจัยสัตว์ปีกของเทราว์ นิวทริชัน ในสเปน แสดงให้เห็นว่า เซลโค ทีเอ็นไอบีเทนอีน ๙๖ ในอาหารสัตว์ปีกช่วยลดการใช้เมธัยโอนีน และซีสเทอีนลงได้ร้อยละ ๑๔ โดยการผลิตไก่เนื้อเป็นไปตามปรกติ

กลยุทธ์สูตรอาหารแม่นยำสำหรับไก่เนื้อต่อผลผลิต และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สารเติมอาหารสัตว์ชนิดบีเทอีนเป็นตัวอย่างที่ดีที่ช่วยสนับสนุนไก่เนื้อภายใต้สภาวะเครียด และลดต้นทุนการผลิตของฟาร์มได้ การใช้เครื่องมือทางโภชนาการสัตว์เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของสภาวะอากาศร้อน บีเทอีนเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ส่งผลเชิงบวกต่อกระบวนการเมธิเลชัน และช่วยทดแทนตัวให้กลุ่มเมธิลที่มีต้นทุนสูง เช่น โคลีน คลอไรด์ ได้ ขณะที่ ต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นกดดันผู้ผลิตสัตว์ปีกอย่างมาก การเพิ่มกลยุทธ์บางอย่าง เพื่อจัดการปัญหาการผลิตไก่เนื้ออาจส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีโอกาสที่ดีที่จะใช้สารเติมอาหารสัตว์บางชนิด ช่วยจัดการต้นทุนการผลิต และยังช่วยให้การเลี้ยงไก่เนื้อภายใต้สภาวะความเครียดได้ดีขึ้น เป็นการเพิ่มเติมคุณค่าของอาหารสัตว์มากขึ้นไปอีก สารเติมอาหารสัตว์บางชนิด สามารถทำหน้าที่ร่วมกับสารอาหารบางชนิดจนส่งผลให้สัตว์ได้รับสารอาหารเกินความจำเป็นต่อการทำหน้าที่หลักของมัน การทำความเข้าใจสูตรอาหารสัตว์ที่ดีขึ้นอาจจะทำให้มองเห็นโอกาสที่จะลดการให้สารอาหารบางชนิดที่มีราคาแพงในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นของร่างกายสัตว์ โดยสัตว์ยังคงได้รับสารอาหารตามความต้องการ และลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้อีกด้วย กลยุทธ์บางอย่างอาจช่วยให้การออกแบบสูตรอาหารสัตว์ สามารถแทนที่สารเติมอาหารสัตว์ที่ราคาแพง เช่น โคลีนคลอไรด์ และเมธัยโอนีนได้ เป็นที่ทราบกันดีว่า บีเทอีนสามารถใช้ทดแทนโคลีนคลอไรด์ได้ในสูตรอาหารสัตว์ปีกส่วนใหญ่ เมื่อใช้ค่าแมทริกซ์ด้วย

บทบาทของเมธัยโอนีน

               หนึ่งในกรดอะมิโนที่มีความจำเป็นและสำคัญที่สุดใช้ในการสังเคราะห์โปรตีน ในรูปผลึกจะเป็น ดีแอล-เมธัยโอนีน นอกจากนั้น เมธัยโอนีนยังให้ซีสเทอีน และหมู่เมธิล ที่มีความสำคัญต่อการลดความเครียดจากสภาพอากาศร้อน บีเทอีนในอาหารสัตว์ก็สามารถให้หมู่เมธิลได้ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสนับสนุนที่จะช่วยทดแทนเมธัยโอนีนที่มีราคาแพงได้

ค่าเมทริกซ์ในสัตว์

               ความรู้ทางทฤษฏีเกี่ยวกับการแทนที่เมธัยโอนีนอาจจะประเมินไว้สูงเกินไปเปรียบเทียบกับผลการใช้ในตัวสัตว์จริง การทดลองประเมินค่าเมทริกซ์ในตัวสัตว์ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ เซลโก ทีเอ็นไอบีเทอีน ๙๖ สามารถใช้ได้โดยไม่มีผลกระทบต่อลูกไก่ การทดลองที่ศูนย์วิจัยสัตว์ปีกของเทราว์ นิวทริชัน พบว่า บีเทอีนสามารถใช้แทนเมธัยโอนีนได้ร้อยละ ๑๔ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ไม่แตกต่างจากสูตรอาหารสัตว์ที่ใส่เมธัยโอนีนไปตามปรกติ การทดลองนี้เลี้ยงไก่เป็นเวลา ๓๕ วัน ภายใต้สภาวะอุณหภูมิปรกติ ใช้สูตรอาหารสัตว์ที่ประกอบด้วย ข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลือง เติมโคลีนคลอไรด์ ๓๐๐ พีพีเอ็ม  

เอกสารอ้างอิง

van Beers S. 2023. Replace 14% of broilers’ dietary methionine with crystallised betaine. [Internet]. [Cited 2023 Nov 10]. Available from: https://www.poultryworld.net/health-nutrition/nutrition/replace-14-of-broilers-dietary-methionine-with-crystallised-betaine/

ภาพที่ ๑ การศึกษาค่าเมทริกซ์ของวัตถุดิบในสูตรอาหารสัตว์ปีก สามารถช่วยเปิดประตูโอกาสของผู้ผลิตสัตว์ปีกลดการให้วัตถุดิบที่มีราคาแพง โดยที่สัตว์ยังได้รับสารอาหารครบถ้วน และลดต้นทุนอาหารสัตว์ลง (แหล่งภาพ Trouw Nutrition)



วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

พญาไก่ยักษ์บราซิลผงาด

ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกบราซิลกำลังนิยมเลี้ยงพ่อไก่ยักษ์ร่างสูง ๑.๒ เมตร สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ

เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว รูเบนซ์ บราส เริ่มต้นเลี้ยงสัตว์ปีก ยังจินตนาการไม่ออกเลยว่า การตัดสินใจเปิดบริษัท ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกพญายักษ์ ครั้งนี้จะใหญ่ได้ทั้งผลตอบแทน และขนาดของไก่ที่เลี้ยง ผู้ผลิตพันธุ์ไก่สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงถึง ๑.๕ แสนบาท มูลค่าเป็นพันเท่าของต้นทุนการขายไก่ตามปรกติ

 พันธุ์ยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก

 พันธุ์ไจแอนท์ อินเดียน พัฒนาขึ้นจากไก่พื้นเมืองในบราซิล เป็นหนึ่งในพันธุ์ไก่ที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะ ความสูง โดยการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างพันธุ์ไก่เลี้ยงปล่อยอิสระ กับพันธุ์ไก่ชน สามารถให้ผลผลิตเนื้อและไข่ที่ดีเยี่ยม

สายพันธุ์นี้มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม และสำหรับการผสมข้ามกับสายพันธุ์อื่นๆ เพื่อให้สายพันธุ์ดีขึ้น ตัวผู้สูงได้ถึง ๑.๒ เมตร และตัวเมีย ๑ เมตร สายพันธุ์ไก่ยักษ์อินเดียนกำลังรอให้มีการรับรองเป็นสายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการ กำลังเป็นที่สนใจของผู้ผลิตสัตว์ปีกบราซิล ในระยะแรกเป็นเพียงงานอดิเรก ต่อมาสายพันธุ์อื่นๆก็หันมาสนใจ และวันนี้กลายเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรได้

นิชมาร์เก็ต

               ไก่ยักษ์อินเดียนนิยมเลี้ยงเป็นงานอดิเรก และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้จากการจำหน่ายทั่วประเทศบราซิล ราคาไข่ตอนนี้ราคาสองพันกว่าบาท ถ้าเลี้ยงต่อเป็นไก่อายุสัก ๖ เดือนก็จะขายได้ราคาสูงขึ้นราวสองพันเจ็ดร้อยบาท ขณะนี้ ชาวบราซิลก็รอการรับรองให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ก็จะยิ่งกระตุ้นผู้เลี้ยงชาวบราซิลให้หันมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นอีก

               บริษัท อะวิคัลจูรา ไจแกนเต้ ยังคงเป็นผู้เล่นในตลาดนิชมาร์เก็ตในบราซิล แต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ไข้หวัดนก ทำให้การเคลื่อนย้ายไก่มีชีวิตยากลำบากในบราซิล จึงหันมาส่งเป็นไข่เชื้อไปยังผู้ผลิตใกล้เคียง ฟาร์มของบริษัทมีไก่ราว ๓๐๐ ตัว รวมเพศผู้และเมีย ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่

เอกสารอ้างอิง

Azevedo D. 2023. Brazilian farmer makes big gains from giant roosters. [Internet]. [Cited 2023 Nov 8]. Available from: https://www.poultryworld.net/poultry/genetics/brazilian-farmer-makes-big-gains-from-giant-roosters/

ภาพที่ ๑ ไก่ยักษ์อินเดียนตัวผู้สูงถึง ๑.๒ เมตร และสามารถขายได้ราวหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท (แหล่งภาพ Avicultura Gigante)




วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ขนไก่ผลิตพลังงานสะอาด

 ขนไก่สามารถใช้ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ โดยนำไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้

               ปัจจุบัน ขนไก่เกือบ ๔๐ ล้านตันต่อปีถูกผลิตขึ้นในโลก ถูกนำไปเผา หรือฝังรวมกับของเสียอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการย่อยสลายตามธรรมชาติด้วยเชื้อจุลชีพในดิน

               วิธีการนี้ใช้พลังงานอย่างมาก และนำไปสู่ความสูญเสียโปรตีนชนิดเคอราตินที่มีค่า และเป็นส่วนประกอบของขนไก่สูงถึงร้อยละ ๙๐ ขณะนี้ นักวิจัยค้นพบวิธีการใช้ประโยชน์ขนไก่ในการผลิตเป็นเซลล์พลังงานที่มีต้นทุนต่ำ และยั่งยืน โดยการใช้กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และง่าย นักวิจัยสกัดเคอราติน แล้วเปลี่ยนเป็นเส้นใยละเอียดยิ่งยวดที่เรียกว่า อะมัยลอยด์ ไฟบริล สามารถใช้เป็นเยื่อบุผนังเซลล์สร้างพลังาน

พลังงานไฟฟ้าปราศจากคาร์บอนไดออกไซด์

               เซลล์ผลิตเชื้อเพลิงที่สร้างกระแสไฟฟ้าโดยปราศจากการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้จากไฮโดรเจน และออกซิเจน ปล่อยออกมาเพียงความร้อนและน้ำ นักวิจัยที่อีทีเอช ซูริก และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง เชื่อว่า จะมีบาทสำคัญต่อการผลิตพลังงานอย่างยั่งยืนในอนาคต

               เซลล์ผลิตพลังงานทั่วไป เยื่อเมมเบรนยังนิยมใช้สารเคมีที่เป็นพิษสูง ราคาแพง และไม่สลายตัวตามธรรมชาติ แต่เยื่อเมมเบรนที่พัฒนาขึ้นใหม่ ประกอบด้วย เคอราตินตามธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหาได้ง่ายในปริมาณมาก ราคายังถูกกว่าเดิมถึงสามเท่า

               ศาสตราจารย์ ราฟาเอล เมสเซนกา จากอีทีเอช ซูริก เชื่อว่า ผลงานวิจัยล่าสุดนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้เป็นการทดแทนสารพิษ และการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม เป็นการลดวงจรคาร์บอนฟุตพรินต์ไปได้ด้วย

การใช้ไฮโดรเจน

               สิ่งท้าทายที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ ก่อนที่จะใช้เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่มีมากที่สุดในจักรวาล แต่โชคร้ายไม่ได้มีปริมาณมากบนโลก และไม่บริสุทธิ์ จำเป็นต้องผลิตขึ้นมา ด้วยการใช้เยื่อเมมเบรนใหม่นี้จะเป็นทางออกที่ดีในอนาคต เยื่อเมมเบรนชนิดใหม่นี้ โปรตอนสามารถผ่านเข้าออกได้ จึงทำให้อนุภาคสามารถเคลื่อนที่ได้ระหว่างแอนโนดและคาโทด เพื่อให้น้ำแตกตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะเป็นน้ำบริสุทธิ์ ต่อไปก็จะศึกษาความคงตัว และทนทานของเยื่อเมมเบรนชนิดเคอราติน ผลงานวิจัยจะเป็นสิทธิบัตรร่วมกัน และคณะผู้วิจัยกำลังมองหานักลงทุน หรือบริษัทที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อไปให้ไปสู่ตลาดได้    

เอกสารอ้างอิง

Mcdougal T. 2023 Examining the value of chicken feathers for clean energy. [Internet]. [Cited 2023 Nov 6]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/examining-the-value-of-chicken-feathers-for-clean-energy/

ภาพที่ ๑ ปัจจุบัน ขนไก่เกือบ ๔๐ ล้านตันผลิตออกมาทุกปีทั่วโลก ถูกเผาหรือฝังโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ (แหล่งภาพ Canva)



วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

มหัศจรรย์ห้าสิบปีในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกทั่วโลก

 การผลิตเนื้อสัตว์ปีกเติบโตอย่างมากในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับการพัฒนาด้านเกษตรกรม ดร.ฮานส์ วิลเฮล์ม วินด์ฮอร์สต์ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกโลก

ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ ห้าสิบปีที่ผ่านมา การผลิตเนื้อสัตว์ปีกเพิ่มขึ้นจาก ๑๕.๑ ล้านตันเป็น ๑๓๗ ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ ๘๐๗.๘  เนื้อสัตว์ปีกจึงเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ปริมาณการผลิตเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๓ ถึง ๒๕๖๓ เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า ๖๘ ล้านตัน

การวิเคราะห์รายละเอียดการพัฒนาระดับทวีป เปิดเผยให้เห็นถึงบทบาทที่โดดเด่นของเอเชีย ดังแสดงในตารางที่ ๑ และภาพที่ ๑ การเติบโตโดยรวมคิดเป็น ๑๒๑.๙ ล้านตันภายในเวลาหนึ่งทศวรรษเป็นผลจากทวีปเอเชีย ร้อยละ ๔๑.๖ ติดตามด้วยทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ร้อยละ ๑๖.๘ ทวีปอเมริกาเหนือร้อยละ ๑๖ และทวีปยุโรปร้อยละ ๑๔ โดยทวีปแอฟริกาและโอเชียเนียตามหลังไปไกลมาก การเติบโตสัมพัทธ์ที่สูงที่สุดเกิดขึ้นในทวีปอเมริกากลางและใต้ กับเอเชีย แม้กระทั่งในแอฟริกาก็ยังสูงกว่าทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ

ตารางที่ ๑ การพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์ปีกที่ระดับทวีประหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ ข้อมูลแสดงเป็นหน่วย ๑,๐๐๐ ตัน

ทวีป/ปี

2513

2523

2533

2543

2553

2563

เพิ่มขึ้น

ร้อยละ

แอฟริกา

598

1,056

1,969

2,962

4,782

7,329

6,731

1,125

เอเชีย

2,702

5,216

10,037

22,907

34,814

53,401

50,699

1,876

ยุโรป

5,315

9,115

11,758

11,859

16,227

22,380

17,065

321

อเมริกาเหนือ

5,092

7,014

11,492

17,640

20,801

24,642

19,547

384

อเมริกากลาง/ใต้

1,250

3,920

5,258

12,522

21,549

27,740

26,495

2,128

โอเชียเนีย

142

353

403

767

1,144

1,537

1,395

982.4

ทั่วโลก

15,095

25,946

40,997

68,656

99,317

137,029

121,934

807.8

ภาพที่ ๑ การผลิตเนื้อสัตว์ปีกในทวีปต่างๆ ปี พ.ศ.๒๕๔๓ ถึง ๒๕๖๓ (Kauer สร้างจากข้อมูลเอฟเอโอ)   

ยุโรปก่อนศตวรรษที่สิบเก้า

จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๓๓ ยุโรปผลิตเนื้อสัตว์ปีกมากกว่าเอเชีย หลังจากนั้น ประเทศเอเชียหลายแห่งก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ อเมริกาก็แซงยุโรป ความเปลี่ยนแปลงในแต่ละทวีปส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตทั่วโลก หลายสิบปีต่อมา ทวีปเอเชียเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๑ ขณะที่ ทวีปอเมริกากลางและใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒ ในทางตรงกันข้าม ยุโรปลดลงเกือบร้อยละ ๑๙ และอเมริกาเหนือมากกว่าร้อยละ ๑๕ ดังแสดงในภาพที่ ๒

ภาพที่ ๒ การเปลี่ยนแปลงการผลิตเนื้อสัตว์ปีกของแต่ละทวีป ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๓ ถึง ๒๕๖๓ (A.S. Kauer สร้างจากข้อมูลเอฟเอโอ)  

เมื่อลึกเข้าไปถึงการเติบโตของการผลิตเนื้อสัตว์ปีกตามชนิดสัตว์เห็นได้ชัดว่า การผลิตเนื้อไก่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นดังแสดงในตารางที่ ๒ โดยรวมการเติบโตของปริมาณการผลิตเนื้อไก่เป็น ๑๐๘.๓ ล้านตัน หรือร้อยละ ๘๘.๑ การเติบโตสัมพัทธ์ที่สูงที่สุดเป็นเนื้อห่านและเป็ด จะเห็นได้ว่า เนื้อไก่มีส่วนแบ่งร้อยละ ๘๕.๕ และ ๘๘.๒ ในการผลิตทั่วโลก ขณะที่ เนื้อเป็ดและเนื้อห่านสามารถขยายส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นได้ เนื้อไก่งวงยังมีความแปรปรวนอยู่ 

ตารางที่ ๒ ส่วนแบ่งของเนื้อสัตว์ปีกตามชนิดสัตว์ในการผลิตเนื้อสัตว์ปีกทั่วโลก พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓

ทวีป/ปี

2513

2523

2533

2543

2553

2563

เพิ่มขึ้น

ร้อยละ

เนื้อไก่

13,140

22,896

35,416

58,698

87,270

120,461

107,321

816.8

เป็ด

501

713

1,239

2,872

4,046

6,160

5,659

1,129.5

ห่าน

226

282

608

1,903

2,499

4,359

4,138

1,828.8

ไก่งวง

1,219

2,047

3,718

5,141

5,527

6,029

4,801

394.6

อื่นๆ

9

8

16

42

25

20

11

122.2

ทั้งหมด

15,095

25,946

40,997

68,656

99,317

137,029

121,934

807.8

ภาพที่ ๓ สัดส่วนของเนื้อสัตว์ปีกในการผลิตสัตว์ปีกทั่วโลกระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ ข้อมูลแสดงเป็นร้อยละ (A.S. Kauer สร้างจากข้อมูลเอฟเอโอ)  

ความแตกต่างระหว่างทวีป

               ในลำดับถัดไป การผลิตเนื้อไก่และไก่งวงในระดับทวีปในหลายทศวรรษที่ผ่านมา วิเคราะห์แยกจากกัน

ภาพที่ ๔ การเติบโตของการผลิตเนื้อไก่ทั่วโลก โดยจำแนกเป็นทวีป ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ (A.S. Kauer สร้างจากข้อมูลเอฟเอโอ) 

ดังที่คาดไว้ ชนิดของเนื้อที่โดดเด่นก็คล้ายคลึงกัน เนื่องจาก บทบาทที่โดดเด่นเป็นประเทศแถบเอเชียเป็นผู้เล่นสำคัญในการผลิตเนื้อเป็ด และห่าน แต่ก็ยังต่ำกว่าภาพรวม จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ. ๒๖๓๓ ทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือก็ผลิตเนื้อไก่มากกว่าเอเชีย และในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ทวีปเอเชียก็ตามได้ทัน 

ภาพที่ ๕ การเปลี่ยนแปลงของารผลิตเนื้อไก่ทั่วโลกแยกตามทวีป ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ (A.S. Kauer สร้างจากข้อมูลเอฟเอโอ)

อ้างอิงตามภาพที่ ๕ เมื่อเปรียบเทียบกับภาพที่ ๒ แสดงให้เห็นว่า ส่วนแบ่งของทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรปคล้ายคลึงกัน ขณะที่ ทวีปเอเชียต่ำลง และทวีปอเมริกากลางและใต้สูงขึ้น

ภาพที่ ๖ การเติบโตของการผลิตเนื้อไก่งวงทั่วโลกแยกตามทวีป ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ (A.S. Kauer สร้างจากข้อมูลเอฟเอโอ)

ไก่และไก่งวง

               การเปลี่ยนแปลงในการผลิตเนื้อไก่งวงแตกต่างจากการผลิตเนื้อไก่อย่างชัดเจน ดังแสดงในภาพที่ ๖ จะเห็นว่า ทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปมีผลผลิตเนื้อสัตว์ชนิดนี้อย่างโดดเด่นมาก ขณะที่ ทวีปอื่นๆทั้งหมด ปริมาณการผลิตต่ำอย่างมาก จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๕๓ สังเกตว่า ทวีปอเมริกากลางและใต้มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น

               เมื่อวิเคราะห์การเติบโตของการผลิตไก่งวง อัตราการเติบโตสัมพัทธ์และสัมบูรณ์สูงที่สุดจนกระทั่งราวปี พ.ศ.๒๕๓๓ นับจากนั้นก็ค่อยๆลดลง แล้วจนถึงช่วงของการเจริญเล็กน้อยหรือไม่เจริญ ขณะที่ ทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรปมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเติบโตสัมบูรณ์ และการเติบโตสัมพัทธ์สูงที่สุดในทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกากลางและใต้

               การเปลี่ยนแปลงของการผลิตเนื้อไก่งวงระดับทวีประหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ สังเกตว่า ทวีปยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๔.๔ ทวีปอเมริกากลางและใต้ร้อยละ ๘.๙ ในทางตรงกันข้าม ทวีปอเมริกาเหนือหายไปร้อยละ ๒๖.๘ การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตทั่วโลกมาจากทวีปยุโรปร้อยละ ๓๖.๙ และทวีปอเมริกาเหนือร้อยละ ๓๙.๑ โดยทวีปอื่นๆมีผลน้อยอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมากของการบริโภคเนื้อไก่งวงต่อประชากร ขณะที่ ชนิดของเนื้อสัตว์ชนิดนี้นิยมบริโภคในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือเป็นหลัก ยังไม่เป็นที่นิยมนักในเอเชีย ยกเว้น อัลจีเรีย และโมรอคโค   

ภาพที่ ๗  การเปลี่ยนแปลงของการผลิตเนื้อไก่งวงทั่วโลกแยกตามทวีป ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ (A.S. Kauer สร้างจากข้อมูลเอฟเอโอ)

ความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนที่ระดับประเทศ

ตลอดระยะเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมา องค์ประกอบ และลำดับของประเทศผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกชั้นนำของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากดังแสดงในภาพที่ ๘ สหรัฐฯอยู่ในลำดับที่ ๑ ตลอดมาจนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๖๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ถูกแซงโดยจีนที่ผลิตมากกว่าสหรัฐฯ ๔๔๒,๐๐๐ ตัน

การเติบโตอย่างโดดเด่นเป็นบราซิล กระโดดจากลำดับที่ ๑๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นลำดับที่ ๓ ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ สหภาพโซเวียตเคยอยู่ในลำดับที่ ๒ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๓๓ ภายหลังการล่มสลายทางการเมืองและเศรษฐกิจ ปริมาณการผลิตก็ลดลงตามลำดับ จนกระทั่ง ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง รัสเซียก็เข้าสู่ ๑๐ ลำดับแรกอีกครั้ง 

ภาพที่ ๘ องค์ประกอบ และลำดับของประเทศผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกชั้นนำของโลก ๑๐ ลำดับแรก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ (ข้อมูลเอฟเอโอ)


 

 

 

การผลิตเนื้อสุกรลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก การระบาดหนักของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกา เป็นจุดเปลี่ยนให้มีการขยายการผลิตไก่เนื้อ ขณะที่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ห้าประเทศยุโรปรั้งตำแหน่งสิบอันดับแรก และยังมีอดีตสหภาพโซเวียตอยู่ด้วย ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ รัสเซีย และโปแลนด์ก็ขยับขึ้นมาใหม่ สิบอันดับประเทศผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกโลกอยู่ในเอเชีย ๕ ในอเมริกา ๓ และยุโรปเพียง ๒ ประเทศเท่านั้น ที่น่าสนใจคือการเติบโตของอินเดีย อินโดนีเซีย และอิหร่าน 

การผลิตเนื้อสัตว์ปีกใน พ.ศ.๒๕๑๓ นั้น สิบอันดับแรกของผู้ผลิตสัตว์ปีกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๖๗.๘ สิบปีถัดๆไปจากนั้น ก็ผันผวนอยู่ระหว่างร้อยละ ๖๒ ถึง ๖๕ ภาพที่ ๙ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบ และอันดับของสิบประเทศชั้นนำผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีก พบว่า ความสำคัญของยุโรปลดลง และมีการเติบโตของประเทศในเอเชียและอเมริกาใต้ โปแลนด์เป็นน้องใหม่ที่ขยับขึ้นอยู่ในอันดับที่ ๘ สำเร็จในปี พ.ศ.๒๕๖๓ 

ภาพที่ ๙ ส่วนแบ่งของประเทศผู้ผลิตสัตว์ปีกในการผลิตเนื้อสัตว์ปีก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ (A.S. Kauer สร้างจากข้อมูลเอฟเอโอ)


 

 

 

 

 


มีข้อยกเว้นบางประการเกี่ยวกับองค์ประกอบ และอันดับของประเทศผู้ผลิตเนื้อไก่ชั้นนำ ๑๐ ประเทศ คล้ายคลึงกับการผลิตเนื้อสัตว์ปีกโดยภาพรวม ในปี พ.ศ.๒๖๖๓ สหรัฐฯรั้งอยู่ในอันดับที่เหนือกว่าจีนเป็นครั้งแรก กำลังการผลิต ๖ ล้านตันมากกว่าจีน อาร์เจนตินาอยู่ในอันดับ ๑๐ แทนที่โปแลนด์ 

การลดกำลังการผลิตเนื้อไก่ตามพื้นที่ ขณะที่ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ สิบอันดับแรกมีกำลังการผลิตสองในสามของปริมาณการผลิตทั่วโลก แต่ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ลดกำลังการผลิตลงร้อยละ ๕๙.๙ ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย แต่ยังบ่งบอกถึง การกระจายกำลังการผลิตไก่เนื้อทั่วไปในหลายพื้นที่ โดยไม่มีอุปสรรคด้านศาสนาต่อการบริโภคเนื้อไก่ และยังมีอัตราการแลกเปลี่ยนอาหารที่ดีเยี่ยม นับเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างมาก ดังแสดงในภาพที่ ๑๐

ภาพที่ ๑๐ แสดงส่วนแบ่งของการผลิตเนื้อไก่สิบอันดับแรกในการผลิตไก่เนื้อทั่วโลก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ (A.S. Kauer สร้างจากข้อมูลเอฟเอโอ)




 

 

 

 

 

               องค์ประกอบ และอันดับของการผลิตเนื้อไก่งวงในประเทศต่างๆแตกต่างกันอย่างมากกับเนื้อไก่ ดังภาพที่ ๑๑ แสดงให้เห็นว่า ประเทศในยุโรปมีบทบาทอย่างมาก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ สังเกตว่า ๖ ใน ๑๐ ของประเทศผู้นำการผลิตอยู่ในยุโรป การวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียดก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ ๑ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บราซิลไม่ได้อยู่ในผู้นำการผลิตเนื้อไก่งวงในปี พ.ศ.๒๕๑๓ แล้วไต่ขึ้นจากอันดับที่ ๑๐ เป็นอันดับที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ และยังคงรักษาไว้ได้ เช่นเดียวกับเยอรมัน ที่ขึ้นแท่นอันดับที่ ๓ ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ในทางตรงกันข้าม อิตาลีและฝรั่งเศสล่วงลงไปหลายอันดับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เช่นเดียวกับคานาดาและสหราชอาณาจักรก็ลงไปใกล้ท้ายตารางแล้ว โปแลนด์และสเปนกลายเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่งวงรายสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อิสราเอลเคยติดอันดับมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๓ จนถึง ๒๕๕๓ ก็ถูกโมรอคโคขึ้นแทน บางประเทศติดอันดับเป็นช่วงสั้นๆอย่างยูโกสลาเวีย ฮังการี และอาร์เจนตินา     

ภาพที่ ๑๑ องค์ประกอบ และลำดับของประเทศผู้ผลิตเนื้อไก่งวงชั้นนำของโลก ๑๐ ลำดับแรก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ (ข้อมูลเอฟเอโอ)

ดังแสดงในภาพที่ ๑๒ ความหนาแน่นของการผลิตเนื้อไก่งวงเป็นภูมิภาคจะสูงกว่าเนื้อไก่อย่างมาก ความผันผวนก็น้อยกว่า จะแตกต่างก็เพียงระหว่างร้อยละ ๘๘ ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ และร้อยละ ๙๓.๗ ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ สหรัฐฯ รั้งตำแหน่งผู้นำโดยมีสัดส่วนร้อยละ ๖๔.๓ ของปริมาณการผลิตทั่วโลก โดยบราซิลและเยอรมันก็เพิ่มการผลิตขึ้น ทำให้สัดส่วนของสหรัฐฯลดลงเป็นร้อยละ ๔๓.๓ ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ความจริงแล้ว สัดส่วนของประเทศผู้นำการผลิต ๔ อันดับแรกอยู่ระหว่างร้อยละ ๘๓.๗ ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ และร้อยละ ๖๗.๒ ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ 

               แม้ว่าจะไม่มีอุปสรรคทางศาสนาสำหรับการบริโภคเนื้อไก่งวง แต่ก็ไม่เคยเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักเลยในรอบสิบปี เนื่องจาก ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารที่ไม่จูงใจ และเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกขึ้นบ่อยในสหรัฐฯ และยุโรป เป็นปัจจัยจำกัดการเติบโต ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อไก่งวงยังไม่สามารถหาพื้นที่ของตัวเองในระบบของวิทยาการทำอาหาร และยังไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในประเทศแถบเอเชีย จึงมีอัตราเติบโตที่ต่ำโดยตลอดในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา  

ภาพที่ ๑๒ ส่วนแบ่งของการผลิตเนื้อไก่สิบอันดับแรกในการผลิตไก่งวงเนื้อทั่วโลก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ (A.S. Kauer สร้างจากข้อมูลเอฟเอโอ)

บทสรุปและมุมมองต่ออนาคต

การผลิตเนื้อสัตว์ปีกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การผลิตเนื้อสัตว์ปีกเพิ่มขึ้นแปดเท่าตัวโดยปริมาณการผลิตเกือบ ๑๒๒ ล้านตันในปี พ.ศ.๒๕๖๓ เนื้อสัตว์ปีกจึงเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เติบโตรวดเร็วที่สุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของการผลิตเนื้อไก่ที่มีส่วนแบ่งร้อยละ ๘๕ ถึง ๘๘ ของปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์ปีกโดยภาพรวม

เทคโนโลยี Hybridization ได้สร้างความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมต่อการผลิตเนื้อไก่ ช่วยลดจำนวนวันที่ใช้สำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อส่งโรงฆ่า ร่วมกับอาหารสัตว์ที่มีพลังงานสูง ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ และทำให้เนื้อไก่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ผู้บริโภคชื่นชอบ เนื่องจาก ราคาที่ถูกกว่าเนื้อโค หรือเนื้อสุกร                      เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ การผลิตในประเทศผู้นำทั้งหลายก็ดำเนินการโดยบริษัทธุรกิจการเกษตรครบวงจร สิ่งที่แตกต่างกันไปบ้างคือ ในอุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ทุกขั้นตอนการผลิตอยู่ภายใต้บริษัทเดียวกัน แต่ในไก่เนื้อและไก่งวงจะเป็นการเลี้ยงแบบพันธสัญญาเป็นหลัก

เนื้อไก่งวง เนื้อเป็ด และเนื้อห่านยังตามหลังอีกไกล

               การเปลี่ยนแปลงตามทวีปและประเทศยังแตกต่างกันไป ทวีปเอเชียเติบโตจากร้อยละ ๒๓.๘ ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ เป็นร้อยละ ๖๒.๒ ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ทวีปอเมริกากลางและใต้จากร้อยละ ๘.๒ เป็นร้อยละ ๒๐.๒ ขณะที่ ทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือลดลงอย่างต่อเนื่อง ทวีปยุโรปลดลงเกือบร้อยละ ๓๐ และอเมริกาเหนือร้อยละ ๑๕

แม้ว่า สหรัฐฯจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำการผลิตเนื้อไก่ จีนและประเทศเอเชียหลายประเทศ ได้แก่ อินดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ยังเป็นผู้ชนะเหนือบราซิลในการผลิตเนื้อสัตว์ปีก ประเทศในยุโรปยังถูกทิ้งอยู่ห่างไกล ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ รัสเซียและโปแลนด์ขึ้นมาอยู่ในกลุ่มผู้นำสิบอันดับแรก  

การผลิตเนื้อไก่งวง เนื้อเป็ด และเนื้อห่านแตกต่างจากเนื้อไก่อย่างมาก เนื้อไก่งวงผลิตในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปเป็นหลัก เนื้อเป็ดและเนื้อห่านผลิตในทวีปเอเชีย มุมมองวิเคราะห์ขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา และองค์การอาหารโลก จนถึงปี พ.ศ.๒๕๗๓ การผลิตเนื้อสัตว์ปีกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑๕๓ ล้านตัน ทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกากลาง/ใต้จะเป็นกำลังสำคัญ ขณะที่ ทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปจะมีส่วนแบ่งที่ลดลง แม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น     

เนื้อไก่จะยังคงเติบโตสูงที่สุด ขณะที่ การผลิตเนื้อเป็ด และห่านจะยังเพิ่มขึ้นในทวีปเอเชีย ขณะที่ เนื้อไก่งวงจะยังเติบโตปานกลางเท่านั้น โดยอาจจะลดลงในทวีปอเมริกาเหนือ และประเทศในยุโรปหลายแห่ง เนื่องจาก การบริโภคของประชากรลดลง

นอกเหนือจากนั้นยังเกิดการระบาดหนักของโรคไข้หวัดนกในฟาร์มไก่งวง ทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป ยิ่งส่งผลต่อการตัดสินใจเลี้ยงของผู้ผลิต ในช่วงทศวรรษนี้เอง โรคไข้หวัดนกกลายเป็นโรคประจำถิ่นในภูมิภาคตอนเหนือ การให้วัคซีนในไก่งวง และไก่ไข่สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการระบาดได้ แต่ยังมีความเห็นคัดค้านการบังคับให้วัคซีนในประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกรายใหญ่หลายประเทศ เนื่องจาก กังวลต่อโอกาสในการส่งออก

แม้ว่า เนื้อเทียมจากพืช และเนื้อเทียมจากเซลล์เพาะเลี้ยงจะประสบความสำเร็จ และมีตลาดให้การรับรองเนื้อเทียมแล้ว แต่จะสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดได้ไม่มากนัก ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุให้การผลิตเนื้อเทียมจากเซลล์เพาะเลี้ยงยังเป็นอุปสรรค และข้อจำกัดที่สำคัญ   

เอกสารอ้างอิง

Wilhelm Windhorst H. 2023. Remarkable dynamics of the global poultry industry. [Internet]. [Cited 2023 Oct 13]. Available from: https://www.poultryworld.net/the-industrymarkets/market-trends-analysis-the-industrymarkets-2/remarkable-dynamics-of-the-global-poultry-industry-2/

ภาพที่ ๑ ในช่วง ค.ศ.๒๕๑๓ ถึง ๒๕๖๓ มานี้ การผลิตเนื้อสัตว์ปีกเพิ่มขึ้นราวร้อยละ ๘๐๐ (แหล่งภาพ Canva)



วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...