ถุงไข่แดง (yolk sac, YS) ประกอบด้วยไข่แดง (yolk) เป็นที่กักเก็บสารอาหาร และเนื้อเยื่อของถุงไข่แดง (YS tissue) ที่ล้อมรอบไข่แดงเอาไว้ และช่วยในการทำหน้าที่ด้านเมตาโบลิซึมสำหรับตัวอ่อนระหว่างการพัฒนา เนื้อเยื่อของถุงไข่แดง พัฒนามาจากลำไส้ส่วนกลางของตัวอ่อน และประกอบด้วยชั้นของเซลล์บุผิวชนิดเอนโดเดิร์ม (endodermal epithelial cells, EEC) สัมผัสอยู่กับองค์ประกอบของไข่แดง ชั้นของมีโซเดิร์มที่ประกอบด้วยระบบหลอดเลือด และ ชั้นเอคโตเดิร์มที่อยู่ภายนอก (outer ectodermal layer) ความจริงแล้ว เนื้อเยื่อของถุงไข่แดงเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญหลายอย่างที่มีความจำเป็นต่อร่างกายสัตว์ เช่น หน้าที่ทางภูมิคุ้มกัน การรับสารอาหาร เมตาโบลิซึมของคาร์โบไฮเดรต และลิปิด ตลอดจนการสร้างเม็ดเลือดแดง บทบาทด้านการสร้างภูมิคุ้มกันของเนื้อเยื่อถุงไข่แดง โดยการขนส่งแอนติบอดีจากแม่ในไข่แดงเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดของตัวอ่อนที่คอยให้สารอาหารกับตัวอ่อนที่กำลังพัฒนา นอกเหนือจากนั้น เนื้อเยื่อถุงไข่แดง ยังมีการแสดงออกของเอ็ม-อาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่เกี่ยวข้องกับเปปไทด์ต่อต้านเชื้อโรคของสัตว์ในระดับสูง ได้แก่ เบตา ดีเฟนซิน ๑๐ (ß-defensin 10) ระหว่างการสร้างตัวอ่อนระยะกลาง เซลล์บุผิวชนิดเอนโดเดิร์มของถุงไข่แดงมีคุณสมบัติร่วมของเซลล์บุผิวลำไส้ เช่น การแสดงออกของตัวขนส่งสำหรับกรดอะมิโน เปปไทด์ โมโนแซคคาไรด์ กรดไขมัน และแร่ธาตุ เนื้อเยื่อถุงไข่แดง มีหน้าที่เก็บตุนไกลโคเจน และการแสดงออกของเอนไซม์สำหรับการสังเคราะห์ และย่อยสลายไกลโคเจน รวมถึงกระบวนการสร้างน้ำตาล หรือกลูโคเจเนซิส อีกด้วย เมตาโบลิซึมของคาร์โบไฮเดรตอาจมีบทบาทสำคัญในกระบวนการฟักเป็นตัว ชั้นมีโซเดิร์ม (mesodermal layer) ของเนื้อเยื่อถุงไข่แดง เป็นตำแหน่งสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดงก่อนที่ไขกระดูกจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์ การทำหน้าที่ด้านอื่นๆของเนื้อเยื่อถุงไข่แดง ได้แก่ การสังเคราะห์โปรตีนของพลาสมา การขนส่งลิปิด และกระบวนการเมตาโบลิซึมของคอเลสเตอรอล และการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอกซิน เป็นต้น ดังนั้น ถุงไข่แดง จึงเป็นอวัยวะที่มีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต การพัฒนา และสุขภาพของตัวอ่อนที่กำลังพัฒนา
บทนำ
ตัวอ่อนของสัตว์ปีก พึ่งพาสารอาหารจากไข่แดง
ไข่ขาว หรืออัลบูมิน และเปลือกสำหรับการเจริญเติบโต และการพัฒนา ถุงไข่แดง
ประกอบด้วย องค์ประกอบของไข่แดง รวมกับเนื้อเยื่อถุงไข่แดงที่ปกคลุมไข่แดงเอาไว้ เนื้อเยื่อถุงไข่แดงมักเรียกว่า
เยื่อหุ้มถุงไข่แดง (yolk
sac membrane) แต่ความจริงแล้ว
ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเยื่อหุ้มถุงไข่แดงเท่านั้น ยังมีบทบาทสำคัญอีกหลายหน้าที่
เช่น การรับสารอาหาร การทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับเมตาโบลิซึมหลายอย่าง
และเป็นปราการด่านแรกต่อสู้กับเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ไข่แดง ดังนั้น
เยื่อหุ้มถุงไข่แดงจึงมีความจำเป็นสำหรับสุขภาพของตัวอ่อน เนื่องจาก
อวัยวะหลายชนิดภายในตัวอ่อนยังไม่พัฒนาอย่างสมบูรณ์พร้อม เนื้อเยื่อถุงไข่แดงจึงเป็นอวัยวะสำคัญสำหรับการทำหน้าที่เหล่านี้แทนไปก่อน
ยกตัวอย่างเช่น พัฒนาการของลำไส้และตับเริ่มต้นเมื่ออายุการฟักราว ๑๕ วัน
ต่อมไทรอยด์ ๑๐ วัน และการสร้างเม็ดเลือดแดงจากไขกระดูก ๑๔ วัน
เนื้อเยื่อถุงไข่แดง จึงทำหน้าที่ทดแทนไขกระดูกในการสังเคราะห์เม็ดเลือด ทดแทนลำไส้สำหรับการย่อยอาหาร
และขนส่งสารอาหาร และลิปิด ทดแทนตับสำหรับการสร้างโปรตีนพาหะจากพลาสมา (plasma
carrier proteins) และกระบวนการเมตาโบลิซึมอาหารประเภทคคาร์โบไฮเดรต
และทดแทนต่อมไทรอยด์สำหรับการควบคุมกระบวนการเมตาโบลิซึม
และทดแทนระบบภูมิคุ้มกันโดยอาศัยแอนติบอดีจากแม่ไก่
และการสร้างเปปไทด์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น
การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของการทำงานของเนื้อเยื่อถุงไข่แดงเป็นกุญแจสำคัญต่อความเข้าใจในการรับสารอาหารจากไข่แดงสำหรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนลูกไก่
คุณสมบัติของเนื้อเยื่อถุงไข่แดงตั้งแต่ระยะแรกถึงระยะสุดท้ายของการสร้างตัวอ่อน
เริ่มต้นขึ้นราวอายุ ๑๙ วัน ถุงไข่แดงตกลงสู่ช่องท้อง และกระบวนการเสร็จจสมบูรณ์ราว
๑๔ ชั่วโมงก่อนที่จะฟักเป็นตัว ในช่วงวันท้ายๆของการบ่ม เนื้อเยื่อถุงไข่แดงจะผ่านกระบวนการเสื่อมลงก่อนที่จะถูกดึงเข้าภายในช่องร่างกายของลูกไก่
แม้ว่า ลูกไก่ใช้สารอาหารเป็นโปรตีน
และคาร์โบไฮเดรตจากอาหารภายหลังการฟักเป็นตัวแล้ว
แต่ลูกไก่ก็ยังคงสามารถใช้ประโยชน์จากลิปิดที่เก็บกักไว้ในถุงไข่แดงที่เหลืออยู่
แม้ว่า เนื้อเยื่อถุงไข่แดงกำลังฝ่อลงก็ตาม แม้ว่า การเสื่อมสลายลงของเนื้อเยื่อถุงไข่แดงเป็นไปตามธรรมชาติ
แต่การขัดขวางการดูดซึมองค์ประกอบของไข่แดงอาจนำไปสู่การขาดแคลนสารอาหารที่มีความจำเป็น
และภูมิคุ้มกันจากแม่ ส่งผลให้อัตราการตายของลูกไก่ระยะแรก
และปัญหาคุณภาพลูกไก่ได้ การวิเคราะห์โดยละเอียดถี่ถ้วนต่อผลของไก่พันธุ์ (เนื้อ)
ขนาดไข่ การเก็บไข่ฟัก และอุณหภูมิการฟักต่อการใช้ไข่แดง
สามารถศึกษาได้จากผลการวิจัยของ Wagt et al. (2000)
ความเข้าใจต่อกลไกระดับเซลล์ และระดับโมเลกุลที่ควบคุมการทำงานของถุงไข่แดงมีความสำคัญสำหรับการเจริญเติบโต การพัฒนา และสุขภาพของตัวอ่อนลูกไก่ และสุขภาพทางเดินอาหารของลูกไก่แรกเกิด
ภาพที่ ๑ ตัวอ่อนลูกไก่ที่อายุราว ๖ วันของการฟัก แสดงให้เห็นถุงไข่แดงเชื่อมกับลำไส้เล็กส่วนกลางผ่านแก่นถุงไข่แดง (Wong and Uni, 2021)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น