วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สร้างสำนึกใหม่ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม

หลังข่าวใหญ่ การค้นพบกลไกการดื้อยาใหม่ในแบคทีเรียจากสุกร เนื้อสุกร เนื้อสัตว์ปีก และมนุษย์จากประเทศจีน นับเป็นอันตรายด้านสาธารณสุข เนื่องจาก การดื้อยาครั้งนี้เป็นยาปฏิชีวนะชนิดสุดท้ายที่ใช้สำหรับการแพทย์  ศ. ดิค เมเวียส แสดงความเห็นถึงการผลิตสัตว์ปีกนับจากนี้
               โคลิสตินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสัตว์สำหรับการรักษา และควบคุมอาการท้องเสียเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วในปศุสัตว์  แต่ปัจจุบัน โคลิสตินถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ เนื่องจาก การพัฒนาการดื้อยาอย่างต่อเนื่องในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การแพร่กระจายของเชื้อ ESBL และเชื้อก่อโรคที่สร้างเอนไซม์คาร์เบนเพเนเมส ทำให้ยาโคลิสตันเป็นยาปฏิชีวนะชนิดสุดท้ายสำหรับการติดเชื้อในมนุษย์ที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาพร้อมกันหลายชนิด รายงานการดื้อยาครั้งล่าสุดในประเทศจีนจึงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับมนุษย์
               นับตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๕๐ เป็นต้นมา โคลิสตินถูกใช้ปริมาณมากในปศุสัตว์ เพื่อรักษา และควบคุมอาการท้องเสียจากเชื้อ  อี. โคลัย และซัลโมเนลลา ในลูกโค และสุกร ในสัตว์ปีก โคลิสตินใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อโคลัยบาซิลโลซิสในแม่ไก่ โดยต้องมีระยะหยุดยาสำหรับการให้ไข่ การใช้โพลีมิกซินค่อยๆลดลงในช่วงสิบปีที่ผ่านมาแล้ว เมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน และอังกฤษ รายงานเชื้อ อี. โคลัย ที่ดิ้อยาโคลิสติน ในประเทศจีน และหลายส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการถ่ายทอดการดื้อยานี้พบในสุกร เนื้อสุกร เนื้อสัตว์ปีก และผู้ป่วยชาวจีน  
               มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ และการดื้อยาในสัตว์ที่โรงฆ่า อาหาร และมนุษย์ การดื้อยานี้มีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีน MCR-1 และสามารถแพร่กระจายได้ ตัวอย่างจากการศึกษาครั้งนี้มาจากเนื้อสุกร และเนื้อสัตว์ปีกในซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดสด รวมถึง ตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วยในโรงพยาบาล ตัวอย่าง ๒๐ เปอร์เซ็นต์มาจากสัตว์ และ ๑๕ เปอร์เซ็นต์มาจากเนื้อที่ตรวจพบเชื้อดื้อยา การดื้อยาครั้งนี้สร้างความวิตกกังวลว่า แบคทีเรียจะสามารถถ่ายทอดภาวะดื้อยาไปยังแบคทีเรียชนิดอื่นๆข้ามชนิดกัน แม้ว่าจะยังไม่มีข้อพิสูจน์ความเชื่อมโยง แต่เชื่อว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นแหล่งต้นตอของเชื้อดื้อยา ในประเทศจีน ยาปฏิชีวนะนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการเลี้ยงสัตว์
อันตรายต่อชีวิตมนุษย์
               การพัฒนาเชื้อดื้อยาครั้งนี้ได้สร้างความกดดันต่อภาคสาธารณสุข โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาร่วมกับปัญหา ESBL ที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก จำเป็นต้องมีการเตือนภัย ไม่ใช่เพราะว่า การดื้อยาโคลิสตินเป็นปัญหาใหญ่หลวงในการเลี้ยงสัตว์ แต่เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์เป็นแหล่งของเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ เชื้อแบคทีเรียดื้อยาสามารถระบาดไปได้ทั่วโลกภายในระยะเวลาอันสั้น ในกรณีร้ายแรง แพทย์จะไม่มียาเหลือไว้ให้ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อในมนุษย์เป็นการหวนกลับไปสู่ยุคก่อนการใช้ยาปฏิชีวนะ ในอนาคต เชื่อว่า การระบาดเชื้อดื้อยาจะเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคนในแต่ละปี  

เชื้อจะระบาดอย่างรวดเร็ว
               โลกในยุคโลกาภิวัฒน์นี้ทำให้ความเชื่อมโยง และความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์แคบลง และทั่วถึง มีการแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลาทั้งข้อมูลข่าวสาร คน และสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆรวมถึง เนื้อสัตว์ปีก มีการผลิต และจำหน่ายจากทั่วทุกมุมโลก ปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้นเพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่จะระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว มนุษย์ สิ่งของ และนกป่าเป็นพาหะที่สำคัญของโรค ปัจจุบัน นักวิจัยกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด หากห่วงโซ่การผลิตแพร่เชื้อแบคทีเรียนี้ไปแล้ว ก็อาจจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
               ขณะนี้ โลกกำลังให้ความสนใจเชื้อดื้อยาครั้งนี้อย่างใกลชิด ก่อนหน้านี้มีความพยายามเรียกร้องให้ลดการใช้ยาโพลีมิกซินในการเลี้ยงสัตว์ ถึงตอนนี้ เราต้องทบทวนข้อเรียกร้องเหล่านี้ และยกระดับถึงขั้นสูงที่สุดต่อรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้ยาโคลิสติน ที่อาจต้องกำหนดให้มีการห้ามใช้สำหรับปศุสัตว์ ทั้งภาครัฐบาล และองค์กรสัตวแพทย์จำเป็นต้องพิจารณากรณีดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ขณะนี้ ระดับยุโรป และโลก กำลังพิจารณาประเด็นนี้ แต่กระบวนการนั้นมีขั้นตอนที่ยาวนาน และมีพลังน้อยลง ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคน
               ในปี ค.ศ.๒๐๑๒ กลุ่มที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกว่าด้วย การเฝ้าระวังการดื้อยา อ้างถึงยาโคลิสตินว่าเป็นยาปฏิชีวนะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การใช้ยาโคลิสตินต้องลดลง แม้ว่า ประเทศตะวันตกจะยังมีอิทธิพลต่อเอเชีย อย่างไรก็ตาม ทั้งภาคการเมือง และวิทยาศาสตร์ต้องร่วมมือกันผลักดัน เพื่อให้ประเทศเอเชียเกิดความตระหนักถึงผลลบของการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ และตระหนักการใช้ทางเลือกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์
ภาคการผลิตสัตว์ปีกควรปรับตัวอย่างไร
               เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์ จำเป็นต้องสร้างสำนึกใหม่ให้มุ่งใส่ใจสุขภาพสัตว์แทนที่จะคิดผลิตสัตว์ให้ต้นทุนต่ำ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการเพื่อป้องกันโรคแทนที่จะใช้ยาปฏิชีวนะ    

แหล่งที่มา:          ศ. ดิค เมเวียส สถาบันสัตวแพทย์แห่งเนเธอร์แลนด์ (14/12/15)
 

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หวัดนกเอช ๕ ถล่มพร้อมกัน ๓ ซีโรไทป์ในฝรั่งเศส

จำนวนฟาร์มติดเชื้อโรคไข้หวัดนกทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๑๕ ราย การระบาดของโรคได้แพร่กระจายจากฟาร์มใกล้กับชายแดนของสเปนไปยัง Limoges ห่างไปอีก ๔๐๐ กิโลเมตร ดังนั้น สัตว์ปีกหลายหมื่นตัวทั้งเป็ด ไก่ นกกระทา ถูกทำลายไปแล้ว ขณะที่ ประเทศนอกกลุ่มอียูได้แบนสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์จากฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว
               กรมปศุสัตว์ฝรั่งเศสได้เน้นย้ำว่า ซีโรไทป์ที่มีการระบาดไม่สามารถติดเชื้อสู่คนได้ และแตกต่างอย่างมากกับเชื้อไวรัสที่ระบาดในเอเชียที่มีการกลายพันธุ์ และติดเชื้อสู่คน ดังนั้น การบริโภคเนื้อไก่ ฟรัวกราซ์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกอื่นๆจะยังไม่เป็นอันตรายสู่สุขภาพมนุษย์ ในฟาร์มที่เกิดการระบาดตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกทั้ง H5N1, H5N2 และ H5N9 โดยยังไม่เคยพบมาก่อนว่า โรคไข้หวัดนกมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วพร้อมกันหลายๆซีโรท์ในเวลาเดียวกัน ดร. เบอร์นาร์ด วัลแลต ผู้อำนวยการ OIE กล่าวไว้ก่นอหน้านี้ โดยเชื่อว่า เชื้อไวรัสได้กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสชนิดความรุนแรงต่ำไปเป็นเชื้อไวรัสชนิดความรุนแรงสูงซีโรไทป์ต่างๆพร้อมกัน หรือไม่ก็เชื้อไวรัสต่างซีโรไทป์มีการแลกเปลี่ยนยีนส์กัน
 แหล่งที่มา:         Ruud Peys (16/12/15)

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หกวิธีต่อสู้ปัญหาเซลลูไลติส

เซลลูไลติสเป็นสาเหตุสำคัญของการปลดซากไก่เนื้อ และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อผู้ผลิต ๖ วิธีต่อสู้กับปัญหาเซลลูไลติสตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาขนปกคลุมร่างกาย การตรวจติดตามความหนาแน่นของการเลี้ยง ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวด ปรับเวลาการให้วัคซีน ปรับปรุงการจัดการให้ทันต่อเหตุการณ์ และสร้างเสริมสุขภาพที่ดีของลำไส้
๑.     การส่งเสริมการเจริญเติบโตของขน การนำสายพันธุ์ที่ขนขึ้นช้า (Slow-feathering genetic line) ได้เพิ่มปัญหาเซลลูไลติสขึ้นอย่างมาก การเลี้ยงไก่เนื้อสมัยใหม่ได้เปิดโอกาสให้ผิวหนังบริเวณท้องมีโอกาสเกิดรอยขีดข่วนขึ้นกว่าเดิม มีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ขนของไก่ที่อายุ ๒๘ วันเป็นปัจจัยโน้มนำที่สำคัญที่สุดของการเกิดปัญหาเซลลูไลติส ดังนั้น การจัดการไก่เนื้อที่ดีส่งเสริมให้มีการเจริญงอกขึ้นของขนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก รวมถึง หลีกเลี่ยงการจัดการอากาศที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะที่อายุ ๒ ถึง ๔ สัปดาห์ ช่วยกระตุ้นการเจริญงอกขึ้นของขน และลดปัญหาเซลลูไลติสได้
๒.    การตรวจติดตามความหนาแน่นของไก่ หากจำนวนไก่มีความหนาแน่นสูงเกินไปจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดรอยขีดข่วนที่ส่งผลให้อัตราการเกิดเซลลูไลติสสูงขึ้น ความสัมพันธ์อย่างง่ายๆดังนี้ ไก่มาก = รอยข่วนมาก = เซลลูไลติสสูง มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะ ในฟาร์มที่ความหนาแน่นของไก่เพิ่มขึ้น โดยไม่มีการเพิ่มอุปกรณ์การให้อาหาร และน้ำ จนทำให้ไก่ต้องแก่งแย่งกันกินอาหาร และน้ำ
๓.     เข้มงวดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ คุณภาพวัสดุรองพื้นที่แย่ก็มีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ปัญหาเซลลูไลติสที่สูงขึ้น วัสดุรองพื้นที่เปียกเป็นสิ่งแวดล้อมในอุดมคติสำหรับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เมื่อท้องของไก่สัมผัสกับวัสดุรองพื้นที่เปียกตลอดเวลาก็จะเพิ่มการปนเปื้อนของแบคทีเรียผ่านรอยขีดข่วน การถ่ายทอดเชื้อโรคจากวัสดุรองพื้นเข้าสู่ร่างกายไก่โดยตรง สภาพวัสดุรองพื้นที่เปียกยังส่งผลให้เล็บไก่สกปรกเต็มไปด้วยแบคทีเรียภายใน และสงผ่านเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่รอยแผลได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรงเรือนระหว่างพักโรงเรือนจึงมีความสำคัญมาก ระยะพักโรงเรือนมากกว่า ๑๕ วันสามารถช่วยลดอุบัติการณ์เซลลูไลติสได้
๔.    ปรับเวลาการให้วัคซีน โปรแกรมวัคซีนที่โรงฟักสามารถลดปัญหาการคัดซากไก่เนื้อทิ้ง เนื่องจาก ปัญหาเซลลูไลติสที่โรงเชือดได้ ผลการศึกษาทางตอนใต้ของประเทศบราซิล แสดงให้เห้นว่า การให้วัคซีนกัมโบโรที่โรงฟักแทนที่จะให้ที่ฟาร์ม ช่วยลดปัญหาการปลดซากทิ้งจากปัญหาเซลลูไลติสได้อย่างมาก
๕.    ปรับแผนการจัดการให้ทันสมัยตลอดเวลา เพื่อให้มั่นใจว่า มีการทบทวนการจัดการที่ฟาร์ม อุปกรณ์ และผังฟาร์มที่เหมาะกับไก่สายพันธุ์ใหม่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ การระบายอากาศ การให้อาหาร และน้ำเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก
๖.      การสร้างเสริมสุขภาพลำไส้ที่ดี เชื้อ อี. โคลัย เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเซลลูไลติส และเป็นเชื้อโรคฉวยโอกาสที่อาศัยในลำไส้ไก่แพร่กระจายผ่านมูลไก่ที่ถ่ายลงสู่วัสดุรองพื้น โปรไบโอติก เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์สามารถปรับจุลินทรีย์ในลำไส้ และลดการแพร่กระจายเชื้อ อี. โคลัย สู่สิ่งแวดล้อม การใช้จุลินทรีย์แข่งขัน ก็สามารถป้องกันเชื้อโรคมิให้เกาะยึดเซลล์ลำไส้ หรือเซลล์ที่มีหน้าที่ดูดซึมอาหารในลำไส้ และสร้างสารต่อต้านจุลชีพตามธรรมชาติ เช่น กรดอินทรีย์ และแบคเทอริโอซิน จุลชีพเหล่านี้ทำให้เชื้อ อี. โคลัย แบ่งเซลล์ และเพิ่มจำนวนได้ลำบาก เป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อ อี. โคลัย เข้าสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงลดโอกาสการติดเชื้อ อี. โคลัย ผ่านรอยขีดข่วน และแผลที่ผิวหนัง การศึกษาโดย Estrada และคณะ (2001) แสดงให้เห็นว่า การให้เชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ ไบฟิโดแบคทีเรียให้ไก่เนื้อช่วยลดอุบัติการณ์เซลลูไลติสในซากที่โรงฆ่า เชื้อแบคทีเรียกลุ่ม บ. ไบฟิเดียม มีอัตราการปนเปื้อนซากทั้งตัวต่ำลงกว่ากลุ่มควบคุม (๒.๘ และ ๔.๔ เปอร์เซ็นต์) และลดอุบัติการณ์ของปัญหาเซลลูไลติสลงกว่ากลุ่มควบคุม (๓๒.๑ และ ๕๕.๔ เปอร์เซ็นต์)

แหล่งที่มา:          Luca Vandi (28/10/15)

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558

รณรงค์ลดเชื้อดื้อยา เพื่อสุขภาพไก่ และความรับผิดชอบต่อสังคม

ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ปศุสัตว์ และการดื้อยาเป็นประเด็นสำคัญในด้านความปลอดภัยอาหาร และเป็นรับผิดชอบของสัตวแพทย์ ต่อสำนึกในความเสี่ยงที่จะสร้างเชื้อดื้อยาหลายชนิดพร้อมกันในนุษย์ และก็เป็นสำนึกของแพทย์ในการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ สั่งยาปฏิชีวนะเกินกว่าความจำเป็น และผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รับประทานยาจนครบกำหนด
               ศ. ฮาเฟซ หัวหน้าสถาบันโรคสัตว์ปีกที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน กล่าวว่า ยาต่อต้านจุลชีพเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับควบคุมโรคติดเชื้อแบคทีเรีย สิ่งนี้สร้างคามมั่นใจต่อสุขภาพไก่เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพสัตว์ และลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาต้านชีพก็เป็นอาวุธสำคัญสุดท้าย การรักษาโดยปราศจากการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง การเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ขนาดยาที่ถูกต้อง ระยะเวลา และการตรวจติดตามที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ในเยอรมัน กฏหมาย และการควบคุมโดยรัฐมีประสิทธิภาพในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โดยจำเป็นต้องมีการให้ความรู้สัตวแพทย์ และเกษตร อย่างไรก็ตาม การสั่งให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นไปได้ยาก แต่ต้องมีการพัฒนาวิธีทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้การติดเชื้อแบคทีเรีย
               การควบคุมความผิดปรกติของทางเดินอาหาร ศ. ฮาเฟซ เน้นย้ำว่า มุมมองที่สำคัญของสุขภาพสัตว์ปีกในวันนี้คือ การควบคุมความผิดปรกติของลำไส้ จุลินทรีย์ในทางเดินอาหารปรกติส่วนใหญ่ถูกปกป้องโฮสต์จากการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรีย (มีความต้านทานต่อการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรีย) แม้ว่า ความต้านทานต่อการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียจะลดลงภายหลังการให้ยาต่อต้านจุลชีพ เชื้อโรคหลายชิด เช่น ไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตล้วนส่งผลต่อความผิดปรกติของลำไส้ไม่ว่าจะโดยลำพัง หรือร่วมกับจุลชีพอื่นๆ ความผิดปรกติของลำไส้อาจเป็นผลมาจากโรคไม่ติดเชื้อ ได้แก่ อาหาร และการจัดการ ภายใต้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นการยากที่จะเสาะหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคความผิดปรกติของทางเดินอาหารว่ามาจากโรคติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อ นับตั้งแต่การยกเลิกการใช้ยาต่อต้านเชื้อจุลชีพเพื่อเร่งการเจริญเติบโต พบว่า คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์มีบทบาทสำคัญต่อความผิดปรกติของลำไส้ในสัตว์ปีก
               การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เริ่มแรกเป็นกุญแจสำคัญ และยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคลำไส้อักเสบ โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ แล้วแก้ไขปัญหาอย่างทันเหตุการณ์ เช่น การปรับปรุงการจัดการ สูตรอาหารสัตว์ที่ดี และลดปริมาณเชื้อก่อโรคโดยอาศัยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ รวมถึง การใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆเพื่อปรับสภาพจุลินทรีย์ในลำไส้ เช่น พรีไบโอติก โพรไบโอติก เอนไซม์ ผลิตภัณฑ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน กรด และน้ำมันที่จำเป็น ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และลดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา นอกเหนือจาก การใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย

แหล่งที่มา:          Emmy Koeleman (21/10/15)

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ยุโรปเดินหน้าวิจัยหนอนแมลงวันมีชีวิตเลี้ยงไก่

การเลี้ยงไก่เนื้อทดลองแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆที่ใช้หนอนแมลงวันมีชีวิตที่อัตราส่วน ๕ ๑๐ หรือ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ทดแทนโปรตีนจากถั่วเหลือง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ คำถามวิจัยคือ ลูกไก่ยังสามารถเจริญเติบโตได้อย่างดีที่อัตราการเจริญเติบโตเหมาะสมหรือไม่เปรียบเทียบกับอาหารปรกติ และพิจารณาต่อไปว่า พฤติกรรมไกเนื้อดีขึ้นด้วยหรือไม่ เพื่อแสวงหาเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
               การทดลองที่ ForFarmers ในเนเธอร์แลนด์ โดยใช้ไก่ทั้งหมด ๑,๐๐๐ ตัวแบ่งเป็น ๔ กลุ่มการทดลอง กลุ่มควบคุมใช้อาหารปรกติ ขณะที่ อีกสามกลุ่มที่เหลือใช้แมลงมีชีวิตในอัตราส่วน ๕ ๑๐ หรือ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ โดยใช้หนอนแมลงวันทหารดำ (Black soldier fly larva) โปรตีนสูงจากหนอนแมลงวันสามารถทดแทนโปรตีนจากถั่วเหลืองได้ถึง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ โดยหนอนแมลงวันชนิดนี้กินอาหารจากทั้งพืช และสัตว์ จึงเลี้ยงง่าย ช่วยให้เกษตรกรมีผลกำไร และเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หนอนแมลงวันเหล่านี้สามารถเพาะเลี้ยงจากของเสียในอุตสาหกรรมอาหาร ที่นอกเหนือจากการแปรรูปไปเป็นพลังงานชีวภาพแล้ว ยังจะสามารถนำมาใช้แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย หากการวิจัยประสบความสำเร็จก็จะเป็นแหล่งทางเลือกของวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทโปรตีนอีกด้วย
               การใช้แมลงเป็นอาหารสัตว์นับว่าเป็นโภชนาการอาหารจากธรรมชาติ และเปิดโอกาสให้ไก่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ปัจจุบันพึ่งเริ่มนำร่องในฟาร์มขนาดเล็ก และคาดหวังว่า ในไม่ช้าจะมีการขยายผลไปยังฟาร์มเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ แต่ต้นทุนขณะนี้ยังค่อนข้างสูงในระยะแรง หากผลการวิจัยเป็นไปในเชิงบวกก็จะเป็นการขยายผลเพื่อปรับหาวิธีการเลี้ยง และเพิ่มจำนวนที่เหมาะสมต่อไป อย่างน้อย การให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมการกินอาหารตามธรรมชาติ โดยเฉพาะ แมลงเป็นส่วนหนึ่งของอาหารสำหรับการเจริญเติบโตก็น่าจะช่วยให้พวกเขาสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้
               สำหรับ ForFarmers ปรารถนาจะเป็นผู้นำการผลิตอย่างยั่งยืน โดยการสร้างความสมดุลทั้งเศรษฐกิจ และการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนโดยการผลิตอาหารสัตว์ที่ประสิทธิภาพ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สัตว์ใช้อาหารส่งเสริมสุขภาพที่ดี และวิถีชีวิตที่ดี เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหาร

แหล่งที่มา:          Fabian Brockotter (17/9/15)


วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

อ่างจุ่มเท้าส่วนใหญ่ไร้ประสิทธิภาพ

ผู้ผลิตในฟาร์มสัตว์ปีกกำลังถูกเรียกร้องให้ทบทวนวิธีการจัดการโดยการจุ่มเท้าก่อนเข้าโรงเรือน ภายหลังผลการวิจัยล่าสุด แสดงให้เห็นว่า การจุ่มเท้าก่อนเข้าโรงเรือนมักไม่มีประสิทธิภาพ
               ผลการศึกษาโดยภาควิชาแบคทีเรียวิทยาที่หน่วยสุขภาพสัตว์และพืช (APHA) ในสหราชอาณาจักร ประเมินประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อซัลโมเนลลาจากการจุ่มเท้าในฟาร์มสัตว์ปีก
               การนำเข้าโรคจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเข้าสู่โรงเรือนสัตว์ปีกผ่านรองเท้าบู๊ทของคนงานในฟาร์ม และผู้เยี่ยมฟาร์มมีความเสี่ยงสูงมาก แต่ประสิทธิภาพของการจุ่มเท้าเพื่อการป้องกันเชื้อโรคเหล่านี้ยังมีความไม่นอนอยู่มาก นักวิจัยจึงเก็บตัวอย่างรอบเท้าบู๊ทที่ผ่านการจุ่มลงในอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อจากฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่เชิงพาณิชย์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อ SE จากผลการวิจัย พบว่า ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้ออยู่ระหว่าง ๓๗ ถึง ๘๖ เปอร์เซ็นต์ โดยการศึกษาครั้งนี้ชี้ไปถึงปัจจัยหลายประการที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของอ่างจุ่มเท้า ได้แก่ ความเข้มข้น ปริมาณของสารอินทรีย์ หรือดิน แกลบที่เจือปนในน้ำยาจุ่มเท้า อุณหภูมิ ไบโอฟิลม์ และเวลาการสัมผัสเชื้อโรค อ่างจุ่มเท้ามักถูกละเลยในการเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ หรือถูกฝน และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆอันส่งผลต่อการลดประสิทธิภาพของยาฆ่าเชื้อลงได้
               รายงานจาก APHA อ้างว่า SE ถึงเป็นเชื้อโรคอุบัติใหม่ที่คุกคามสุขภาพของมนุษย์ จำเป็นที่สัตวแพทย์ และอุตสาหกรรมต้องทบทวนวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการอ่างจุ่มเท้าเพื่อควบคุมโรค

แหล่งที่มา:          World Poutry (17/9/15)

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

ไก่ไข่ US เริ่มเลี้ยงใหม่หลังหยุดหวัดนก

หลังจากเผชิญกับวิกฤติการณ์ไข้หวัดนกในช่วงฤดูใบไม้ผลิตที่ผ่านมา อุตสาหกรรมฟาร์มไก่ไข่ใน US ในพื้นที่แถบตะวันตกตอนกลางกำลังกลับมาฟื้นฟูการผลิตอีกครั้ง เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศได้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และเตรียมพร้อมสำหรับการหวนกลับมาของเชื้อไวรัสในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่นกอพยพจะกลับมาอีกครั้ง
               ฟาร์มไก่ไข่ที่ประสบปัญหาโรคไข้หดวัดนกในช่วงฤดูใบไม้ผลิตที่ผ่านมากำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อพลิกฟื้นฟูการผลิตไข่กลับมาอีกครั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๑๒ ถึง ๑๘ เดือนก่อนที่การผลิตจะกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ โดยฟาร์มเหล่านี้ต้องเป็นไปตามกฏระเบียบที่กำหนดไว้โดย USDA-APHIS ว่าด้วยการทำความสะอาด และการฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวด ความท้าทายอีกประการคือ การขาดแคลนแม่ไก่สาว อันเป็นผลมาจากความต้องการแม่ไก่สาวพร้อมๆกัน และการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในฟาร์มไก่พันธุ์ และไก่พันธุ์สาว ส่งผลให้จำนวนไก่ลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม่ไก่พันธุ์หนึ่งตัวสามารถผลิตลูกไก่ได้ ๑๒๐ ตัวเท่านั้น ดังนั้น การเสียไก่พันธุ์ไปจึงยิ่งส่งผลต่อปริมาณไข่ในตลาดอย่างมาก
               แม้ว่า มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ และการป้องกันโรคจะมีความสำคัญต่อฟาร์มไก่ไข่มาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว แต่การแพร่กระจายของโรคไข้หวัดนกอย่างรวดเร็วในฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา แม้ว่า เกษตรกร และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์ปีกจะพยายามอย่างดีที่สุด ดังนั้น ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่จึงได้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพให้เข้มข้นขึ้นอีก ได้แก่ การเพิ่มแผนควบคุมการเคลื่อนย้ายคนงาน สัตว์ปีก ยานพาหนะ และอุปกรณ์ การตรวจสอบอาหารสัตว์ และน้ำไม่ให้มีความเสี่ยงต่อโรค และลดการสัมผัสระหว่างไก่ในฟาร์มกับนกตามธรรมชาติ ปัจจุบัน ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ได้เข้มงวดการควบคุมยานพาหนะเข้าออก เพิ่มกระบวนการฆ่าเชื้อ และการฝึกอบรมพนักงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการไข่ในอเมริกา  เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้งหมดต้องทำงานร่วมกับสัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์ เพื่อประเมินแผนความปลอดภัยทางชีวภาพ

แหล่งที่มา:          WATTAg.Net.com (28/8/15)

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

ตลาดค้าสัตว์ปีกสยายปีกฝ่าคลื่นหวัดนก

ผู้ผลิตสัตว์ปีกเกือบทั้งหมดในโลกประสบความสำเร็จในไตรมาสที่ ๓ ของปีท่ามกลางข่าวคราวการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงสูง
               โรโบแบงค์ คาดการณ์ว่า ปลายปีนี้จนถึงปีหน้าจะเป็นเวลาที่ตลาดค้าสัตว์ปีกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก ต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง และปริมาณสัตว์ปีกในตลาดที่น้อย HPAI เป็นปัญหา และอุปสรรคสำคัญ อย่างไรก็ตาม จำนวนครั้งของการระบาดมีแนวโน้มต่ำลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จึงเป็นเวลาที่ผู้ผลิตจะเริ่มตั้งลำการผลิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง ผลการเลี้ยงในประเทศต่างๆส่วนใหญ่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ควรมีการยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพให้เป็นความสำคัญอันดับแรก หากมีการระบาดใหม่ก็จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อตลาดค้าสัตว์ปีกในภูมิภาค และทั่วโลกดังที่เคยปรากฏในอดีต ประเทศบราซิล และไทยเป็นผู้ผลิตที่จะมาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากสหรัฐฯ และจีน
               สำหรับสหรัฐฯ โรโบแบงค์ เชื่อว่า ตลาดที่แข็งแกร่งที่มีสมดุลการตลาดอย่างเหมาะสม และมีการควบคุมการผลิตสินค้าสู่ตลาดอย่างเข้มงวด มีการตรวจพบ HPAI รายสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฏาคมที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน มีการทำลายไก่ไปแล้ว ๔๘ ล้านตัว นับตั้งแต่การระบาดครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสัตว์ปีกในสหรัฐฯกำลังเริ่มต้นฟื้นฟูกระบวนการผลิตอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมตัวที่จะรับมือกับการหวนคืนของโรคไข้หวัดนกในช่วงฤดูใบไม้ร่วงจากนกป่าอีกครั้ง พื้นฐานทางกรตลาดช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกทั่วโลก แต่ผู้บริโภคในสหรัฐฯคงต้องเผชิญกับราคาเนื้อสัตว์ปีก และไข่ที่สูงขึ้นในช่วงวันขอบคุณพระเจ้า และคริสต์มาส คาดการณ์ว่า ราคาแม่ไก่ทั้งตัวแช่แข็งสำหรับช่วงไตรมาสที่ ๓ นี้จะอยู่ระหว่าง ๘๔ ถึง ๘๗ บาทต่อกิโลกรัม มีราคาสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วราว ๑๑ เปอร์เซ็นต์  
               USDA คาดว่า การผลิตเนื้อไก่งวงในช่วงหกเดือนแรกของปี พ.ศ.๒๕๕๙ คาดว่าจะมีผลผลิตรวมประมาณ ๖.๒ ล้านตัน หลังจากที่การผลิตไก่งวงลดลงอย่างมากในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน เนื่องจาก การระบาดของ HPAI ในไก่งวง โดยเฉพาะ รัฐมินเนโซตา โดยปัจจัยสำคัญสำหรับการผลิตไก่งวง ได้แก่ จำนวนไก่งวงที่เข้าโรงฆ่า และการผลิตเนื้อไก่งวงที่กำลังลดลงในเดือนกรกฏาคม และมิถุนายน ประการที่สองคือ การส่งออกไก่งวงลดลง ดังนั้น ปริมาณสินค้าผลิตภัณฑ์จากไก่งวงจึงน้อยลงในตลาดภายในประเทศ    
               สำหรับสถานการณ์การผลิตเนื้อสัตว์ปีกโลก โรโบแบงค์ รายงานว่า สหภาพยุโรปยังคงมีตลาดที่เข้มแข็งจากสมดุลการตลาดที่ดี และการควบคุมการผลิตที่เข้มงวด ขณะเดียวกัน สภาวะทางเศรษฐกิจในบราซิลมีแนวโน้มลดลง ทำห้ผู้บริโภคปรับตัวซื้อสินค้าเนื้อสัตว์ปีกที่มีราคาแพงน้อยลง รัสเซียมีผลผลิตที่ดีขึ้น เนื่องจาก ต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำลง เนื้อโค และเนื้อสุกรมีออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นชดเชยราคาเนื้อสัตว์ปีกที่สูง เนื้อสัตว์ปีก และสุกรในประเทศจีนจะขาดตลาดในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ฟาร์มไก่พันธุ์ทั่วโลกจะลดลงในภูมิภาค เนื่องจาก การสั่งห้ามนำเข้าสัตว์ปีกพันธุ์ เนื่องจากโรคไข้หวัดนก ทั้งในจีน และตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาจได้เห็นราคาค้าสัตว์ปีกที่ดีดตัวขึ้น เนื่องจาก ราคาสุกรที่สูงในประเทศจีน   

แหล่งที่มา:          Meat &Poultry (10/9/15)

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

ฝรั่งเศส ผู้นำอียูเลี้ยงไก่อินทรีย์

จำนวนฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบอินทรีย์ในสหภาพยุโรปในปี พ.ศ.๒๕๕๗ มีเพียง ๒๘.๕ ล้านตัว เมื่อรวมเอาสัตว์ปีกที่ยังไม่อยู่ในสถิติแล้ว แนวโน้มจำนวนสัตว์ปีกอินทรีย์ในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบ ๖ เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้ ๑๒.๗๕ ล้านตัวเป็นสัตว์ปีกอินทรีย์ที่เลี้ยงในฝรั่งเศสที่อ้างว่า เป็นประเทศที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกอินทรีย์มากที่สุดโดยมีมากกว่า ๑๒.๗๕ ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ๘.๙ เปอร์เซ็นต์
รองลงมาได้แก่ เยอรมัน ที่ยังมีสถิติไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ ๔.๙๓ ล้านตัว และสหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ที่มีมากกว่า ๒.๓๕ ล้านตัว โดยเนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มสูงขึ้น ๘.๕ เปอร์เซนต์จากปี พ.ศ.๒๕๕๖ และสหราชอาณาจักรต่ำกว่าปีที่แล้ว ๓.๖ เปอร์เซ็นต์ อื่นๆ ได้แก่ เบลเยี่ยม เพิ่มขึ้น ๑๐.๕ เปอร์เซ็นต์ มีจำนวนสัตว์ปีก ๒.๐๙๘ ล้านตัว สวีเดน ๙ ล้านกว่าตัว เพิ่มขึ้น ๓.๘ ล้านตัว และโปแลนด์ประมาณ ๒.๕ แสนตัว เพิ่มขึ้น ๕.๖ เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ประเทศที่มีแนวโน้มลดลงในสัตว์ปีกอินทรีย์ ได้แก่ โรมาเนีย ลดลง ๒๒.๑ เปอร์เซ็นต์เป็น ๕๗,๗๙๗ ล้านตัว ลัตเวียลดลง ๑๐.๓ เปอร์เซ็นต์เป็น ๒.๔ หมื่นตัว ไซปรัสลดลง ๙.๘ เปอร์เซ็นต์เหลือแปดพันกว่าตัว เอสโทเนีย ๖ เปอร์เซ็นต์เหลือสองหมื่นกว่าตัว สโลวาเกีย ลดลง ๕.๓ เปอร์เซ็นต์เหลือ ๘,๒๕๐ ตัว และลิธัวเนีย ลดลง ๑.๒ เปอร์เซ็นต์เหลือ ๖,๑๗๐ ตัว บัลกาเรียไม่เปลี่ยนแปลง เพราะมีเพียง ๕๐๐ ตัว

แหล่งที่มา:          World Poultry (9/9/15)

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ข้าวโพดยุโรปลดจากคลื่นความร้อน

การผลิตข้าวโพดในสหภาพยุโรปปีนี้คาดการณ์ที่ ๖๒.๓ ล้านตันหายไปราว ๑๒.๙ ล้านตันจากสถิติการผลิตข้าวโพดเมื่อปีที่แล้วยอดรวม ๗๕ ล้านตัน
               สอดคล้องกับรายงานของ USDA ว่าด้วยการผลิตภาคการเกษตรโลก ผลผลิตข้าวโพดคาดการณ์ไว้ที่ ๖.๕๘ ตันต่อเฮกเตอร์ ต่ำกว่าเดือนที่แล้ว ๕.๒ เปอร์เซ็นต์ และต่ำกว่าปีที่แล้ว ๑๗ เปอร์เซ็นต์ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวม ๕ ปีที่ผ่านมา ๖๒ เปอร์เซ็นต์ พื้นที่การผลิตรวมประมาณ ๙.๕ ล้านเฮกเตอร์
                บทลงโทษจากธรรมชาติ ภายหลังคลื่นความร้อนเข้าสู่ยุโรปตะวันตกระหว่างเดือนมิถุนายน แล้วเคลื่อนเข้าสู่ตะวันออกในเดือนกรกฏาคม โดยเฉพาะยุโรปใต้ กลาง และตะวันออกเฉียงใต้ คลื่นความร้อนได้ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นกว่า ๓๕ องศาเซลเซียส ร่วมกับความแห้งของบรรยากาศทั่วไป โดยเฉพาะ เดือนกรกฏาคม ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับข้าวโพดในยุโรป เนื่องจาก ต้นข้าวโพดกำลังสร้างไหมข้าวโพด หรือก้านเกสรเพศเมีย (Silk) และช่อดอกเพศผู้ (Tassel) อุณหภูมิที่สูงเกินกว่า ๓๕ องศาเซลเซียสในช่วงที่เปราะบางเช่นนี้ได้สร้างปัญหาต่อการสร้างละอองเกสร รวมถึง ตอนใต้ของยุโรปมีระดับความชื้นของดินต่ำ ส่งผลให้ปริมาณข้าวโพด และขนาดเมล็ดเล็กลง
               ฝรั่งเศสเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวโพดรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปได้ออกรายงานการผลิตข้าวโพดระหว่างสองเดือนที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า ข้าวโพดมีปริมาณการผลิตลดลง โดยครึ่งหนึ่งของการผลิตมีผลผลิตแย่ลง เนื่องจากความร้อน คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตข้าวโพดในฝรั่งเศสจะต่ำลง ๐.๕ ถึง ๑๔ ล้านตัน เช่นเดียวกับอิตาลีก็มียอดการผลิตลดลงราว ๑ ถึง ๖.๒ ล้านตัน เนื่องจาก อากาศร้อนจัดทางตอนเหนือของเขตอุตสาหกรรม โพ วัลเลย์ เยอรมันยังมีฝนบ้างในช่วงเดือนกรกฏาคม ทำให้ผลผลิตอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ๐.๑๕ ล้านตัน
               หันมาทางฝั่งยุโรปตะวันออก โรมาเนียคาดว่าจะมีผลผลิตลดลงราว ๐.๙ ถึง ๙.๗ ล้านตัน เนื่องจากอากาศที่ร้อนกว่า ๓๕ องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่า ๒๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายนเป็นทางตอนใต้ของประเทศต้นมา และอากาศแห้งในทางตะวันตก ฮังการีมีผลผลิตต่ำลง ๐.๖ ล้านตัน เนื่องจาก อากาศร้อน และความแห้ง เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นโครเอเทีย บัลกาเรีย ออสเตรีย สำหรับประเทศนอกสหภาพยุโรปอย่างเซอร์เบียเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวโพดรายสำคัญในยุโรปเช่นกัน ปรากฏว่า ผลผลิตลดลงไป ๑ ล้านตันจากเมื่อเดือนที่แล้ว ๕.๗ ล้านตัน พื้นที่การผลิตข้าวโพดสำคัญของเซอร์เบียอยู่ในแถบ วอยโวดินา ทางตอนเหนือของประเทศ ประสบกับความแห้งที่สุดในรอบสามสิบห้าปีเมื่อเดือนกรกฏาคม  สำหรับประเทศอื่นๆนอกสหภาพยุโรป บอสเนีย และเฮอร์เซโกวินา คาดว่า มีผลผลิตลดลงจากเดือนที่แล้ว ๐.๖๕ ล้านตัน

แหล่งข้อมูล        Emmy Koeleman (14/7/15)

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กรดบิวไทริกช่วยลดอาหารในไก่

 ผลิตภัณฑ์กรดบิวไทริกสามารถช่วยลดปริมาณอาหารในไก่เนื้อได้ประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์โดยที่ไก่ยังมีการเจริญเติบโตได้ตามปรกติ จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยการเกษตรซานตง
               ผลิตภัณฑ์กรดบิวไทริกชื่อ ProPhorce SR ต่อสุขภาพของไก่เนื้อ พบว่า ช่วยให้ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน การวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงอัตราการเจริญเติบโตที่คงที่ โดยประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้สามารถเทียบได้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในยุโรป
               ศาสตราจารย์ยาง หัวหน้าโครงการวิจัยครั้งนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ผลิตสามารถลดปริมาณอาหารได้ราว ๒ เปอร์เซ็นต์เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์กรดบิวไทริกโดยที่มีอัตราการเจริญเติบโตต่อวันเหมือนเดิม ผู้วิจัยได้สังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นของความยาววิลไลประมาณ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหารที่ดีเป็นผลมาจากการพัฒนาของผนังลำไส้ที่แข็งแรง ดังนั้น ไก่จึงสามารถใช้อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น

แหล่งที่มา:          Emmy Koeleman (14/8/15)

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ข่าวดีสำหรับโรงเชือด หลอดแอลอีดีลดค่าไฟดี ฆ่าแบคทีเรียได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์ศึกษาการใช้หลอด LEDs สีฟ้า (Blue light emitting diodes) มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส เอสเชอริเชีย โคไล โอ ๑๕๗ เอช ๗ และซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม โดยมีประสิทธิภาพสูงที่สุดระหว่างอุณหภูมิ ๔ ถึง ๑๕ องศาเซลเซียส และมีสภาวะเป็นกรดอ่อนๆราว ๔.๕
               การวิจัยครั้งนี้เป็นการนำหลอด LEDs สีฟ้าสำหรับใช้ในการถนอมอาหารโดยปราศจากสารเคมี อาหารที่มีความเป็นกรด เช่น ผลไม้สดตัดแต่ง และเนื้อสัตว์พร้อมบริโภคสามารถนำมาผนอมอาหารภายใต้แสงไฟจากหลอด LEDs สีฟ้านี้ได้ ร่วมกับอุณหภูมิสำหรับทำความเย็น โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีที่นิยมกันมากสำหรับการถนอมอาหาร
               ขณะที่หลอด LEDs นิยมใช้กันในปัจจุบันมาก เนื่องจาก เป็นหลอดไฟที่ช่วยประหยัดพลังงาน แต่ยังไม่เป็นที่ทราบกันดีว่า มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย เซลล์แบคทีเรียประกอบด้วย องค์ประกอบภายในเซลล์ที่มีความสามารถในการดูดซับแสงในช่วงที่มองเห็นได้ที่สเปรคตรัมระหว่าง ๔๐๐ ถึง ๔๓๐ นาโนเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแสงหลอดไฟในช่วงแสงสีฟ้า การสัมผัสแสงสีฟ้าจากหลอด LEDs สามารถหยุดกระบวนการภายในเซลล์แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เซลล์แบคทีเรียตายได้
               ผลการศึกษาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียของหลอด LED มักประเมินประสิทธิภาพในตัวอย่างอาหาร หรือโดยใช้ระยะห่างที่ใกล้มากน้อยกว่า ๒ เซนติเมตรระหว่างสารละลายแบคทีเรีย และหลอด LED สภาวะดังกล่าวนี้ไม่เหมาะสำหรับใช้ในการถนอมอาหาร
               คณะผู้วิจัยนำโดย ผศ. Yuk Hyun-Gyun จากโปรแกรมวิทยาศาสตร์อาหาร และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ NUS เป็นคนแรกที่แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อการฆ่าเชื้อแบคทีเรียของหลอด LED ได้แก่ อุณหภูมิ และระดับ pH ของอาหาร โดยในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้เชื้อแบคทีเรียก่อโรค ได้แก่ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส เอสเชอริเชีย โคไล โอ ๑๕๗ เอช ๗ และซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม ภายใต้หลอดไฟ LEDs สีฟ้า โดยมี pH ที่ระดับต่างๆตั้งแต่กรดไปจนถึงด่าง ผลการวิจัย พบว่า เชื้อแบคทีเรียถูกฆ่าที่ระดับ pH ที่เป็นกรด และด่างมากกว่ากลาง โดยเฉพาะ สภาวะกรดมีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อได้มากกว่าด่างสำหรับเชื้อ  ล. โมโนไซโตจีเนส สำหรับเชื้อ เอสเชอริเชีย โคไล โอ ๑๕๗ เอช ๗ และซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม ให้ผลกลับกัน สภาวีทีเป็นด่างให้ผลได้ดีที่สุด แม้ว่า สภาวะที่เป็นกรดจะสามารถทำให้เชื้อหมดฤทธิ์ได้เช่นกัน ขั้นถัดไปสำหรับการวิจัยคือ การนำเทคโนโลยีหลอด LED มาใช้กับตัวอย่างอาหารจริง เช่น ผลไม้สดตัดแต่ง อาหารพร้อมรับประทาน หรืออาหารทะเลดิบ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เพื่อศึกษาต่อไปว่า หลอด LED ยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเหล่านี้ได้หรือไม่ โดยไม่ส่งผลต่อคุณภาพของสินค้า

แหล่งที่มา:          World Poultry (24/7/15)

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เตือนภัย!!! หวัดนกใหม่ H5N1 H5N6 ขยับเข้าเวียดนามแล้ว

เวียดนามยืนยันการระบาดโรคไข้หวัดนก ทั้งสับไทป์ H5N6 และ H5N1 พร้อมกัน ตามรายงานสองฉบับซ้อนเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฏาคมต่อ OIE โดยทั้งสองสับไทป์เป็นชนิดรุนแรง
               สำหรับสับไทป์ H5N6 ตรวจพบในไก่บ้าน ๖๐๕ ตัวในจังหวัด Nghe โดยมีไก่ตาย ๒๕๖ ตัวจากการติดเชื้อไวรัส ขณะที่ทำลายทั้งหมด ๓๔๙ ตัว เชื้อไวรัสหน้าใหม่ตัวนี้พึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อชาวจีนวัย ๓๗ ปีในจังหวัดยูนาน เสียชีวิตไป ๑ ราย เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฏาคมที่ผ่านมานี้เอง ความจริงเชื้อไวรัสสับไทป์นี้ เริ่มพบครั้งแรกใกล้บ้านเรานี้เองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ หลังจากนั้น เชื้อไวรัสก็วนเวียนอยู่ในลาว และเวียดนาม โดยเฉพาะจีนช่วงเดือนเดียวกัน และเป็นเดือนที่มีผู้ป่วย และเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้เป็นรายแรก และแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในจีนช่วงปลายปี โดยมีรายงานการระบาด ๒๔ ครั้งใน ๑๒ จังหวัดของประเทศ องค์การอนามัยโลกจึงได้เตือนภัย H5N6 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้       
               สำหรับสับไทป์ H5N1 หน้าเดิมตรวจพบในไก่บ้าน ๓๐๐ ตัวในจังหวัด Vinh Long โดยมีไก่ตาย ๑๑๗ ตัว และทำลายอีก ๑๘๓ ตัว
               ทั้งสองพื้นที่ได้มีการฆ่าเชื้อ และกำหนดโซนป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม OIE อ้างว่า ยังไม่สามารถระบุต้นตอของการติดเชื้อทั้งสองฟาร์มได้ ต้องรอให้กรมปศุสัตว์เวียดนามรายงานความก้าวหน้ารายสัปดาห์อย่างใกล้ชิด

แหล่งที่มา:          WHO (2014); WATTAg.Net.com (24/7/15)

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ไก่ติดซัลโมฯหลายสายพันธุ์ได้พร้อมกัน

นักศึกษาปริญญาโทจากสหรัฐฯ วิจัยการแพร่ซัลโมเนลลาในฟาร์ม เพื่อหาวิธีการป้องกัน แม้ว่า ซัลโมเนลลาจะเป็นที่รู้จักกันมานานแสนนานในฐานะของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ แต่วิธีการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียภายในฟาร์มสัตว์ปีกยังทราบกันน้อยมาก
               Yichao Yang ภาควิชาวิทยาศาสตร์สัตว์ปีก มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ ทำการการวิจัยครั้งนี้โดยมุ่นเน้นไปที่การต่อภาพที่ชัดเจนของการแพร่กระจายเชื้อซัลโมเนลลาเข้าสู่ตัวไก่ เพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อซัลโมเนลลาตั้งแต่ระยะแรก และสร้างความมั่นใจต่อการผลิตสัตว์ปีก Yang ได้ใช้แบคทีเรียที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อให้สามารถติดตามการแพร่กระจายของเชื้อจากไก่สู่ไก่ และพบสิ่งที่แตกต่างจากผลการวิจัยที่ผ่านมาคือ ไก่สามารถติดเชื้อซัลโมเนลลาหลายสายพันธุ์ได้ในเวลาเดียวกัน
               การสอบย้อนกลับเชื้อซัลโมเนลลาทั่วทั้งฟาร์ม Yang ได้สร้างเชื้อซัลโมเนลลา ๖ ตัวอย่างที่มีการติดฉลากเครื่องหมายทางพันธุกรรมแตกต่างกันโดยการแรนดอมนิวคลีโอไทด์ ๖ ชนิดลงในโครโมโซมของ ซัลโมเนลลา เอนเทอไรทิดิส ที่เป็นสายพันธุ์ที่สำคัญสำหรับการก่อโรคอาหารเป็นพิษ หลังจากนั้น การสอบย้อนกลับการแพร่กระจายเชื้อก็อาศัยนิวคลีโอไทด์ที่ใส่ไว้แต่ละตัวอย่าง
               การทดลองแรกให้เชื้อซัลโมเนลลากับลูกไก่ทางปาก การทดลองที่สองให้เชื้อซัลโมเนลลาขนาดสูงเติมลงไปในน้ำ และการทดลองที่สาม นำเชื้อซัลโมเนลลาเติมลงในอาหารสัตว์ที่ขนาดต่ำ และสูง
               การติดเชื้อผสมหลายชนิด (Mixed infection) จากการวิจัยพบเชื้อซัลโมเนลลาหลายสายพันธุ์ภายหลังให้เชื้อซัลโมเนลลาขนาดสูงกับลูกไก่ เมื่ออายุ ๑๔ วัน สามารถพบเชื้อซัลโมเนลลาในลูกไก่ได้ทุกสายพันธุ์ นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มากเหนือความคาดหมายของนักวิจัย เนื่องจาก ทฤษฏีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายเชื้อซัลโมเนลลาเรียกว่า ทฤษฏีการยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อ (Colonization inhibition theory) กล่าวว่า หากมีเชื้อซัลมเนลลาสายพันธุ์หนึ่งติดเชื้อในลูกไก่แล้ว สายพันธุ์ที่สองจะไม่สามารถติดต่อสู่ลูกไก่ต่อไปได้ แสดงว่า ยังมีกลไกที่ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวข้องด้วย  

แหล่งที่มา:          Rosie Burgin (20/7/15)

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คานาดามุ่งมั่นวิจัยเลิกใช้ยาปฏิชีวนะเลี้ยงสัตว์ปีก

มหาวิทยาลัยในคานาดากำหนดเป้าหมายพัฒนา และวิจัยเทคโนโลยีใหม่ในการนำส่งสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันทางอากาศให้กับไก่เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ
โครงการวิจัยนี้มีงบประมาณ ๑๒ ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลคานาดา เพื่อพัฒนาทางเลือกใหม่ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกของคานาดา โดยจะเป็นการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในไก่ ช่วยให้ผู้ผลิตสัตวปีกในคานาดามีทางเลือกที่มีประสิทธิภาพต่อการจัดการสุขภาพในฟาร์ม งานวิจัยที่น่าตื่นเต้นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการภาคอุตสาหกรรมเกษตรของคานาดาให้มีความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต

แหล่งที่มา:          Rosie Burgin (20/7/15)

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เล็งเลิกใช้วัคซีน ปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านโรค

การพัฒนาปรับปรุงพันธุกรรมสัตว์ให้มีความต้านทานต่อโรคเป็นวิธีการควบคุมปัญหาโรคในสัตว์ปีกอย่างยั่งยืน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ศูนย์วิทยาศาสตร์ชีวภาพฟื้นฟู วางแผนโครงการวิจัยใช้เวลาสี่ปีเพื่อรวบรวมข้อมูลด้านพันธุกรรมสัตว์ปีก
               คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย สตีเวน สติส และแฟรงกิน เวสต์ ในวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การเกษตร และสิ่งแวดล้อม และคลอดิโอ อาฟองโซ แห่งห้องปฏิบัติการวิจัยสัตว์ปีกภาคพื้นตะวันออกเฉียงใต้แห่ง USDA ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า shRNA (Short hairpin RNA) เป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยวที่มีการพับกลับตัวเอง เพื่อหยุดการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิกที่เป็นสาเหตุของโรค เช่น นิวคาสเซิล เนื่องจาก โรคนิวคาสเซิลเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วโลก และมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสอันตรายร้ายแรงต่อสัตว์ ปัจจุบัน โรคนิวคาสเซิลชนิดรุนแรง ได้ถูกกำจัดออกจากสหรัฐฯ และคานาดาแล้ว เหลือเพียงเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลชนิดอ่อนแรงที่นำมาใช้เป็นวัคซีน
               วิธีการที่ดีกว่าวัคซีนในการป้องกันโรค คณะผู้วิจัยกำลังพยายามหาเครื่องมือสำหรับสร้างความต้านทานต่อโรคโดยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the International Alliance for Biological Standardization นับได้ว่าเป็นหนทางที่มีโอกาสมากสำหรับการป้องกันโรคนอกเหนือจากการใช้วัคซีน เนื่องจาก การสร้างความต้านทางทางพันธุกรรมอย่างถาวรนี้สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ ในทางตรงกันข้าม วัคซีนส่วนใหญ่สามารถป้องกันโรคได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และจำเป็นต้องมีการกระตุ้นซ้ำอย่างต่อเนื่อง
               ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยสามารถกำหนดเป้าหมายไปยังตำแหน่งยีนส์ที่เชื้อไวรัสนิวคาสเซิลใช้สำหรับการดำรงชีวิต การป้องกันเชื้อไวรัสนี้จึงเป็นการควบคุมการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสในร่างกายไก่ และลดระดับของการถ่ายทอดเชื้อไวรัสโดยภาพรวมจากไก่ตัวหนึ่งสู่อีกตัวหนึ่ง ในอนาคตข้างหน้า อาจไม่จำเป็นต้องให้วัคซีนนิวคาสเซิลอีกแล้ว  และในอนาคต ผู้วิจัยยังเล็งไว้ว่า จะนำไปใช้สำหรับโรคไข้หวัดนก และไข้หวัดสุกรต่อไปอีกด้วย  ยิ่งมองไปที่ปัญหาการเก็บรักษาวัคซีนในประเทศยากจน ผู้เลี้ยงสัตว์อาจไม่มีตู้เย็นสำหรับการเก็บวัคซีน แต่ไก่เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านสามารถใช้บริโภคเพื่อสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง ในทางตรงกันข้าม การผลิตไก่ที่มีความต้านทานโรคผลิตใน US อาจเป็นหนทางการไขปัญหาโรคระบาดในประเทศยากจนเหล่านี้ แต่การวิจัยยังต้องใช้เวลาไปอีกหลายปี

แหล่งที่มา:          World Poultry (7/7/15)

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แอโรสคาลเดอร์ ชูรางวัลสิ่งประดิษฐ์ใหม่

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นนวัตกรรมสำหรับระบบการลวก และถอนขนไก่ที่ประหยัดน้ำลง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ และพลังงาน ๕๐ เปอร์เซ็นต์พัฒนาโดย Marel Stork Poulry Processing ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ทางอาหาร “Food Valley Award” จากเนเธอร์แลนด์
                สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นนวัตกรรมสำหรับระบบการลวกขน เพื่อให้ขนของไก่นิ่มลง พร้อมสำหรับการดึงขนออก เรียกว่า แอโรสคาลเดอร์ (AeroScalder) สามารถประหยัดน้ำลงได้ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ และประหยัดพลังงานลงได้จากเดิม ๕๐ เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการใช้น้ำร้อนลวก โดยระบบใหม่นี้จะใช้ไออากาศร้อนในการทำให้ขนนิ่มลง ไก่จะถูกแขวนมาตามสายพานลำเลียง แล้วผ่านหัวฉีดที่จะปล่อยไอร้อนสู่ขนไก่ภายในตู้ปิด หลังจากนั้น ไอร้อนยังหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อีก เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นระบบปิด และควบคุมแบบอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์แบบ  
               นอกเหนือจากช่วยให้มีการใช้น้ำ และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แอโรสคาลเดอร์ ยังช่วยให้สินค้าที่ได้ถูกถอนขนอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนลงได้ โดยทุกกระบวนการการยังสร้างความเชื่อมั่นว่า ไก่ทุกตัวที่ผ่านเข้าเครื่องจะเข้าสู่กระบวนการเหมือนกันอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากนั้น ยังลดกลิ่นลงได้อีกด้วย ปัจจุบัน ระบบแอโรคสคาลเดอร์ได้ติดตั้งในหลายประเทศทั่วโลก
               สำหรับรางวัล Food Valley Award เป็นรางวัลประจำปีที่จัดขึ้นโดย Food Valley NL ใน Wageningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยส่งเสริมให้มีการผลิตนวัตกรรมใหม่โดยความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ สถาบันวิจัย และรัฐบาล นอกเหนือจากรางวัลสำหรับเครื่องระบบการถอนขนไก่แล้ว ยังมีรางวัลอื่นๆ ได้แก่ กาแฟแคปซูล โดยบริษัท Peeze และเทคโนโนโลยีการสกัดเปกตินจากเมล็ดกาแฟโดยบริษัท Pectocof ตามลำดับ
แหล่งที่มา:          Emmy Koeleman (8/7/15)


วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หวัดนก H7N7 ระบาดในอังกฤษ

โรคไข้หวัดนกสับไทป์ H7N7 ระบาดใน Preston ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ นังเป็นรายแรกนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา จึงมีการทำลายสัตว์ปีกไปแล้ว ๑๒๐,๐๐๐ ตัว และไก่เลี้ยงอิสระ ๕๐,๐๐๐ ตัว นับตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงเช้าวันจันทร์
กำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง ๑๐ กิโลเมตร และพื้นที่ป้องกันโรค ๓ กิโลเมตร สัตว์ปีกทุกตัวภายในพื้นที่เฝ้าระวังโรค ๑๐ กิโลเมตรโดยรอบห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายทั้งสัตว์ปีก นก หรือไข่ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อเพิ่มเติม อัตราการตายในบางฟาร์มสูงถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ในไก่เลี้ยงอิสระ ขณะที่ สัตว์ปีกที่เลี้ยงในฟาร์มอัตราการตายไม่สูงมากเพียง ๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น   
               ก่อนหน้านี้ที่มีการระบาดใน Yorkshire และ Hampshire เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อังกฤษประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคไว้ได้ ทำให้มาตรการที่เข้มงวดถูกถอนออกในเวลาอันรวดเร็ว ถึงตอนนี้มาตรการควบคุมโรคจำเป็นต้องนำกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดนับตั้งแต่การควบคุมการเคลื่อนย้าย และการทำลายสัตว์ที่ฟาร์ม ในเวลานั้น รัฐบาลอังกฤษ Defra ได้ยืนยันว่าการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงต่ำ (LPAI) ในฟาร์มไก่พันธุ์ที่ Hampshire ขณะเดียวกัน สมาคมผู้ผลิตไก่ไข่ปล่อยอิสระในอังกฤษ (Bfrepa) ก็ได้เรียกร้องให้จำกัดการเลี้ยงสัตว์ปีกที่อยู่ภายในพื้นที่ ๕๐ กิโลเมตรรอบเขตโรคระบาดให้เก็บสัตว์ไว้ภายในโรงเรือน

แหล่งที่มา:          Ruud Peys (13/7/15)

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จีนเปิดตัวไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H5N9 แล้ว

นักวิจัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีนวิเคราะห์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เก็บจากตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต กล่าวว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ H5N9 ที่เกิดจากการผสมระหว่างเชื้อไวรัส H5N1 ในสัตว์ปีก และ H7N9 ในมนุษย์
               ศูนย์วิจัย และนโยบายโรคติดเชื้อ (CIDRAP) จากมหาวิทยาลัยมินิโซตา รายงานว่า นักวิจัยชาวจีนได้วิเคราะห์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เก็บได้จากตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ H5N9 ที่เกิดจากการผสมกันระหว่างเชื้อไวรัส H5N1 และ H7N9 โดยผู้วิจัยได้นำตัวย่างในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ จากไก่ นกกระทา และเป็ด ๗ ตัวในตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ๒ แห่งในจังหวัดเจิ้งเจียงที่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อ H7N9 อ้างตามรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Virology เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายนที่ผ่านมา ตามรายงานไม่ได้ระบุว่า มีสัตว์ปีกป่วยอยู่ด้วยหรือไม่
               นักวิจัยสามารถแยกเชื้อไวรัส ๑๓ ตัวอย่าง ได้แก่ H5N1 ๑ ตัวอย่าง H5N9 ๒ ตัวอย่าง H9N2 ๔ ตัวอย่าง และ H7N9 ๖ ตัวอย่าง โดยการวิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส H5N9 ทั้ง ๒ ตัวอย่าง พบว่า โปรตีนฮีแมกกลูตินินตรงกับ H5N1 ที่แยกได้ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ จากเวียดนาม ขณะที่โปรตีนนิวรามินิเดสพัฒนามาจาก H7N9 จากมนุษย์ที่แยกได้จากเมืองหางโจว นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังสังเกตว่า โครงสร้างบริเวณคลีเวจไซต์ของ H มีลักษณะที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงสูง ส่วนยีนส์ชนิดอื่นๆอีก ๖ ท่อนคล้ายคลึงกับ H5N1, H7N9 และ H9N2
               ความรุนแรงของเชื้อไวรัสใหม่นี้ได้ทำการทดสอบในหนูทดลองด้วยปริมาณไวรัสหลากหลายขนาด หนูทดลองบางตัวที่ได้รับเชื้อไวรัสขนาดสูงตาย แต่หากได้รับปริมาณต่ำก็จะไม่แสดงอาการป่วย แสดงว่า เชื้อไวรัสยังคงก่อโรคได้ต่ำในหนูทดลอง ผู้วิจัยยัพบว่า เชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจายจากหนูที่ติดเชื้อไปยังหนูตัวอื่นได้ เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ H5N9 ยังชอบตัวรับของเซลล์จากสัตว์ปีกที่เรียกว่า กรดซัยอะลิก อัลฟา ๒, ๓ มากกว่าตัวรับของเซลล์จากมนุษย์ที่เรียกว่า อัลฟา ๒, ๖ ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายได้ว่า ทำไมเชื้อไวรัสจึงยังทำให้หนูทดลองมีอัตราการตายต่ำ
               ตลาดค้าขายสัตว์ปีกมีชีวิตจึงยังเป็นแหล่งสำคัญสำหรับการแพร่กระจายไปยังมนุษย์ และอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก ความจริงแล้ว เชื้อไวรัสชนิดรุนแรงสูง H5N9 เคยถูกแยกได้จากไก่งวงในออนตาริโอ และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก็เคยพบในเป็ด และนกน้ำตามธรรมชาติ โดยเคยพบบ้างเป็นบางครั้งในไก่ แต่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แยกได้ในครั้งนี้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นผลมาจากการรีแอสซอร์ทจากเชื้อไวรัสทั้ง H5N1, H7N9 และ H9N2     

แหล่งที่มา:          World Poultry (26/6/15)

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ซัลโมระบาดสหรัฐฯเหตุจุมพิตลูกไก่

ซัลโมเนลลาระบาดใน ๔๐ รัฐในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วย ๑๘๑ ราย ทุกรายมีความสัมพันธ์กับการสัมผัสลูกไก่ และลูกเป็ดมีชีวิตที่ซื้อมาจากร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ และโรงฟัก ตามรายงานของกรมควบคุมโรค
               ผู้ติดเชื้อ ๓๓ รายต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยรัฐอลาบามามีผู้ป่วยมากที่สุด ๑๗ ราย ขณะที่ รัฐอื่นๆมีน้อยกว่า ๑๐ ราย การป่วยเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๖ มกราคมถึง ๑๓ มิถุนายนที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคยังรายงานต่อไปว่า ในผู้ติดเชื้อ ๑๘๑ รายนี้ แบ่งการระบาดออกเป็น ๔ กลุ่มจากซีโรไทป์ของเชื้อซัลโมเนลลา ได้แก่ เอนเทอไรทิดิส ฮาดาร์ อินเดียนา และมึนเช่น
               ในจำนวนผู้ติดเชื้อเหล่านี้ มีการสอบประวัติที่ผ่านมา ๙๕ ราย พบว่า ๘๖ เปอร์เซ็นต์ มีประวัติการสัมผัสกับสัตว์ปีกก่อนแสดงอาการป่วย และ ๖๔ รายมีการซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ปีกจากร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ และโรงฟัก ๑๗ ร้านในรัฐต่างๆ  ผู้ป่วยรายงานว่า ได้ซื้อสัตว์ปีกมีชีวิตสำหรับเลี้ยงไว้หลังบ้าน เพื่อผลิตไข่ หรือเนื้อ หรือเป็นสัตว์เลี้ยง ผู้ป่วยหลายรายมีประวัตินำสัตว์ปีกมีชีวิตเข้ามาในบ้าน และจูบ หรือนอนกอดสัตว์ปีกมีชีวิต พฤติกรรมเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซัลโมเนลลา หากการแยกเชื้อซัลโมเนลลาจากผู้ป่วย ๗ รายที่ติดเชื้อด้วยซัลโมเนลลาที่มีรายงานการระบาด และไม่มีการดื้อยาปฏิชีวนะก้จะมีการทดสอบในขั้นตอนต่อไป กรมควบคุมโรคได้อาศัยระบบ PulseNet system เป็นเครือข่ายของห้องปฏิบัติการที่มีการรวบรวมฐานข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็นเอของเชื้อโรคชนิดต่างๆ เพื่อสอบกลับการระบาดของเชื้อซัลโมเนลลาทั้ง ๔ ครั้งที่ผ่านมา สรุปข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
๑.     เชื้อซัลโมเนลลา เอนเทอไรทิดิส มีผู้ป่วย จำนวน ๔๐ รายใน ๑๖ รัฐ เข้าโรงพยาบาล ๓ ราย ระยะเวลาการป่วย ๖ มกราคมถึง ๑๓ มิถุนายน
๒.     เชื้อซัลโมเนลลา ฮาดาร์ มีผู้ป่วย จำนวน ๖๙ รายใน ๓๐ รัฐ เข้าโรงพยาบาล ๑๙ ราย ระยะเวลาการป่วย ๒๔ กุมภาพันธ์ถึง ๑๑ มิถุนายน
๓.    เชื้อซัลโมเนลลา อินเดียนา มีผู้ป่วย จำนวน ๕๖ รายใน ๑๖ รัฐ เข้าโรงพยาบาล ๙ ราย ระยะเวลาการป่วย ๒๐ กุมภาพันธ์ถึง ๑๑ มิถุนายน
๔.    เชื้อซัลโมเนลลา มึนเช่น มีผู้ป่วย จำนวน ๑๖ รายใน ๘ รัฐ เข้าโรงพยาบาล ๒ ราย ระยะเวลาการป่วย ๔ เมษายนถึง ๕ มิถุนายน
ดังนั้น การจำหน่ายสัตว์ปีกมีชีวิตควรให้ข้อมูลด้านสุขภาพด้วย โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเชื้อซัลโมเนลลาให้กับผู้ซื้อก่อนที่จะขายออกไป กรมควบคุมโรคยังได้เตือนให้ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกหลังบ้านควรล้างมือให้ทั่วภายหลังการสัมผัสสัตว์ หรือเข้าไปในพื้นที่การเลี้ยง กรมควบคุมโรคยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อปีที่แล้วมีผู้ป่วย ๓๖๓ รายใน ๔๓ รัฐที่ติดเชื้อซัลโมเนลลาจากการซื้อสัตว์ปีกผ่านทางไปรษณีย์จากโรงฟักในโอไฮโอ


 แหล่งที่มา:         World Poultry (3/7/15)

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

USDA รับรองแอดจูแวนท์ใหม่

USDA ได้รับรองความปลอดภัยของแอดจูแวนท์ใหม่พร้อมใช้ที่ชื่อว่า ENABL เป็นครั้งแรกสำหรับใช้ในไก่ การรับรองให้ใช้ต้องมีระยะหยุดยา ๒๑ วัน กรณีที่มีการให้วัคซีนใต้ผิวหนังเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค
               การพัฒนาแอดจูแวนท์ใหม่สำหรับใช้ในสัตว์ปีกที่กำหนดให้มีระยะหยุดยาเพียง ๒๑ วันสำหรับวัคซีนที่ผลิตให้กับสัตว์ที่เลี้ยงเป็นอาหารตามข้อกำหนดของ USDA ถือว่าสั้นมาก ดังนั้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการใช้วัคซีนโดยเฉพาะการศึกษาระยะหยุดยาที่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดอย่างเข้มงวด
               การรับรองแอดจูแวนท์ชนิดใหม่ครั้งนี้มีทั้งหมด ๓ ชนิดทำให้สูตรของแอดจูแวทน์ชนิด ENABL ที่ USDA ให้การับรองรวมเป็น ๑๓ ชนิด ซึ่งรวมวัคซีนในโคอีก ๕ ชนิด และสุกรอีก ๕ ชนิด ดังนั้น นักวิจัยก็จะมีทางเลือกสำหรับการพัฒนาวัคซีนใหม่ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในไก่ได้มากกว่าเดิม การเพิ่มความหลากหลายของสูตร ENABL ที่พร้อมใช้งานก็จะทำให้บริษัทมีทางเลือกได้ดีขึ้นอีกด้วย
แหล่งที่มา:          World Poultry (2/7/15)


วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

WHO เตือนจีนตายหวัดนก H7N9 ๓ ราย

WHO รายงานว่า จีนได้ยืนยันมีผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้หวัดนก H7N9 โดยสามรายใน ๑๕ รายเสียชีวิตแล้ว โดยผู้ป่วยบางรายมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก

               WHO เผยว่า ห้องปฏิบัติการในจีนได้ยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้หวัดนก H7N9 โดยพบผู้ป่วยใน ๗ จังหวัด ได้แก่ Anhui, Zhejiang มีผู้ติดเชื้อ ๔ ราย Jiangsu มีผู้ป่วย ๓ ราย และปักกิ่ง ฟูเจียน และเจียงซีมีอย่างละ ๑ ราย ตอนนี้ รัฐบาลจียได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังโรคเพิ่มขึ้น WHO อ้างว่า ยังมีผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ H7N9 อีกหลายรายในพื้นที่โรคระบาด และบริเวณใกล้เคียง หากผู้ป่วยเหล่านี้เดินทางไปต่างประเทศ การติดเชื้อก็อาจถูกตรวจพบในประเทศอื่นๆได้ หากเกิดขึ้นแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาทบทวนการควบคุมโรคระหว่างประเทศ แม้ว่า เชื้อไวรัสนี้จะดูเหมือนว่า ไม่สามารถถ่ายทอดจากคนสู่คนได้ก็ตาม  
แหล่งที่มา:        WHO (19/6/15)

จีน และอิสราเอลเผชิญหวัดนก H5N1

รายงานโรคระบาดโรคไข้หวัดนกสับไทป์ H5N1 ในประเทศจีน และอิสราเอล ส่งผลให้มีสัตว์ปีกติดเชื้อไปแล้ว 15,000 และ 17,000 ตัว ตามลำดับ อ้างอิงตามรายงานโรคของ OIE
ในประเทศจีน เชื้อไวรัสได้โจมตีนกสวยงามในจังหวัดเจียงสูทางตะวันออกของประเทศ และฟาร์มเลี้ยงไก่ จำนวน 12,554 ตัวในจังหวัดกุ้ยโจวทางตอนใต้ของประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานโรคไปยัง OIE เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย ฟาร์มขนาดเล็ก 2,149 ตัวตายไป 1,858 ตัวขณะที่ฟาร์มขนาดใหญ่มีไก่จำนวน 4,615 ตัว และตายไป 3,800 ตัว โดยสัตว์ที่เหลืออยู่ได้ถูกทำลายลงแล้ว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายขอโรค การระบาดเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 และ 9 มิถุนายน ตามลำดับ มาตรการควบคุมโรคได้แก่ การควบคุมสัตว์พาหะตามธรรมชาติ และการฆ่าเชื้อพื้นที่ติดเชื้อ ปัจจุบัน ประเทศจีนรายงานโรค H5N1 ตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

แหล่งที่มา:          World Poultry (26/6/15)

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

POOR BIOSECURITY! เหตุหวัดนกระบาดใน US

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่แย่ และการติดเชื้อทางอากาศมีบทบาทสำคัญต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกความรุนแรงสูงในสหรัฐฯ
หน่วยตรวจสอบสุขภาพสัตว์ และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service, APHIS) รายงานโรคไข้หวัดนกที่ส่งผลกระทบต่อไก่ในสหรัฐฯมากกว่า ๔๗ ล้านตัว ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มไก่ไข่ และไก่งวง นับตั้งแต่วิกฤติการณ์เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากการสอบสวนโรคมากกว่า ๘๐ ฟาร์ม APHIS วิเคราะห์ปัญหาการแพร่กระจายของโรคจากเชื้อไวรัสได้หลายวิธี โดยเฉพาะ ข้อบกพร่องของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม นกป่าเป็นพาหะสำคัญในการนำโรค HPAI หลังจากนั้น โรคก็แพร่กระจายต่อไป เช่น การใช้อุปกรณ์การเลี้ยงร่วมกันระหว่างฟาร์มที่ติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ การเคลื่อนที่ของพนักงานระหว่างฟาร์ม ไม่ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อยานพาหนะที่ปฏิบัติงานระหว่างฟาร์ม มีรายงานหนู หรือนกป่าขนาดเล็กภายในโรงเรือน
               การวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศที่เก็บภายนอกโรงเรือนที่ติดเชื้อยังสามารถพบเชื้อไวรัสได้ บ่งชี้ว่า ไวรัสมีการแพร่กระจายผ่านอากาศ มีความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วลมสูง และการเพิ่มขึ้นของฟาร์มที่ติดเชื้อหลังจากนั้นราว ๕ วัน ดังนั้น USDA จึงร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ และฟาร์มเลี้ยงไก่ในการกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพให้เข้มงวดขึ้น

แหล่งที่มา:          Philip Clarke (17/6/15)

วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กรดใน GI ทำให้เกิด Metabolic acidosis

อาหารตะวันตกมีผลไม้ และผักน้อย แต่อุดมไปด้วยผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ จึงเกิดการสะสมของสารประจุบวกที่ไม่สามารถเมตาโบไลซ์ได้ (Non-metabolizable anions) และเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเป็นกรดภายในร่างกาย (Metabolic acidosis) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามวัย เนื่องจาก การทำงานของไตที่มีประสิทธิภาพลดลง เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสภาวะความเป็นกรดในร่างกาย ไตจึงพยายามใช้กลไกชดเชยเพื่อรักษาความสมดุลของกรด และเบส เช่น การขับสารประจุบวกที่ไม่สามารถเมตาโบไลซ์ได้ การอนุรักษ์ซิเตรต และการส่งเสริมให้สร้างแอมโมเนียจากไต รวมถึง การขับไอออนของแอมโมเนียมออกทางปัสสาวะ กระบวนการปรับตัวเหล่านี้ส่งผลให้ pH ลดลงอีก และเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบปัสสาวะ รวมถึง ภาวะซิเตรตในปัสสาวะต่ำ (Hypocitraturia) แคลเซียมในปัสสาวะสูง (Hypercalciuria) และมีการสูญเสียไนโตรเตน และฟอสเฟตออกมากขึ้น ระดับ pH ในปัสสาวะที่ต่ำลงยังเป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิดการสร้างก้อนนิ่วของกรดยูริกเพิ่มขึ้นอีกด้วย  
ภาวะซิเตรตในปัสสาวะต่ำ และภาวะแคลเซียมในปัสสาวะสูง เป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงสำหรับการโรคนิ่วจากแคลเซียม แม้ว่าจะมีระดับความเป็นกรดในเลือดเล็กน้อยก็ยังสามารถเหนี่ยวนำให้กล้ามเนื้อลายดื้อต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลิน และปริมาณกรดในอาหารยังมีความสำคัญต่อการทำนายความผิดปรกติของระบบเมตาโบลิซึม และความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดในประชากร ผู้ที่น้ำหนักเกิน และอ้วน เบาหวาน และไตล้มเหลวเรื้อรัง
ปริมาณอาหารที่มีความเป็นกรดสูงยังส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน และความดันสูง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดอื่นๆอีกด้วย

ผลการศึกษาเร็วๆนี้ ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างภาวะดื้ออินซูลิน และเครื่องหมายบ่งชี้ความเป็นกรดในร่างกาย รวมถึง ไบคาร์โบเนตในซีรัมต่ำ ภาวะซิเตรตในปัสสาวะต่ำ และ pH ในปัสสาวะต่ำ เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

H5N1 ระบาดในไก่บ้านอิหร่าน

อิหร่านรายงานการระบาดโรคไข้หวัดนก H5N1 ในไก่บ้านทางตอนเหนือของประเทศ
               การระบาดเริ่มต้นขึ้นในเมือง Nogardan ในจังหวัด Mazandaran ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เชื้อไวรัสได้สังหารไก่ที่มีความไวรับต่อโรคไปทั้งหมด 25 ตัว ที่เหลืออีก 8 ตัว ถูกทำลายเรียบร้อยแล้ว OIE อ้างถึงรายงานจากกระทรวงเกษตรแห่งอิหร่านว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังค้นหาแหล่งต้นตอของการระบาด

แหล่งที่มา:          World Poultry (17/6/15)

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การใช้กรดซิตริกในอาหารไก่เนื้อ

กรดอินทรีย์ และเกลือของกรดอินทรีย์ ได้รับรองจากกฏหมายยุโรปให้เป็นทางเลือกทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะเร่งการเจริญเติบโตในอาหาร เนื่องจาก ยาปฏิชีวนะส่งผลต่อปัญหาสารตกค้าง และยังมีโอกาสพัฒนาเป็นเชื้อโรคดื้อยาได้อีกด้วย
กรดซิตริก (Citric acid) เป็นกรดอินทรีย์ที่มีความเป็นกรดเล็กน้อย นิยมใช้ในการถนอมอาหารจากธรรมชาติ และสามารถนำมาเติมในอาหาร เพื่อเพิ่มความเป็นกรด หรือรสชาติเปรี้ยวของอาหาร และเครื่องดื่ม นอกจากนั้น ยังพบได้ปริมาณเล็กน้อยในอาหาร และผัก กลุ่มซิตรัส เชื้อรากลุ่มเพนิซิลเลียม และแอสเปอร์จิลลัส ไนเกอร์ เป็นผู้ผลิตกรดซิตริกที่มีคุณภาพ และนิยมใช้ในการผลิตกรดซิตริกในเชิงอุตสาหกรรม การเติมเชื้อเหล่านี้ในอาหารสัตว์ สามารถลดการเชื้อโรค และการสร้างสารพิษ เพิ่มการใช้ได้ของโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และสังกะสี และยังเป็นสับสเตรตสำหรับกระบวนการเมตาโบลิซึมของร่างกายอีกด้วย การเติมกรดซิตริกลงในน้ำดื่มไม่ได้ทำให้ผลการเลี้ยงดีขึ้น แต่การใช้ระดับต่ำๆจะช่วยในด้านสุขอนามัย และสุขภาพของลำไส้
การเติมกรดซิตริกในอาหารระดับ ๐.๕ เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้การเจริญเติบโตดีขึ้น และส่งเสริมภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ รวมถึง ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะต่อโรคนิวคาสเซิลในไก่ที่ให้วัคซีน ข้อมูลในปัจจุบัน แนะนำให้ผสมในอาหารเม็ดของไก่เนื้อ ไม่เกิน ๐.๗๕ เปอร์เซ็นต์ และอาหารผง ๐.๕ เปอร์เซ็นต์ โดยมีระดับความปลอดภัยที่ ๖ เปอร์เซ็นต์ ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมก่อนที่จะกำหนดให้กรดซิตริกเป็นสารโภชนะที่เติมในอาหารไก่เนื้อ

แหล่งที่มา:          K.M.S. Islam (27/2/12)

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...