วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คนงามเพราะแต่งกาย ตีนไก่งามได้เพราะฟักไข่ดี

You are what you read” ฉันใดสำหรับนักอ่าน “You are what you eat” แสลงใจคนอ้วน แต่กับลูกไก่แล้ว “You are what you hatch” ฉันนั้นเช่นกัน ความผิดปรกติที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิตเป็นผลผลิตจากต้นน้ำตั้งแต่โรงฟักย้อนกลับไปถึงแม่ไก่ คราวก่อนพูดถึงงานประชุมอภิปรายจากเท้าสู่เนื้อ ชื่องานประชุมช่างน่าประทับใจชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของตีนไก่ (เท้า) เสียเหลือเกิน บทความวิจัยฉบับนี้จะแสดงให้เห็นอิทธิผลของอุณหภูมิฟักต่อผลผลิต และปัญหาฝ่าเท้าอักเสบ (Foot pad dermatitis, FPD) ฟักไข่ให้ดี ตีนไก่จะงามได้ครับ
การทดลองประเมินผลของการใช้อุณหภูมิฟัก 2 รูปแบบ และแร่ธาตุ 2 แห่งต่อผลผลิต และการเกิดฝ่าเท้าอักเสบในไก่พันธุ์ Ross 708 โดยนำไข่ฟักจำนวน 1,000 ฟองจากไก่พันธุ์อายุ 29 สัปดาห์ที่บ่มด้วยระบบอุณหภูมิ 2 แบบ ได้แก่ แบบมาตรฐาน (S) ใช้อุณหภูมิที่เปลือกไข่ 37.8 ± 0.2°C เป็นเวลา 21 วัน และใช้อุณหภูมิต่ำระยะแรก และสูงระยะท้าย (LH) นั่นคือ ระยะแรกใช้อุณหภูมิต่ำ 37.2 ± 0.2°C เป็นเวลา 3 วันจากนั้นเปลี่ยนเป็นแบบมาตรฐานจนกระทั่ง 3 วันสุดท้ายใช้อุณหภูมิสูงเป็น 39.2 ± 0.2°C เลือกลูกไก่เพศผู้ และเพศเมีย อย่างละ 15 ตัวจากแต่ละกลุ่มการทดลองเพื่อตรวจรอยโรคที่ฝ่าเท้า จากนั้น ไก่เพศผู้ 168 ตัวต่อกลุ่มการทดลองเลี้ยงในกรง 24 ชุด โดยแต่ละกรงเลี้ยงไก่ 7 ตัว แบ่งเป็น 48 กรงจำแนกตามกลุ่มการทดลองอุณหภูมิฟัก แยกย่อยเป็นกลุ่มที่ให้แร่ธาตุชนิดอนินทรีย์ (ITM) แหล่งสังกะสี 120 ppm ทองแดง 10 ppm และแมงกานีส 120 ppm และอีกกลุ่มการทดลองให้แร่ธาตุจากแหล่งอื่นๆ (CTM) โดยเติมลงไปค่อนข้างต่ำ สังกะสี 32 ppm ทองแดง 8 ppm แมงกานีส 32 ppm วันที่ 7 และ 21 วันประเมินน้ำหนักตัว และประสิทธิภาพการแลกเนื้อ และเก็บตัวอย่างตรวจรอยโรคที่ฝ่าเท้า ผลการวิเคราะห์ทางจุลพยาธิวิทยา ประเมินความหนา และพื้นที่ของชั้น Stratum corneum (SC) ชั้นหนังกำพร้า และชั้นผิวหนัง การวิเคราะห์ข้อมูลอาศัยการออกแบบการทดลองแบบ 2x2 factorial arrangement พบว่า ลูกไก่กลุ่ม LH มีน้ำหนักสูงกว่า S แต่ที่น้ำหนักเยอะเป็นเพาะไข่แดงที่หลงเหลืออยู่ พออายุ 7 และ 21 วันแล้ว ไก่เพศผู้กลุ่ม S ก็น้ำหนักสูงแซงทางโค้งไปแล้ว รวมถึง FCR ด้วย สำหรับชั้นผิวหนัง Papillae dermis parameters ตอนฟักกลุ่ม S ก็ดีกว่า ที่อายุ 7 วัน ความสูง และพื้นที่ของชั้น SC  ก็มากกว่า ที่อายุ 21 วัน กลุ่ม CTM มีความสูง และพื้นที่ของชั้นผิวหนังเพิ่มขึ้น  สรุปก็คือ อุณหภูมิฟักส่งผลต่อปัญหาฝ่าเท้าอักเสบ และผลผลิตไก่เนื้อ การใช้แร่ธาตุชนิดอนินทรีย์ช่วยบรรเทาปัญหาการอักเสบของฝ่าเท้า โดยไม่กระทบต่อผลผลิตได้ในไก่ที่ขาดแร่ธาตุไปแล้วในกลุ่ม CTM
แหล่งข้อมูล

M. J. Da Costa*, E. O. Oviedo-Rondón*,2, M. J. Wineland*, K. Claassen* and J. Osborne† 2015. Effects of incubation temperatures and trace mineral sources on chicken live performance and footpad skin development. Poultry Sci. 95(4): 749-759.
















แหล่งภาพจากนิตยสาร World Poultry 



วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พัฒนาวัคซีนไรแดงในไก่ไข่

นายมาร์ก คูเบนน์ ซีอีโอของโลก กล่าวไว้ว่า สิ่งที่เขาเกลียดที่สุดมากกว่าสิ่งใดในโลกคือ การประชุมที่ไม่มีความจำเป็น และทำลายเวลาที่มีค่าแต่การประชุมนำเสนอโครงการวิจัยของนิสิต นักศึกษาในสหราชอาณาจักร กำลังมองหาโอกาสที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันไรแดงในไก่ไข่
                ทุนวิจัยโดยคณะกรรมการการตลาดไข่แห่งสหราชอาณาจักร (BEMB) ให้ทุนวิจัยมูลค่า ๓.๖ ล้านบาท สำหรับการวิจัย และการศึกษาครั้งนี้ ภายใต้อาจารย์ที่ปรึกษาอาวุโสด้านปรสิตวิทยาระดับโมเลกุล Damer Blake ที่ราชวิทยาลัยสัตวแพทย์ โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัย Moredum แห่งเมือง Edinburgh
               ไรแดงในไก่ไข่เป็นภัยคุกคามทางเศรษกิจของการผลิตไข่ไก่ และมีผลกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์สำหรับแม่ไก่ไข่ ความสูญเสียจากไรแดงเชื่อว่ามีมูลค่ากว่า ๕ พันล้านบาทต่อปี ท่ามกลางความกังวลว่า จะเกิดการดื้อยา พร้อมไปกับผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสใช้ควบคุมได้น้อยเต็มที่ และไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพสักเท่าไร นักวิจัยจึงหันมาสนใจวัคซีนรีคอมบิแนนท์ที่อาศัยการค้นพบแอนติเจนที่มีความสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันโรคได้ และยุทธศาสตร์ในการนำส่งวัคซีนที่เหมาะสม
               เทคนิคการวิจัย ดร. Blake เชื่อว่า โครงการที่มีเป้าหมายบูรณาการทั้งการวิเคราะห์ด้านพันธุกรรมระดับโมเลกุล และระบาดวิทยาจะช่วยให้มีความเข้าใจกลยุทธ์ของไรแดงในสัตว์ปีก และความหลากหลายของแอนติเจน ผลการวิจัยนี้จะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถแข่งขันทางการเกษตรของสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ที่ผลิตอาหารให้กับประชากรกว่า ๙ พันล้านคนในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ นี้ และจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ของพันธมิตรในคณะกรรมการการตลาดไข่แห่งสหราชอาณาจักร
               เทคโนโลยีการตรวจลำดับสารพันธุกรรมยุคใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญของโครงการนี้ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และค้นหาเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่สำคัญสำหรับไรแดงในสัตว์ปีก และค้นหาความหลากหลายทางพันธุกรรมของไรแดง 

แหล่งข้อมูล        Tony McDougal (14/7/16)

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

USDA วิจัยนาโนวัคซีนสู้ไวรัสไอบี

USDA ให้ทุนวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนานาโนวัคซีนต่อโรคสำคัญในสัตว์ปีกเริ่มจากโรคหลอดลมอักเสบ ความสำเร็จของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในสหรัฐฯมาจากการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพควบคุมโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส โปรแกรมการให้วัคซีนช่วยต่อสู้กับโรคสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงไก่เนื้อระหว่างการผลิตเป็นวงจรสั้นๆ
     วัคซีนสัตว์ปีกที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น วัคซีนที่มีใช้กันอยู่ปัจจุบันไม่สามารถควบคุมโรคได้อย่างเพียงพอโดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคใหม่เกิดขึ้น และวัคซีนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคงทนในการใช้งานในฟาร์ม การพัฒนาอนุภาคนาโนของโพลีแอนไฮไดรด์ (Polyanhydride nanoparticles, PANs) พิสูจน์แล้วว่า ปลอดภัยสำหรับใช้ในสัตว์ที่เลี้ยงเป็นอาหาร และมนุษย์ โครงการวิจัยนี้จะสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยระดมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยี อณูชีววิทยา วัคซีน และโรคสัตว์ปีก ร่วมกันพัฒนาวัคซีนที่อาศัย PANs เป็นนาโนวัคซีนอันเป็นแพลตฟอร์มของเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการให้วัคซีนสัตว์ปีก โดยคณะผู้วิจัยจะเริ่มต้นจากเชื้อไวรัสหลอดลมอักเสบติดต่อที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกอย่างรุนแรง คณะผู้วิจัยมุ่งเน้นการใช้ PANs ที่สามารถเสื่อมสลายได้เองตามธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพวัคซีน และการตอบสนอบทางภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น
               การประเมินผลวัคซีนจากการกระจายของวัคซีนตามเนื้อเยื่อ และความปลอดภัยของ PANs ในไก่ภายหลังการให้สาร PANs ในระดับสูง เพื่อให้มั่นใจว่า สามารถใช้ได้จริงในฟาร์ม หลังจากนั้นก็จะศึกษาการปลดปล่อยแอนติเจนของเชื้อไวรัสจาก PANs ต่อมาก็จะศึกษาความคงทน ตลอดจนปรับแต่งแผนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อทำความเข้าใจกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันจากนาโนวัคซีนในไก่ กระบวนการเอนแคปซูเลชันของทั้งโปรตีนจากสับยูนิตไวรัส และเชื้อไวรัสที่ทำให้หมดฤทธิ์ทั้งอนุภาคภายใน PANs จะช่วยให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น หลังจากนั้น ผู้วิจัยก็จะศึกษาการป้องกันโรคภายหลังการให้เชื้อพิษทับโดยการเปรียบเทียบระหว่างนาโนวัคซีน และวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนแรงที่ใช้กันอยู่ในฟาร์ม ผลการวิจัยที่ได้จะเป็นข้อมูลที่มีค่ามากสำหรับแสวงหาโอกาสของนาโนวัคซีนในสัตว์ปีก

แหล่งข้อมูล        USDA (16/6/16)

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รอพันธุกรรมไขปัญหาอกไก่แข็งเหมือนไม้

โรงงานแปรรูปเนื้อไก่แห่งใดยังไม่พบปัญหาเนื้ออกแข็งเหมือนไม้ (Wooden breat) หรือเนื้ออกลายเป็นสีขาว (White striping) ตอนนี้เป็นหนึ่งในปัญหาล่าสุดที่ท้าทายผู้ผลิตสัตว์ปีกทั่วทั้งโลก ที่งานประชุมอภิปรายครั้งที่ ๔ จากเท้าสู่เนื้อ ชื่องานประชุมช่างน่าประทับใจ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของตีนไก่ (เท้า) เสียเหลือเกิน โดยนักวิชาการอิตาลีผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพซากหนึ่งเดียวของโลก ดร. มาสซิมิเลียโน พีทราซี แห่งมหาวิทยาลัยโบโลญญา นำเสนอบทสรุปสุดท้ายก็ต้องแก้ปัญหาด้วยพันธุกรรม               ความก้าวหน้าด้านพันธุกรรมทำให้อัตราการเจริญเติบโต และปริมาณเนื้ออกไก่ให้โตใหญ่อล่างฉ่าง ไม่ต้องพึ่งซิลิโคน แต่ก็ส่งผลให้อุบัติการณ์ความผิดปรกติของกล้ามเนื้ออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หมายถึง คุณภาพของเนื้อที่ลดลง และกลายเป็นสิ่งรบกวนจิตใจของผู้บริหารโรงงานแปรรูปการผลิตเสียเหลือเกิน
      กล้ามเนื้ออกเป็นลายสีขาวอย่างรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี มีลักษณะสำคัญคือ การปรากฏลายทางสีขาวขนานไปกับแนวของเส้นใยกล้ามเนื้อทั้งอก และสะโพก ในอิตาลี อุบัติการณ์ของกล้ามเนื้ออกเป็นลายสีขาวในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก ๓.๑ เปอร์เซ็นต์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็น ๔๐.๒ เปอร์เซ็นต์เมื่อปี ๒๕๕๗ ลักษณะกล้ามเนื้อที่คล้ายคลึงกันคือเนื้ออกแข็งเหมือนไม้ส่งผลต่อกล้ามเนื้ออกชั้นนอกมีลักษณะสำคัญจากภายนอกคือ กล้ามเนื้อแข็ง และมีพื้นที่สีซีดในบริเวณส่วนล่างของเนื้ออก ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอิตาลี โดยเนื้ออกแข็งเป็นไม้กระดานพบได้ในไก่ที่มีน้ำหนักมาก  

อัตราการเจริญเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นในไก่เนื้อ
               ความผิดปรกติเหล่านี้มีผลมาจากอัตราการเจริญเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นในไก่เนื้อ เนื่องจาก การพัฒนาด้านพันธุกรรมที่เกิดขึ้นทุกปีเพื่อให้ไก่โตเร็ว อกใหญ่ จนเกิดปัญหาคุณภาพซาก ได้แก่ กล้ามเนื้ออกเป็นลายสีขาว และกล้ามเนื้ออกแข็งเป็นไม้ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แม้ว่า กล้ามเนื้ออกแข็งเป็นไม้จะเกิดขึ้นทีหลัง อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์ของความผิดปรกติทั้งสองโรคมีแนวโน้มสูงขึ้นตามน้ำหนักกล้ามเนื้ออก หลังจากนั้นก็จะกลายเป็น กล้ามเนื้อเนื้ออกเหมือนสปาเก็ตตี้ (Spaghetti meat) ที่กล้ามเนื้ออกชั้นนอกหลวมโพรกจนเส้นใยกล้ามเนื้อสามารถฉีกเบาๆออกได้เป็นเส้นๆเหมือนสปาเก็ตตี้เนื้อ 

กลยุทธ์ลดปัญหาของกล้ามเนื้ออกไก่
                อย่างที่เราเคยรู้กันมาตลอด โทษตัวเองไว้ก่อน ดร. มาสซิมิเลียโน พีทราซี กล่าวว่า เราเคยเชื่อว่า วิธีการเดียวที่จะลดอุบัติการณ์ปัญหาเนื้ออกแข็งเหมือนไม้คือ การชลออัตราการเจริญเติบโตของไก่ยกตัวอย่างเช่น การลดระดับไลซีนในอาหารสัตว์ หรือการควบคุมการกินอาหารในฟาร์ม กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับบรรเทาความผิดปรกติของกล้ามเนื้ออกคือ การลดลูกผสมที่ให้มุ่งกล้ามเนื้ออกขนาดใหญ่ การปรับแต่งอัตราการเจริญเติบโตจากสูตรอาหารสัตว์ และหลีกเลี่ยงการเข้าเชือดน้ำหนักมากสรุปสุดท้ายวิธีการแก้ปัญหาคือ ดร. มาสซิมิเลียโน พีทราซี ให้รอพันธุกรรมแก้ไขปัญหานี้ ขณะนี้ปัญหาเนื้ออกแข็งเหมือนไม้พบได้ทั่วโลก โดยในสหรัฐฯเริ่มมีการลงทุนเพื่อศึกษาทำความเข้าใจความผิดปรกตินี้ และวิธีการรักษา สภาไก่แห่งชาติ พึ่งประกาศทุนวิจัยเกือบ ๙ ล้านบาทสำหรับโครงการวิจัย ๔ โครงการให้กับมหาวิทยาลัย และ USDA ARS เพื่อให้ความเข้าใจรากของปัญหาของกล้ามเนื้อที่ผิดปรกตินี้

               บิล เกตต์ กล่าวว่า ความก้าวหน้าของมนุษย์ไม่ใช่อยู่ที่การค้นพบ แต่อยู่ที่การนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ ดังนั้น ปัญหาที่  ดร. มาสซิมิเลียโน พีทราซี และงานวิจัยที่กำลังออกมาอีกไม่นานนี้ จึงอยู่ที่ผู้ประกอบการจะประยุกต์แก้ไขปัญหาเบื้องต้นนี้ได้อย่างไร หรือพยายามผลักดันให้ผู้ผลิตพันธุ์ไก่จัดการปัญหานี้อย่างยั่งยืน   
  















ภาพที่ ๑ โฉมหน้าของ ดร. มาสซิมิเลียโน พีทราซี นักวิชาการชาวอิตาลี ผู้เชี่ยวชาญปัญหาคุณภาพซาก (แหล่งภาพถ่ายจาก Zinpro/Wiebe van der Sluis)  
แหล่งข้อมูล        World Poultry (14/6/16)

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ท้าให้ลอง!!! ลดซัลโมฯในเนื้อบด ๙๐เปอร์เซ็นต์

เทคโนโลยียุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยนักล่าสังหารเชื้อแบคทีเรียนามว่า แบคเทอริโอฝาจ ปัดฝุ่นขึ้นอีกครั้งโดยประดานักวิจัยที่หลั่งไหลทุ่มทุนสร้างกันอย่างครึกโครมทั่วทั้งโลก เซิร์ชหาคีย์เวิร์ดลดซัลโมฯก็จะเจอแต่งานวิจัยใหม่ค้นหาฝาจดีๆไว้จัดการกับเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ รวมถึง ผลงานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเนวาดา อ้างว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ช่วยลดเชื้อซัลโมเนลลาในผลิตภัณฑ์เนื้อได้อยู่หมัดถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ สำหรับประเทศไทย อยากให้ลองคงไม่มีให้ลอง เพราะนำเข้าไม่ได้ ผู้ประกอบการใดมีห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ และนักวิจัยเจ๋งๆต้องค้นหากันเอง ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่ใกล้ตัว ซื้อหาไม่มีขายครับ...
               ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เอมิลตัน เดอ เมลโล จากวิทยาลัยเกษตรกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติที่มหาวิทยาลัยเนวาดา เรโน ได้นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมสมาคมวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์นานาชาติแห่งสหรัฐฯ เพื่อลดเชื้อซัลโมเนลลาในเนื้อสัตว์ปีกบด เนื้อสุกรบด และเนื้อโคบด โดยสามารถลดลงได้มากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ผู้วิจัยกล่าวอย่างตื่นเต้นปลาบปลื้มเคร้าน้ำตาว่า ผลการวิจัยนั้นดีเลิศประเสริฐศรี ความปลอดภัยอาหารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ของพวกเขา และเชื้อ ซัลโมเนลลา ก็เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีความชุกสูงที่สุดในห่วงโซ่การผลิตอาหารของชาติ
               ผู้วิจัยมาดเซอร์รายนี้ได้ทดลองเติมเชื้อ ซัลโมเนลลา ๔ ชนิดลงในผลิตภัณฑ์เนื้อ แล้วจัดการด้วยแบคเทอริโอฝาจ ไวรัสสังหารจากยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่างการผสมนั้นเอง เชื้อแบคเทอริโอฝาจพบได้ตามปรกติในสิ่งแวดล้อม มนุษย์เพียงเลือกนำมาใช้ให้ถูกเชื้อ ถูกเวลา และถูกสถานที่ โดยแบคเทอริโอฝาจจะฆ่าสังหารไล่ล่าเฉพาะเชื้อแบคทีเรียบางชนิดอย่างจำเพาะเจาะจงตามจีนัส และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช
               การทดลองเติมเชื้อ ซัลโมเนลลา ลงในเนื้อสัตว์ และชิ้นส่วนที่แช่ตู้เย็น แล้วผสมแบคเทอริโอฝาจก่อนจะเข้าเครื่องบด พบว่า เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าสู่เชื้อแบคทีเรีย และทำลายลงได้ทันที ภายหลังจากบดเรียบร้อยแล้ว เชื้อ ซัลโมเนลลา ลดลงได้ถึง ๑๐ เท่า ผลการวิจัยนี้กระตุ้นให้นักวิจัยมีความหวังที่จะนำเทคโนโนโลยีนี้มาใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยอาหาร

               เดอ เมลโล ถูกเชิญให้บรรยายผลงานวิจัยที่งานประชุมวิชาการครั้งที่ ๖๙ AMSA Reciprocal Meat Conference ในเท็กซัส 


  






นักวิจัย เอมิลตัน เดอ เมลโล ทดลองลดเชื้อ ซัลโมเนลลา ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์ในวิทยาลัยเกษตรกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติที่มหาวิทยาลัยเนวาดา เรโน
แหล่งข้อมูล        World Poultry (29/6/16)

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รอยโรคแปลกยอดฮิตในไก่ไข่สหรัฐฯ

รอยโรคหย่อมเนื้อตายที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (Focal duodenal necrosis, FDN) ในไก่ไข่สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ของเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ชนิด เอ มียีนส์เบต้า ๒ โรคลำไส้ของไก่ไข่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตไข่ลดลง และน้ำหนักไข่ต่อฟองน้อย การวินิจฉัยโรคด้วยการแยกเชื้อหาสาเหตุของโรคมักตรวจพบเชื้อ คลอสทริเดียม โคไลนัม และคลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ 
      นักวิจัยสอบสวนหาสาเหตุของโรคโดยเก็บตัวอย่างลำไส้เล็กจากแม่ไก่ไข่ที่พบรอยโรค FDN จาก ๓ รัฐในสหรัฐฯ เพื่อวินิจฉัยโรคโดยอาศัยจุลพยาธิวิทยา แบคทีเรียวิทยา และอิมมูโนฮิสโตเคมี รอยโรคภายนอก พบว่า ทุกตัวอย่างมีหย่อมสีเทาน้ำตาล หรือแดง ขนาดแตกต่างกันไปบนชั้นเยื่อเมือกที่ถูกทำลายเป็นชั้นตื้นๆ จุลพยาธิวิทยาเผยให้เห็นลำไส้อักเสบแบบมีลิมโฟไซต์ พลาสมาเซลล์ และเฮเทอโรฟิลเข้ามาแทรกระดับอ่อนถึงรุนแรง (Heterophilic and lymphoplasmacytic enteritis) โดยเกิดความเสียหายของเซลล์ลำไส้ที่ปลายของวิลลัส เอกซูเดตของไฟบรินปนเนื้อตาย (Fibrinonecrotic exudate) และแบคทีเรียแกรมบวก และบบ รูปแท่งภายในรอยโรค จำนวน ๑๖ ใน ๓๐ ตัวอย่าง สามารถแยกเชื้อ คลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์  ได้ ๔ ใน ๓๐ ตัวอย่างที่มีรอยโรคสัมพันธ์กับ FDN ผล PCR บ่งชี้ว่า ทั้ง ๔ ตัวอย่างเป็นเชื้อ คลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์  ชนิดเอ ให้ผลบวกต่อยีน เบต้า ๒ และให้ผลลบต่อสารพิษชนิด บี ที่ก่อโรคลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย และยีนส์ เอนเทอโรทอกซิน ผล PCR ต่อ คลอสทริเดียม โคไลนัม จากดีเอ็นเอที่สกัดจากตัวอย่างลำไส้เล็กให้ผลเป็นลบทั้งหมด ๑๔ ใน ๑๔ ตัวอย่าง เทคนิคอิมมูโนฮิสโตเคมี (IHC) สำหรับ เชื้อ ค. เพอร์ฟริงเจนส์ พบว่า มีการติดสีต่อสารพิษชนิด อัลฟลา และเบตา ๒ ของเชื้อแบคทีเรียรูปแท่งยาวในรอยโรค โดยสามารถพบได้ทั้งในเซลล์ลำไส้ที่ส่วนยอดของวิลไล เซลล์อักเสบในชั้นลามินาโพรเพรีย รวมถึง เซลล์ลำไส้ที่เสื่อมสภาพ และลอกหลุดออกมาภายในเอ็กซูเดตในช่องทางเดินอาหาร ผลการวิจัยครั้งนี้ บ่งชี้ว่า เชื้อ ค. เพอร์ฟริงเจนส์ มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาโรค FDN   
แหล่งข้อมูล

M. França, M. A. Barrios, L. Stabler, Guillermo Zavala, H. L. Shivaprasad, M. D. Lee, A. M. Villegas, and Francisco A. Uzal (2016) Association of Beta2-Positive Clostridium perfringens Type A With Focal Duodenal Necrosis in Egg-Laying Chickens in the United States. Avian Diseases: March 2016, Vol. 60, No. 1, pp. 43-49.


วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ปัญหาคุณภาพซาก: ความผิดปรกติของผิวหนังไก่เนื้อในบราซิล

         ปัญหาคุณภาพซาก เนื่องจาก ความผิดปรกติของผิวหนังของไก่เนื้อเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับโรงงานแปรรูปการผลิตทั่วโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ นักวิจัยจากบราซิลรายงานการสำรวจรอยโรคผิวหนังด้วยเทคนิคจุลพยาธิวิทยาจากตัวอย่างผิวหนัง ๘๐๐ ชิ้นที่เก็บจากซากไก่เนื้อ โรงงานแปรรูปการผลิตในประเทศบราซิล สังเกตพบรอยโรคสำคัญ ได้แก่
๑. เซลลูไลติส (Cellulitis) พบการปรากฏของแผ่นไฟบริน หรือก้อนแกรนูโลมาในชั้นใต้ผิวหนัง 
๒. โรคฝีดาษไก่ (Fowl pox) พบลักษณะสำคัญคือ ภาวะการเพิ่มจำนวนเซลล์ผิดปรกติ (hyperplasia) การเปลี่ยนแปลงของเซลล์แบบ ballooning degeneration และ eosinophilic intracytoplasmic inclusions ในเซลล์บุผิว โดยเฉพาะที่รูขุมขน
       แถบทวีปอเมริกา มีรายงานการตรวจพบการระบาดของโรคฝีดาษในไก่เนื้อ เช่น บราซิล และสหรัฐฯ บางแห่งมีการให้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษด้วย Back และคณะ (1995) พบระบาดของโรคฝีดาษที่ไม่ปรกติ (Atypical fowl pox) ทางตอนใต้ของประเทศบราซิล ประสบปัญหาการปลดซากทิ้งจากผิวหนังอักเสบที่โรงฆ่าอย่างรุนแรง ลักษณะสำคัญของรอยโรคสังเกตพบรอยโรคฝีดาษตามบริเวณที่มีขน โดยเฉพาะ บริเวณสะโพกเช่นเดียวกับ  Senties-Cuè และคณะ (2010) พบโรคฝีดาษที่ไม่ปรกติในฟาร์มไก่เนื้ออายุ ๘ สัปดาห์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยลักษณะรอยโรคปรากฏเป็นรอยขีดข่วน รูปร่างกลม หรือเป็นขีดยาวในบริเวณที่มีขนปกคลุมเท่านั้น สามารถพบได้ทั้งสองข้างของสะโพก ท้อง รอบทวารรวม และข้างคอตอนล่าง ไม่พบว่ายุง หรือแมลงใดๆเกี่ยวข้องกับการระบาด  
๓. เนื้องอกที่ผิวหนังชนิด สควอมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา (Dermal squamous cell carcinomas, DSCC) พบการเจริญผิดปรกติของเซลล์บุผิวที่รูขุมขน (Feather follicle epithelium, FFE) มีการสร้างเป็นถุงซิสต์ รูขุมขนเกิดภาวะเพิ่มจำนวนเซลล์ผิดปรกติ (Hyperplastic feather follicles) ประกอบด้วย เส้นขนที่มีเคอราตินปริมาณมาก (Hyperkeratotic feathers) และแผลหลุมที่ประกอบด้วยโพรงช่องว่างปกคลุมด้วยเซลล์บุผิว และเคอราติน 
๔. ผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) พบลักษณะสำคัญคือ แผลถลอก และแผลหลุมในชั้นเซลล์บุผิวที่ปกคลุมด้วยเคอราติน และการอักเสบของชั้นผิวหนัง
๕. ฮีแมงจิโอมา (Hemangioma) เป็นเนื้องอกของหลอดเลือด สังเกตเห็นเส้นเลือดที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ หรือก้อนเนื้อเยื่อที่ประกอบด้วยเซลล์คล้ายเซลล์บุหลอดเลือดที่รูปร่างไม่ค่อยชัดเจน


 ตารางที่ ๑ การวินิจฉัยโรคทางจุลพยาธิวิทยาจากตัวอย่างผิวหนัง ๘๐๐ ชิ้นที่เก็บจากซากไก่เนื้อ โรงงานแปรรูปการผลิตในบราซิล ประวัติการให้วัคซีนจากตัวอย่างทั้งหมด ให้วัคซีน MD, IBD และ IB ขณะที่ ๗๐ ตัวอย่างจากทั้งหมดให้วัคซีน FP (Fallavena et al., 2000)




ฮ่องกงแบนไก่คานาดา

เจ้าพนักงานความปลอดภัยอาหารในฮ่องกง ประกาศแบนการนำเข้าเนื้อ ไข่ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกทั้งหมดจากออนทาริโอ คานาดา
               ศูนย์ความปลอดภัยอาหาร (CFR) ประกาศการห้ามนำเข้าจากคานาดา โดยขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตามปรกติ ฮ่องกงนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง ๕,๗๐๐ ตัน และไข่สัตว์ปีก ๓๒๕,๐๐๐ ฟองจากคานาดาในปีนี้ การตัดสินใจแบนสินค้าสัตว์ปีกทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลังสำนักตรวจสอบอาหารคานาดา (CFIA) ยืนยันการตรวจพบโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงต่ำสับไทป์ H5 ที่ฟาร์มเป็ดใกล้กับเมืองเซนต์ แคธารีน รัฐออนทาริโอ โดย CFIA กำลังกักกันสัตว์ในฟาร์ม เพื่อควบคุมโรค และกำหนดโซนควบคุมโรคไข้หวัดนก ครอบคลุมรัศมี ๓ กิโลเมตรรอบตัวฟาร์มที่เกิดโรคระบาด  
               สัตว์ปีก วัสดุ และอุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่ในโซนนี้จะต้องอยู่ภายใต้การกักกันโรค อย่างไรก็ตาม มีเพียงฟาร์มที่ติดเชื้อเท่านั้นที่ยืนยันผลบวกต่อโรคไข้หวัดนก ขณะนี้ CFIA ได้ตรวจติดตามสัตว์ปีก วัสดุ และอุปกรณ์ทั้งหมดภายในโซนอย่างใกล้ชิด โดยโซนควบคุมโรคไข้หวัดนกเป็นมาตรการระหว่างชาติส่วนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ เพื่ออนุโลมให้ยังสามารถค้าขายได้จากพื้นที่ที่ไม่มีการติดเชื้อของประเทศ โดย CFIA ได้ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับอุตสาหกรรม และคู่ค้าระหว่างชาติ     

แหล่งข้อมูล        Meat and Poultry (12/7/16)

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เสริมซิงค์ให้หล่อหน้าใส ช่วยลดซัลโมฯในไก่ได้ด้วยนะ

ก้าวเข้าร้านสะดวกซื้อ ทุกท่านคงสังเกตเห็นสินค้าเครื่องดื่ม ลูกอม ยา หรือแม้กระทั่งล่าสุดนมถั่วเหลืองผสมซิงค์ละลานตาเต็มไปหมด เช่น เม็ดอมมีประโยชน์มัยบาซิน ซิงค์ วิตามินแบล็คมอร์ ไบโอ ซิงค์ เครื่องดื่มแมนๆไว้ดูแลผู้ชายรักสุขภาพ แมนซัม หรือนมถั่วเหลืองสีดำเทรนด์ใหม่หวังให้หล่อ หน้าใส ไร้สิว ดีน่า แบล็ค ซิงค์ กลุ่มนักวิจัยจีนก็เอากับเขาบ้างเกิดไอเดียบรรเจิดทดลองเสริมซิงค์ หรือสังกะสีในอาหารเลี้ยงไก่ เพื่อช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งของปราการชั้นเยื่อเมือกบนผนังลำไส้ต่อเชื้อ ซัลโมเนลลา เอนเทอริกา ซีโรวาร์ ไทฟิมูเรียม ผลวิจัยได้ผลดี คนเลี้ยงก็ดื่มแมนซัมให้หล่อหน้าใส ไก่ก็กินอาหารผสมซิงค์ ผนังลำไส้ปึ๊กกันซัลโมฯอยู่หมัด
คุณสมบัติของสังกะสีมีหน้าที่สำคัญในการป้องกันโรค ช่วยให้แผลหายได้ดีขึ้น และมีฤทธิ์สร้างเสริมความแข็งแกร่งของเนื้อเยื่อบุผิว ความสำคัญของสังกะสีต่อการพัฒนา และการทำหน้าที่ของลำไส้มีรายงานวิจัยยืนยันมากมาย เช่น เพิ่มการสร้างเซลล์ที่คริปต์ของลำไส้ ย่นระยะเวลาการแบ่งเซลล์ และช่วยให้การผลัดเซลล์บุผนังลำไส้ดีขึ้น รักษาโครงสร้าง และการทำหน้าที่ของปราการป้องกันผนังลำไส้ การผสมสังกะสีในอาหารสัตว์ช่วยลดรอยโรคที่ลำไส้ และป้องกันความเสียหายจากการดูดซึมแคโรทีนอยด์ที่ลดลง และการสร้างเม็ดสีในไก่ที่ติดเชื้อบิดไส้ตัน
               ผลการศึกษาเพื่อประเมินผลของการเสริมสังกะสีต่อการทำหน้าที่เป็นปราการป้องกันโรคของผนังลำไส้ต่อเชื้อ ซัลโมเนลลา เอนเทอริกา ซีโรวาร์ ไทฟิมูเรียม ที่ป้อนเชื้อพิษทับให้ไก่เนื้ออายุ ๔๒ วัน จากไก่เนื้อพันธุ์อาร์เบอร์เอเคอร์อายุ ๑ วัน จำนวน ๓๓๖ ตัว แบ่งเป็น ๘ กลุ่ม ให้อาหารสัตว์ที่เสริมสังกะสีในระดับ ๐ ๔๐ ๘๐ และ ๑๒๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร (สหภาพยุโรป อนุญาตให้ใช้สังกะสีได้ไม่เกิน ๑๕๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร) รวมถึงกลุ่มที่ให้ และไม่ให้เชื้อ ซ. ไทฟิมูเรียม พบว่า เชื้อ ซ. ไทฟิมูเรียม ทำให้ผลการเลี้ยงแย่ลง ลำไส้เสียหาย อัตราส่วนความสูงของวิลไลต่อความลึกของคริปต์ลดลง และการทำงานของเอนไซม์ซูเครสลดลง ระดับเอนโดทอกซินในพลาสมาเพิ่มขึ้น และการผลิต mRNA ของคลอดิน ๑ ออคลูดิน และมิวซิน ๒ ลดลงในลำไส้เล็กส่วนปลายที่อายุ ๒๑ วัน ขณะที่ กลุ่มที่ให้สะกะสีช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวในระยะแรกของการเลี้ยง เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ซูเครสในลำไส้เล็กส่วนปลาย ลดระดับของเอนโดทอกซินในพลาสมา และเพิ่มอัตราส่วนความสูงของวิลไลต่อความลึกของคริปต์ และการผลิต mRNA ของคลอดิน ๑ ออคลูดิน และมิวซิน ๒ ในลำไส้เล็กส่วนท้ายที่อายุ ๒๑ วัน ผลการวิจัยในไก่จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนบันทึกไว้ว่า การเสริมสังกระสีช่วยลดความเสียหายของปราการด่านสำคัญสำหรับป้องกันเชื้อ ซ. ไทฟิมูเรียม ที่ลำไส้ โดยกลไกที่อาจเกี่ยวข้องกับการผลิตคลอดิน ๑ และออคลูดินในไก่เนื้อ
แหล่งข้อมูล

Bingkun Zhang , Yuxin Shao , Dan Liu , Peihui Yin , Yuming Guo & Jianmin Yuan. 2012. Zinc prevents Salmonella enterica serovar Typhimurium-induced loss of intestinal mucosal barrier function in broiler chickens. Avian Pathology (August 2012) 41(4), 361-367.


วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ทำไม? วัคซีนซัลโมฯทำให้เลือดออกที่ตับ

บทความก่อนหน้านี้ด้านมืดของวัคซีนซัลโมฯก่อโรคเลือดออกที่ตับในสหรัฐฯ  ความจริงแล้ว การตรวจพบรอยโรคเลือดออกที่ตับไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนซัลโมฯได้เลย มโนไปถึงไวรัสอะไรแปลกๆไว้ก่อนดีไหม? แต่รายงานฉบับนี้ได้สอบสวนโรคตั้งแต่ประวัติสุขภาพ อาการทางคลินิก รวมถึง การวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา และเทคนิคอิมมูโนฮิสโตเคมีจนพบความเชื่อมโยงระหว่างโรค และการให้วัคซีนซัลโมฯ ผู้วิจัยได้อธิบายสาเหตุไว้หลายประการ ได้แก่ การปรากฏของสารอะมัยลอยด์ บ่งชี้ถึง ปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะเลือดออกอาจเป็นผลมาจากสารแอดจูแวนท์ที่เป็นส่วนประกอบในการเตรียมวัคซีนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด องค์ประกอบทางเคมีในแอดจูแวนท์สามารถกระตุ้นภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินตอบสนองต่อแอนติเจนโดยกระตุ้นการอักเสบ เมื่อมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดยังสามารถทำลายเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะ เซลล์บุหลอดเลือด หรือสารพิษชนิดเอนโดทอกซินจากเชื้อแบคทีเรียกระตุ้นสารสื่อการอักเสบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดที่สูงผิดปรกติ โดยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ปฏิกิริยาชวาสซ์แมน (Schwartzman reaction) ตามระบบ สาเหตุต่างดังกล่าวเหล่านี้เพียงพอต่อการทำลายเซลล์บุหลอดเลือดทั่วไป รวมถึง ภาวะ DIC (disseminated intravascular coagulation)    
        รอยโรคภายนอก และภายใต้กล้องจุลทรรศน์ของตับที่พบในไก่รุ่นตามรายงานฉบับนี้ คล้ายคลึงกับที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเนื้อตายที่ตับในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นผลมาจากการหลั่งออกมากเกินไปของสาร reactive oxygen metabolites และ lysosomal enzyme ที่หลั่งออกมาจากนิวโทรฟิล และคัฟเฟอร์เซลล์ที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS การคัดหลั่งของสารกลุ่ม immunomodulators เช่น ไซโตไคน์ TNF-a IFN-g โดยเฉพาะ IL-1 มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการทำลายเซลล์บุผนังหลอดเลือด การเกิดตะกอนสารภูมิคุ้มกันภายในหลอดเลือด (intravascular immune precipitates) และการจับกลุ่มของเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ส่งผลให้เกิดเลือดแข็งตัวภายในหลอดเลือด (intravascular coagulation) และภาวะ thrombosis เหนี่ยวนำให้เกิดเนื้อตาย และเลือดออกในอวัยวะบางแห่งขึ้นกับชนิดของสัตว์ นอกจากนั้น มีรายงานว่า เอนโดทอกซิน บางชนิดมีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนอินซูลินทำให้ออกซิเจน และสารอาหารบางชนิด เช่น กลูโคส กรดอะมิโน และกรดไขมันภายในเนื้อเยื่อลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาวะออกซิเจนน้อยกระตุ้นให้เกิดการสลายไกลโคเจน และมีการสะสมของกรดแลกติก    
          บทสรุปสำหรับการใช้วัคซีนสำหรับควบคุมโรคติดเชื้อซัลโมเนลลาในไก่ที่เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมการติดเชื้อซัลโมเนลลา เป็นที่ยอมรับว่าสามารถป้องกันการสร้างนิคมของเชื้อ และลดการขับถ่ายเชื้อ นับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่ออุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกมาก ลดการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก ลดการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค โดยเฉพาะ วัคซีนเชื้อตาย ที่เชื่อว่า มีความปลอดภัย ไม่ต้องกังวลต่อเชื้อที่มีชีวิตเหมือนวัคซีนประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในความสว่างไสว ย่อมมีด้านมืด เนื่องจาก ไก่บางตัวอาจเกิดผลข้างเคียงต่อวัคซีนดังที่ปรากฏในกลุ่มอาการพยาธิสภาพของตับแบบเลือดออก (hemorrhagic hepatopathy syndrome) จากภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินได้ นับเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการสอบสวนโรค ตัวอย่างกรณีดังกล่าว ไม่มีไวรัส โปรโตซัว รา หรือแบคทีเรียใดๆทั้งสิ้น สาเหตุของโรคมาจากภูมิคุ้มกันต่างหากที่ทำร้ายตัวเอง 
แหล่งข้อมูล

Carnaccini S, Shivaprasad HL, Cutler G, Bland M, Meng XJ, Kenney SP, Bickford AA, Cooper G, Charlton B, and Sentíes-Cué CG. 2016. Characterization of Seven Outbreaks of Hemorrhagic Hepatopathy Syndrome in Commercial Pullets Following the Administration of a Salmonella Enteritidis Bacterin in California. Avian Dis. 60(1): 33-42.  
ภาพที่ ๑ ด้านซ้ายแสดงรอยโรคที่กล้ามเนื้อหน้าอกตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน สังเกตเศษเอกซูเดตชนิด Caseonecrtotic exudate ด้านขวา แสดงรอยโรคที่กล้ามเนื้อขาตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน












วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ด้านมืดของวัคซีนซัลโมฯก่อโรคเลือดออกที่ตับในสหรัฐฯ

สูตรสำเร็จยาสามัญประจำบ้านสำหรับการควบคุมซัลโมเนลลาคือ วัคซีนเชื้อตาย หรือแบคเทอรินต่อเชื้อซัลโมเนลลา เมื่อมีด้านสว่างก็ย่อมมีด้านมืด ดังกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯเมื่อเร็วๆนี้ ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึง พ.ศ.๒๕๕๘ ปีที่แล้ว เกิดการระบาดของกลุ่มโรคพยาธิสภาพของตับเลือดออก (Hemorrhagic hepatopathy syndrome) ในฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ๗ แห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ฟาร์มที่เกิดโรคพบว่า ไก่ตายสูงผิดปรกติเล็กน้อยภายหลังการให้วัคซีนชนิดแบคเทอรินต่อเชื้อ ซัลโมเนลลา เอนเทอไรทิดิส สายพันธุ์ของไก่ที่เกิดโรคเป็น เอชแอนด์เอ็น และลอห์แมนน์ไวท์ วิธีการให้วัคซีนมีทั้งการฉีดเข้ากล้ามเนื้ออก หรือใต้ผิวหนังในบริเวณขาระหว่างอายุ ๑๑ ถึง ๑๘ สัปดาห์ อาการทางคลินิกเริ่มตั้งแต่ไม่แสดงอาการจนถึงขาพิการ ไม่พยายามเดิน ท้องเสียเป็นสีเขียว ขย้อนอาหาร อัตราการตายระหว่าง ๐.๑๖ ถึง ๑.๓๘ เปอร์เซ็นต์ต่อสัปดาห์ โดยอัตราการตายสูงที่สุด ๒ ถึง ๓ สัปดาห์ภายหลังการให้วัคซีน แล้วลดลงอย่างรวดเร็ว ผลการผ่าซาก พบว่า ตับโต โดยมีเลือดออกกระจายทั่วไป และหย่อมเนื้อตายสีซีด เลือดออกรุนแรงในลำไส้ หัวใจ และกระเพาะแท้ในไก่บางตัว จุลพยาธิวิทยา พบกล้ามเนื้ออักเสบแบบแกรนูโลมาที่มีเซลล์ยักษ์ล้อมรอบ และลุกลามเข้าสู่กล้ามเนื้อชั้นลึกลงไป และใต้ผิวหนังตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน กล้ามเนื้ออักเสบ พบแวคิวโอลใสที่ให้ผลบวกต่อการย้อมลิปิดด้วยสีย้อมพิเศษ Oil Red O หยดของสี Oil Red O พบได้ในตับ และลำไส้ที่เกิดรอยโรค การย้อมด้วยสีพิเศษ Congo red บ่งชี้ว่ามีการปรากฏของสารอมัยลอยด์ปริมาณปานกลางถึงรุนแรงในกล้ามเนื้ออก และปานกลางในตับ ม้าม และลำไส้ การตรวจสอบแอนติเจนของเชื้อซัลโมเนลลาสามารถพบได้ในตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน และตับโดยอาศัยเทคนิคอิมมูโนฮิสโตเคม ไม่พบเชื้อไวรัส หรือสารพิษใดๆจากตัวอย่างตับ ม้าม ลำไส้ และกล้ามเนื้อหน้าอก และสามารถตรวจพบเชื้อแบคทีเรียได้บ้างเชื่อว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภายหลังการตายของสัตว์    
แหล่งข้อมูล
Carnaccini S, Shivaprasad HL, Cutler G, Bland M, Meng XJ, Kenney SP, Bickford AA, Cooper G, Charlton B, and Sentíes-Cué CG. 2016. Characterization of Seven Outbreaks of Hemorrhagic Hepatopathy Syndrome in Commercial Pullets Following the Administration of a Salmonella Enteritidis Bacterin in California. Avian Dis. 60(1): 33-42

วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...