วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ทำไม? วัคซีนซัลโมฯทำให้เลือดออกที่ตับ

บทความก่อนหน้านี้ด้านมืดของวัคซีนซัลโมฯก่อโรคเลือดออกที่ตับในสหรัฐฯ  ความจริงแล้ว การตรวจพบรอยโรคเลือดออกที่ตับไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนซัลโมฯได้เลย มโนไปถึงไวรัสอะไรแปลกๆไว้ก่อนดีไหม? แต่รายงานฉบับนี้ได้สอบสวนโรคตั้งแต่ประวัติสุขภาพ อาการทางคลินิก รวมถึง การวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา และเทคนิคอิมมูโนฮิสโตเคมีจนพบความเชื่อมโยงระหว่างโรค และการให้วัคซีนซัลโมฯ ผู้วิจัยได้อธิบายสาเหตุไว้หลายประการ ได้แก่ การปรากฏของสารอะมัยลอยด์ บ่งชี้ถึง ปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะเลือดออกอาจเป็นผลมาจากสารแอดจูแวนท์ที่เป็นส่วนประกอบในการเตรียมวัคซีนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด องค์ประกอบทางเคมีในแอดจูแวนท์สามารถกระตุ้นภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินตอบสนองต่อแอนติเจนโดยกระตุ้นการอักเสบ เมื่อมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดยังสามารถทำลายเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะ เซลล์บุหลอดเลือด หรือสารพิษชนิดเอนโดทอกซินจากเชื้อแบคทีเรียกระตุ้นสารสื่อการอักเสบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดที่สูงผิดปรกติ โดยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ปฏิกิริยาชวาสซ์แมน (Schwartzman reaction) ตามระบบ สาเหตุต่างดังกล่าวเหล่านี้เพียงพอต่อการทำลายเซลล์บุหลอดเลือดทั่วไป รวมถึง ภาวะ DIC (disseminated intravascular coagulation)    
        รอยโรคภายนอก และภายใต้กล้องจุลทรรศน์ของตับที่พบในไก่รุ่นตามรายงานฉบับนี้ คล้ายคลึงกับที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเนื้อตายที่ตับในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นผลมาจากการหลั่งออกมากเกินไปของสาร reactive oxygen metabolites และ lysosomal enzyme ที่หลั่งออกมาจากนิวโทรฟิล และคัฟเฟอร์เซลล์ที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS การคัดหลั่งของสารกลุ่ม immunomodulators เช่น ไซโตไคน์ TNF-a IFN-g โดยเฉพาะ IL-1 มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการทำลายเซลล์บุผนังหลอดเลือด การเกิดตะกอนสารภูมิคุ้มกันภายในหลอดเลือด (intravascular immune precipitates) และการจับกลุ่มของเม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ส่งผลให้เกิดเลือดแข็งตัวภายในหลอดเลือด (intravascular coagulation) และภาวะ thrombosis เหนี่ยวนำให้เกิดเนื้อตาย และเลือดออกในอวัยวะบางแห่งขึ้นกับชนิดของสัตว์ นอกจากนั้น มีรายงานว่า เอนโดทอกซิน บางชนิดมีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนอินซูลินทำให้ออกซิเจน และสารอาหารบางชนิด เช่น กลูโคส กรดอะมิโน และกรดไขมันภายในเนื้อเยื่อลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาวะออกซิเจนน้อยกระตุ้นให้เกิดการสลายไกลโคเจน และมีการสะสมของกรดแลกติก    
          บทสรุปสำหรับการใช้วัคซีนสำหรับควบคุมโรคติดเชื้อซัลโมเนลลาในไก่ที่เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมการติดเชื้อซัลโมเนลลา เป็นที่ยอมรับว่าสามารถป้องกันการสร้างนิคมของเชื้อ และลดการขับถ่ายเชื้อ นับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่ออุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกมาก ลดการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก ลดการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค โดยเฉพาะ วัคซีนเชื้อตาย ที่เชื่อว่า มีความปลอดภัย ไม่ต้องกังวลต่อเชื้อที่มีชีวิตเหมือนวัคซีนประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในความสว่างไสว ย่อมมีด้านมืด เนื่องจาก ไก่บางตัวอาจเกิดผลข้างเคียงต่อวัคซีนดังที่ปรากฏในกลุ่มอาการพยาธิสภาพของตับแบบเลือดออก (hemorrhagic hepatopathy syndrome) จากภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินได้ นับเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการสอบสวนโรค ตัวอย่างกรณีดังกล่าว ไม่มีไวรัส โปรโตซัว รา หรือแบคทีเรียใดๆทั้งสิ้น สาเหตุของโรคมาจากภูมิคุ้มกันต่างหากที่ทำร้ายตัวเอง 
แหล่งข้อมูล

Carnaccini S, Shivaprasad HL, Cutler G, Bland M, Meng XJ, Kenney SP, Bickford AA, Cooper G, Charlton B, and Sentíes-Cué CG. 2016. Characterization of Seven Outbreaks of Hemorrhagic Hepatopathy Syndrome in Commercial Pullets Following the Administration of a Salmonella Enteritidis Bacterin in California. Avian Dis. 60(1): 33-42.  
ภาพที่ ๑ ด้านซ้ายแสดงรอยโรคที่กล้ามเนื้อหน้าอกตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน สังเกตเศษเอกซูเดตชนิด Caseonecrtotic exudate ด้านขวา แสดงรอยโรคที่กล้ามเนื้อขาตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แมคโดนัลด์ทยอยเปิดร้านใหม่ในยูเครน

  นับตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป แมคโดนัลด์เริ่มเปลี่ยนไปใช้ไก่จากบริษัทเอ็มเอชพีสำหรับร้านจำหน่ายสินค้าในยูเครน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป...