วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2563

สัตวแพทย์ในวิกฤติโควิด ๑๙


ท่ามกลางวิกฤติโควิด องค์กร และบริษัทด้านสัตวแพทย์ทั่วโลก กำลังยื่นมือช่วยเตรียมอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เชื้อไวรัสกลุ่มโคโรนาไวรัส สามารถจำแนกได้เป็น กลุ่มอัลฟา โคโรนาไวรัส เช่น โรค PED และ TGE ก่อโรคท้องเสียในสุกร โรค Canine coronavirus ก่อโรคท้องเสีย และโรค FIP (Feline infectious peritonitis, FIP) ในแมว กลุ่มเบตา โคโรนาไวรัส เช่น โรค SARS, COVID-19, MERS ในมนุษย์ กลุ่มแกมมา โคโรนาไวรัส เช่น โรค IB ในไก่ สังเกตว่า หลายโรคเป็นโรคที่สัตวแพทย์คุ้นเคย หรือมีประสบการณ์กับโรคโดยตรงอยู่แล้วทั้งสัตว์ปีก สุกร และสัตว์เลี้ยง
เมื่อไวรัสก็คือไวรัส ไม่จำเป็นต้องเป็นเชื้อโรคในมนุษย์ หรือสัตว์ หมายความว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์ก็สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับวิกฤติการณ์โคโรนาไวรัสนี้ได้ เช่นเดียวกับสิ่งที่สัตวแพทย์ทั่วโลกกำลังพยายามทำอยู่
สัตวแพทย์ในสเปน
ในขณะที่ โรคโควิด ๑๙ ระบาดในสเปน บริษัทด้านสุขภาพสัตว์ในสเปนอย่าง "ฮิปรา (Hipra)" ก็ได้พยายามแบ่งปันอุปกรณ์ และเครื่องมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้กับองค์กรสาธารณสุข บริษัทยา และวัคซีนทางสัตวแพทย์แห่งนี้ให้ห้องปฏิบัติการใหม่กับโรงพยาบาลสำหรับการวิเคราะห์ตัวอย่างเชื้อไวรัส รวมถึง พรินต์เตอร์สามมิติสำหรับโรงงานในการผลิตอุปกรณ์ช่วยหายใจที่มีความจำเป็นทางการแพทย์อย่างมาก โดยบริษัทด้านสุขภาพสัตว์แห่งนี้ถือเป็นภาระ และความรับผิดชอบให้การใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่ตัวเองมีอยู่เข้าไปช่วยสนับสนุนกิจกรรมด้านสาธารณสุข และเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมโรคระบาดครั้งนี้ให้ได้
สัตวแพทย์ในเนเธอร์แลนด์
ในเนเธอร์แลนด์ หน่วยงานด้านสุขภาพสัตว์ชื่อว่า "รอยัล จีดี (Royal GD)" ก็เป็นอีกหน่วยงานด้านสัตวแพทย์ ที่พยายามให้ความช่วยเหลือด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองโรคโควิด ๑๙ การบริการตรวจสอบวันต่อวันด้วยห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยที่สุด รอยัลจีดี เป็นหน่วยบริการด้านสุขภาพสัตว์ที่มีประสบการณ์สูงมากในงานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อไวรัส ตามปรกติ จีดี มุ่งวิจัยเชื้อไวรัสในสัตว์ แต่หลักการของวิธีการวิจัยเชื้อไวรัสในสัตว์ก็เหมือนกับเชื้อวไรัสในมนุษย์นั่นเอง สำหรับการศึกษาเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ การทดสอบต้องถูกทวนสอบความถูกต้องในมนุษย์ก่อน และจีดีก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมโรคในมนุษย์ การตรวจสอบเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ น้ำลายของผู้ป่วยจะถูกตรวจสอบด้วยเครื่องพีซีอาร์ (Polymerase chain reaction device, PCR) เพื่อเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสสำหรับการตรวจสอบ ขณะนี้ จีดี มีห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพพร้อมเครื่องพีซีอาร์จำนวนมาก สามารถตรวจสอบตัวอย่างได้หลายพันตัวอย่างเป็นประจำทุกปี สำหรับการวินิจฉัยโรคโควิด ๑๙ ห้องปฏิบัติการพร้อมรับตัวอย่างมากกว่า ๒๐๐๐ ตัวอย่างต่อวัน  
สัตวแพทย์ในฝรั่งเศส
ในฝรั่งเศส หน่วยงานด้านสุขภาพสัตว์อย่าง "บริษัท ซีวา (Ceva Sante Animale)" กำลังศึกษาเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ด้วยความระมัดระวัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมโรคโควิด ๑๙ แม้ว่าจะไม่สามารถใช้ห้องปฏิบัติการของตนเองที่มีความทันสมัยอย่างมาก สำหรับการวิจัยวัคซีนโควิดได้ แต่สำหรับสุขภาพสัตว์ นักวิจัยของบริษัทก็ทำงานกับเชื้อโคโรนาไวรัสในสัตว์เป็นประจำอยู่แล้ว ด้วยประสบการณ์การทำงานด้านวัคซีนโคโรนาไวรัสในสัตว์อย่างลึกซึ้งเป็นเวลายาวนาน นักวิจัยของซีวาเองก็กำลังศึกษาเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ นี้อย่างระมัดระวัง 
สัตวแพทย์ในสหรัฐฯ
แม้ว่าจะเป็นเชื้อโคโรนาไวรัสเหมือนกัน แต่สัตว์ปีกไม่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด ๑๙ อย่างไรก็ตาม สำหรับสัตวแพทย์แล้ว เชื้อไวรัสแฟมิลีโคโรนาไวรัสรู้จักคุ้นเคยกันมานานแสนนานแล้ว โคโรนาไวรัส แบ่งได้เป็น อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา เป็นกลุ่มของเชื้อไวรัสที่มีความสำคัญกับโรคทางระบบหายใจ ทางเดินอาหาร ระบบประสาท ไต และตับ สำหรับสัตว์ปีก เชื้อไวรัสโคโรนาไวรัสที่รู้จักกันดีที่สุดคือ โรคหลอดลมอักเสบ เป็นแกมมาโคโรนาไวรัส ไม่ติดต่อสู่คน แต่โควิด ๑๙ เป็นเบตาโคโรนาไวรัส
เชื้อไวรัสกลุ่มนี้พบได้ทั้งในมนุษย์ และสัตว์ ดังนั้น สมาคมพยาธิวิทยาด้านสัตว์ปีกแห่งอเมริกัน (AAAP) และมหาวิทยาลัยจอร์เจีย โดยนักไวรัสวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญ ดร.มาร์ก แจ็ควู้ด ได้นำเสนอความเห็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์
๑. อุตสาหกรรมสัตว์ปีก และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสัตว์ปีกมีประสบการณ์อย่างมากกับโรคหลอดลมอักเสบติดต่อที่เป็นโคโรนาไวรัสเหมือนกัน ความจริงแล้วสามารถแบ่งบันความรู้ให้กับวงการแพทย์ได้
๒. โควิด ๑๙ ยังไม่มีหลักฐานพิสูน์ว่าจะติดต่อสู่สัตว์ปีกได้ และไม่น่าจะติดได้เช่นกัน ดังนั้น สัตว์ปีกจึงไม่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด ๑๙
๓. เนื้อสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์ เช่น ไข่ และไส้กรอก ไม่ใช่แหล่งของเชื้อโคโรนาไวรัส
การระบาดของโคโรนาไวรัสครั้งนี้ ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ปีกควรถือโอกาสในการสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ การฆ่าเชื้อ และทำความสะอาด และการเฝ้าระวังโรค
ในการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด ๑๙ สิ่งสำคัญที่สุดคือ พื้นฐานของเชื้อโคโรนาไวรัสมีเปลือกหุ้ม ดังนั้น จึงมีความไวรับต่อการฆ่าเชื้อด้วยสบู่ และสารฆ่าเชื้อทั่วไป การผลิตวัคซีนในมนุษย์มีความซับซ้อน เนื่องจาก การทำให้เชื้อไวรัสอ่อนแรงลงได้ค่อนข้างลำบาก ส่วนการพัฒนาวัคซีนรีคอมบิแนนท์ก็ยังให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจนัก แม้ว่าจะมีการใช้อย่างแพร่หลายมากอยู่แล้วในการผลิตสัตว์ปีก แต่สัตว์ปีกไม่เหมือนมนุษย์ จำเป็นต้องมีงานวิจัยมากกว่านี้จนกว่าจะได้วัคซีนที่ดีเพียงพอ จงเดินหน้าผลิตไก่ และไข่ต่อไปในเวลานี้ โควิด ๑๙ ก็น่ากลัว แต่ความอดอยากที่อาจเป็นวิกฤติต่อไปเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า 

เอกสารอ้างอิง
Brockotter F. 2020. Veterinarian expertise in Corona crisis. [Internet]. [Cited 2020 Mar 30]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2020/3/Veterinarian-expertise-in-Corona-crisis-562693E/ 

ภาพที่ ๑ เครื่องพีซีอาร์ที่ห้องวิจัยของฮิปรา และโรยัล จีดี ในเนเธอร์แลนด์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่กำลังใช้สำหรับช่วยตรวจสอบโควิด ๑๙  (แหล่งภาพ Hipra)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แมคโดนัลด์ทยอยเปิดร้านใหม่ในยูเครน

  นับตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๖๗ เป็นต้นไป แมคโดนัลด์เริ่มเปลี่ยนไปใช้ไก่จากบริษัทเอ็มเอชพีสำหรับร้านจำหน่ายสินค้าในยูเครน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป...