วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563

โควิด ๑๙ สร้างปัญหาต่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกโปแลนด์

ในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฏาคมที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีกโปแลนด์ เสียหายไปแล้ว ๕.๔ พันล้านบาท เนื่องจาก การระบาดของโรคโควิด ๑๙ อย่างต่อเนื่อง

หอการค้าผู้ผลิตสัตว์ปีก และอาหารสัตว์แห่งโปแลนด์ ประเมินว่า ไตรมาสที่ ๔ ของปีนี้ สถานการณ์น่าจะเลวร้ายลง มูลค่าความเสียหายคาดว่าไต่ขึ้นไปอีกสองเท่าเป็น ๑.๒ หมื่นล้านบาทเมื่อถึงสิ้นปี ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่ผู้ผลิตสัตว์ปีกชาวโปแลนด์เผชิญเป็นการลดลงอย่างหนักของยอดสั่งซื้อของอุตสาหกรรมด้านบริการ โดยเฉพาะ ธุรกิจที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม บางคนที่มองเพียงสถานการณ์ปัจจุบันอาจเห็นว่า การระบาดของโควิด ๑๙ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมสัตว์ปีกโปแลนด์เพียงเล็กน้อย นับตั้งแต่มกราคมถึงกรกฏาคม การส่งออกเนื้อสัตว์ปีกยังลดลงเพียงร้อยละ ๓.๗ เท่านั้น แต่มูลค่าการส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นตัวเงินแล้ว ความเสียหายมากกว่าร้อยละ ๑๐ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าของยอดขายไปยังต่างประเทศเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว บริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีกโปแลนด์มีรายได้หายไปสูงถึง ๕.๔ หมื่นล้านบาท ยอดจำหน่ายที่ตกต่ำลง ร่วมกับผลกำไรขั้นต้นที่ลดลงได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอย่างหนัก บริษัทส่วนใหญ่มีความสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้น้อย เช่น การจำกัดการผลิตในกรณีที่ความต้องการสินค้าลดลง 


รักษายอดการผลิตไว้      

สถานการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่สร้างความได้เปรียบต่อการผลิตสัตว์ปีกของโปแลนด์คือ การรักษาการผลิตให้มากเข้าไว้ หมายความว่า การจัดจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้นที่จะช่วยให้ราคาถูกลงได้ แต่เชื่อว่า กลยุทธ์นี้จะใช้ได้ผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาว วิธีการปฏิบัติงานเช่นนี้จะยิ่งทำให้เกิดผลลบอย่างยิ่งยวด

ในเดือนมกราคม ถึงกรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้ โปแลนด์สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกมูลค่าโดยภาพรวม ๔.๙ หมื่นล้านบาท จากสินค้า ๘๒๒,๐๐๐ ตัน ปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ๓๒,๐๐๐ ตัน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มูลค่าการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสูงถึง ๙.๗ หมื่นล้านบาท ผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกรายสำคัญ ได้แก่ เยอรมัน ร้อยละ ๑๕ สหราชอาณาจักร ร้อยละ ๘ เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ ๘ ฝรั่งเศส ร้อยละ ๖ และเช็ก ร้อยละ ๕ นอกจากนั้น การส่งออกเกือบร้อยละ ๒๙ ไปยังนอกสหภาพยุโรป 

  

เอกสารอ้างอิง

Vorotnikov V. 2020. Covid-19 pandemic costs Polish poultry export dearly. [Internet]. [Cited 2020 Oct 29]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2020/10/Covid-19-pandemic-costs-Polish-poultry-export-dearly-662672E/     

ภาพที่ ๑ ผู้ผลิตพยายามรักษากำลังการผลิตไว้ แต่ไม่สามารถสร้างมูลค่าในการส่งออก (แหล่งภาพ Michel Zoeter)



วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563

หวัดนกระบาดกระทบส่งออกสัตว์ปีกในรัสเซีย

การระบาดใหม่ของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูงในไซบีเรียส่งผลลบต่อการส่งออกสัตว์ปีกของรัสเซีย ตามรายงานของนักวิเคราะห์ตลาดในนิตยสารภายในประเทศ

โรคไข้หวัดนกมีรายงานใน ๔ พื้นที่ของประเทศ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกใน Chelyabinsk Oblast และ Omsk Oblast ไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกเนื้อสัตว์ปีกภายในสหภาพศุลกากร และ Chelyabinsk Oblast ยังสูญเสียโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกไปยังจีนอีกด้วย การระบาดของโรคไข้หวัดนกครั้งนี้ส่งผลกระทบทางลบต่อบริษัทหลายแห่งภายในประเทศ Ravis และ Zdorvaya Ferma ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ Chelyabinsk Oblast เป็นผู้จำหน่ายเนื้อไก่ให้กับจีน แต่เกิดโรคไข้หวัดนก และถูกควบคุมการส่งออก    

หน่วยงานปศุสัตว์รัสเซียเองพยายามต่อรองกับศุลกากรจีน เพื่อแสวงหาโอกาสความเป็นไปได้ในการผ่อนปรนให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกรัสเซียที่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยระดับสูงที่สุด สามารถกลับมาส่งออกได้โดยเร็ว แม้ว่าจะไม่สามารถส่งออกได้ แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีกของรัสเซียมากนัก เพราะการส่งออกมีสัดส่วนเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น

การส่งออกกำลังพุ่งทะยาน 

ในปีนี้ ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกรัสเซียวางแผนจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีกให้ได้ ๒๘๐,๐๐๐ ตันไปยังลูกค้าต่างประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๓ เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว รัสเซียวางแผนเพิ่มยอดส่งออกเนื้อสัตว์ปีกให้ได้ภายในไม่กี่ปีต่อจากนี้ โดยเป้าหมายหลักเป็นสินค้าฮาลาล ในปีที่แล้ว ยอดจำหน่ายรวมของตลาดเนื้อสัตว์ปีกฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่า ๓๗ ล้านล้านบาท รัสเซียมีส่งแบ่งอยู่เพียง ๑๖,๕๐๐ ล้านบาทเท่านั้น รัสเซียผลิตเนื้อสัตว์ปีกฮาลาลได้ราว ๖๕๐,๐๐๐ ตันต่อปี  

ไข้หวัดนกระบาดในคาซัคสถาน 

ขณะที่รัสเซียตกที่นั่งลำบากกับโรคไข้หวัดนก เชื้อไวรัสก็ได้แพร่กระจายต่อไปยังอีก ๔ พื้นที่ในคาซัคสถานตามรายงานเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายนที่ผ่านมา ไก่เนื้อสำหรับการผลิตสินค้ากว่าแสนตันถูกทำลาย และยังมีอีกหลายล้านตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อโรค ถึงเวลานี้ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้หวัดนกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประกาศแผนการให้วัคซีนเป็นวงกว้างโดยมีเป้าหมายสัตว์ปีกจำนวน ๕ ล้านตัว นอกจากนั้น ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกที่ติดเชื้อทั้งหมดจะได้รับการชดเชยจากงบประมาณรัฐบาลสำหรับความเสียหายจากโรคระบาดครั้งนี้   


เอกสารอ้างอิง

Vorotnikov V. 2020. Continuing AI epidemic hurts Russian poultry export. [Internet]. [Cited 2020 Oct 2]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2020/10/Continuing-AI-epidemic-hurts-Russian-poultry-export-649373E/ 

ภาพที่ ๑  กรมปศุสัตว์รัสเซียพยายามต่อรองกับรัฐบาลจีนถึงความเป็นไปได้ที่จะผ่อนปรนมาตรการให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกในรัสเซียที่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยระดับสูงที่สุด สามารถส่งออกสัตว์ปีกได้ต่อไป (แหล่งภาพ Anne van der Woude)



วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

สตาร์ตอัพอิสราเอล พัฒนาเทคนิคแปลงเพศตัวอ่อนลูกไก่

เหนือชั้นกว่าการแยกเพศ ไม่ต้องดูขนปีกแยกเพศกันอีกแล้ว อยากได้เพศไหนก็แปลงกันไปเลยตั้งแต่ในไข่ฟัก อุตสาหกรรมไก่ไข่ก็ไม่ต้องคัดลูกไก่เพศผู้กันอีกต่อไปฟักออกได้เป็นตัวเมียล้วนๆ สตาร์ตอัพอิสราเอล Soos พัฒนาเทคนิคการกระตุ้นด้วยเสียงเพื่อแปลงเพศตัวอ่อนลูกไก่จากผู้เป็นเมียในโรงฟักแล้ว 

ในทุกปี อุตสาหกรรมการผลิตไข่ทั่วโลกผลิตลูกไก่มากกว่า ๑.๕ หมื่นล้านตัว ครึ่งหนึ่งเป็นตัวเมีย และเติบโตเป็นแม่ไก่ไข่ผลิตไข่ไก่ให้เราได้รับประทาน แต่อีกครึ่งหนึ่ง ๗.๕ พันล้านตัวเป็นลูกไก่เพศผู้ ที่ต้องถูกคัดทิ้งไปเฉยๆ แต่ในเวลานี้ ประเด็นด้านจริยธรรม และสวัสดิภาพเป็นเรื่องใหญ่โต นอกเหนือจาก ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่คุ้นเคยจนเป็นความเคยชินมาตลอด

ปัจจุบัน หลายประเทศกำลังแบนการทำลายลูกไก่เพศผู้ และการผลิตไข่ไก่ทั่วโลกมีแนวโน้มความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตจึงคิดหาทางออกสำหรับประเด็นร้อนที่กำลังโต้เถียงกันแรงขึ้นๆทุกวันสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก สตาร์ตอัพ อิสราเอล Soos จึงนำเสนออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่


สตาร์ตอัพ Soos คิดเปลี่ยนโฉมหน้าโลกการผลิตไก่ไข่  

นักวิจัยเสนอขอทุนวิจัยครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ สามปีที่แล้ว วางแผนกันระยะยาวครบทั้งกระบวนการผลิต ตั้งแต่โรงฟักขนาดเล็กผลิตไข่ไก่ได้ ๕๐๐๐ ฟอง แล้วสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่รุ่นขนาด ๘๐,๐๐๐ ตัว จนกระทั่ง กระบวนการผลิตครบทั้งวงจร  

เนื่องจาก การมุ่งความสนใจต่อการสั่นสะเทือนจากเสียง ตู้บ่มของ Soos จึงออกแบบมาให้ทำงานอย่างเงียบเชียบ สิ่งแรกที่นักวิจัยค้นพบคือ หากนั่งข้างตู้บ่มตามปรกติ เสียงการทำงานของตู้บ่มจะดังมาก จึงไม่เป็นการดีเลยต่อสุขภาพของผู้ที่ทำงานใกล้กับเครื่องจักรที่คำรามส่งเสียงดังตลอดเวลาเช่นนี้ แต่ใน Soos มีตู้บ่มสามเครื่องที่ทำงานเงียบมาก 

ผู้วิจัยได้พัฒนาเซลล์อะคูสสิก เพื่อตรวจวัดเสียงภายในตู้บ่ม โดยมีเป้าหมายถัดไปในการนำร่องธุรกิจนอกอิสราเอล เพื่อออกจากข้อจำกัดในการขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น


คิดใหม่ในการเลือกเพศลูกไก่ไข่ 

บริษัทนวัตกรรมส่วนใหญ่เล็งเป้าไปที่เทคโนโลยีการคัดลูกไก่เพศผู้โดยการสแกนตรวจเพศตั้งแต่ตัวอ่อนในช่วงสองวันแรก ในมุมมองด้านสวัสดิภาพสัตว์ ยังคงต้องทำลายไข่ก่อนอายุตัวอ่อนได้ ๗ วัน กำลังเป็นสิ่งท้าทายต่อนักวิจัย แต่แทนที่จะคอยตรวจสอบลูกไก่เพศผู้ หรือเมีย เทคโนโลยีของ Soos จะแปลงพันธุกรรมของเพศผู้ให้กลายเป็นลูกไก่เพศเมีย นอกจากหมดปัญหาเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ แต่ยังเป็นการได้จำนวนลูกไก่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๕๐ แทนที่จะคัดทิ้งไปเฉยๆก็แปลงเพศก่อนเลย

นอกเหนือจากนั้น นวัตกรรมบางแง่มุมที่หวังดัดแปลงพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในหลายแห่งทั่วโลก เทคโนโลยีของ Soos ไม่ได้ใช้สารเคมีที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อตัวอ่อน แต่ใช้วิธีการกระตุ้นด้วยเสียง และปรับสภาพแวดล้อมในตู้ เป็นที่ยอมรับกันว่า เสียงส่งผลต่อเซลล์ ขณที่ เทคโนโลยีนี้ยังใช้ในทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็ง นักวิจัยพยายามบอกให้เห็นภาพว่า เทคโนโลยีชั้นสูงนี้มีอยู่จริง และใช้กันอยู่แล้วในทางการแพทย์ ไม่ใช่อยู่ในความฝัน เทคโนโลยีนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ เพื่อกำหนดทิศทางการเลือกเพศของตัวอ่อนลูกไก่ เวลานี้ Soos ประสบความสำเร็จแล้วร้อยละ ๖๐ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๘๐ ภายในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ 

 ผู้วิจัยใช้การทดสอบระดับดีเอ็นเอในการพิสูจน์หลักทฤษฎี และอธิบายปรากฏการณ์ที่กำลังวิจัย พบว่า มีตัวเมียที่มีโครโมโซม ZZ (เพศผู้) อยู่ เป้าหมายสำหรับปีหน้า มีหุ้นส่วนในใจอยู่แล้วในมหาวิทยาลัย เพราะยังมีข้อจำกัดด้านความพร้อมของห้องวิจัยเพาะเลี้ยงเซลล์ ผู้วิจัยต้องการทดลองใช้การสั่นสะเทือนของเสียงในระดับเซลล์เพาะเลี้ยง 


แผนในอนาคต

บังเอิญช่วงนี้โควิด ๑๙ ระบาด แผนการขยายธุรกิจนอกอิสราเอลยังชะลอไว้ก่อน แต่ในอนาคตจะก้าวเข้าไปในยุโรป ติดตามด้วยสหรัฐฯ เป้าหมายสำคัญในอนาคตคือ นำร่องกิจกรรมภายนอกอิสราเอล เพื่อยกระดับโปรโตคอลการฟักไข่ เพื่อให้ได้ผลที่ดีขึ้นกว่าเดิมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในอนาคต เทคโนโลยีของ Soos จะต้องใช้ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก เชื่อว่า เทคโนโลยีการแปลงเพศตัวอ่อนลูกไก่จะเปลี่ยนโลกได้ หากประสบความสำเร็จ ก้าวต่อไปอาจเป็นการเลือกเพศทารก และสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ป่าที่มีค่าได้   


เอกสารอ้างอิง

Kwakman R. 2020. Israeli start-up Soos tackles culling of male chicks. [Internet]. [Cited 2020 Oct 6]. Available from: https://www.poultryworld.net/Eggs/Articles/2020/10/Israeli-start-up-Soos-tackles-culling-of-male-chicks-650864E/ 

ภาพที่ ๑  เทคโนโลยีของ Soos ใช้เซลล์อะคูสติกตรวจวัดเสียงภายในตู้บ่ม แล้วแปลงเพศตัวอ่อนโดยการกระตุ้นด้วยความสั่นสะเทือนจากเสียง และการปรับสิ่งแวดล้อมในตู้ฟัก (แหล่งภาพ Jordan Kastrinsky, Soos )



วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2563

คน Gen Z ไม่ไว้ใจเนื้อเทียม

ผู้บริโภครุ่นใหม่ห่วงใยกับสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปอย่างยิ่งยวด ร้อยละ ๗๒ ของคนรุ่นใหม่ชาว GenZ ที่มีอายุระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ถึง ๒๕๕๘ และมีความเชื่อว่า ผู้ประกอบการเองยังไม่พร้อมที่จะเพาะเลี้ยงเนื้อเทียมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเชิงพาณิชย์ได้ ผู้บริโภคเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

คนรุ่นใหม่เจนเนอเรชัน แซด (Generation Z) ที่คุ้นเคยกับคำว่าเจนแซดมากกว่า เป็นกลุ่มคนที่คลั่งไคล้กับเทคโนโลยี เกิดมาพร้อมกับคาบมือถือ ไอแพด และอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ไว้ตลอดเวลา โลกนี้ควบคุมทุกอย่างได้ไว้ในมือแล้วตั้งแต่ปากท้อง ความบันเทิง การเดินทาง และการเรียนจนแทบไม่ต้องขยับกายไปพบกับใคร ชีวิตนี้อยู่ในอ้อมกอดอันอบอุ่นของเทคโนโลยีใหม่ แม้กระทั่ง เทคโนโลยีด้านอาหาร แต่พวกเขาก็มีความคิดเป็นของตนเอง ชื่นชมสวัสดิภาพสัตว์ และห่วงใยสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ได้สร้างรอยแรกระหว่างเจนแซดออกจากเจนอื่นๆ 

ผลวิจัยเชิงสำรวจที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ และเคอร์ทิน สุ่มจากชาวออสเตรเลีย ๒๒๗ คนในวัยเจนแซด เกี่ยวกับรสนิยมการบริโภคอาหาร พวกเขารู้สึกอย่างไรกับเนื้อเทียมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเนื้อสัตว์ทางเลือกประเภทอื่นๆ 

เนื้อเทียมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเนื้อที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ โดยใช้เซลล์จากสัตว์ที่เพาะไว้ในห้องปฏิบัติการ คำโฆษณาจูงใจว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้เป็นผลดีต่อสุขภาพ และสร้างความยั่งยืนมากกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ 

ผลการวิจัย ยังพบอีกว่า

• ร้อยละ ๔๐ เชื่อว่า เนื้อเทียมสามารถให้คุณค่าทางอาหารได้จริงๆ

• มากกว่าน้อยละ ๕๙ ห่วงใยผลกระทบของสิ่งแวดล้อมจากการเกษตรกรรมที่ปฏิบัติกันในปัจจุบัน อย่างรก็ตาม ยังคงสับสนว่า จะส่งผลกระทบอย่างไรได้บ้าง

• ร้อยละ ๑๗ ปฏิเสธเนื้อเทียม รวมถึง เนื้อจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ โดยเห็นว่า กระบวนการผลิตใช้สารเคมีที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และผ่านการแปรรูปหลายขั้นตอนอย่างซับซ้อน

• ผู้บริโภคเห็นว่า เนื้อจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรมาก และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

• ร้อยละ ๑๑ ปฏิเสธว่าเนื้อเทียมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการไม่ได้ช่วยเพิ่มการบริโภคผลไม้ และผัก และจะยังคงรับประทานอาหารผักดีกว่า

• ร้อยละ ๓๕ ปฏิเสธทั้งเนื้อเทียมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ และแมลง แต่ยอมรับเนื้อเทียมที่ผลิตจากผัก โดยคิดว่า รู้สึกเป็นธรรมชาติมากกว่า และปรกติมากกว่า

• ร้อยละ ๒๘ เชื่อว่า เนื้อจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ ยอมรับได้

การทำให้เนื้อจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางกว่านี้อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก เจนแซด ยังไม่ยินดีที่จะทดลอง เจนแซดยังชื่นชอบวีแกน มังสะวิรัติ หรือรับประทานเนื้อสัตว์ปรกติที่มีคุณภาพสูงมากกว่า หากพวกเขาอยากลดการบริโภคเนื้อแล้ว ก็จะเลือกรับประทานผลไม้ และผักมากกว่าจะเลือกเนื้อจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ ผู้บริโภคเจนแซด และมิลเลเนียมจะยังคงรับประทานเนื้อปรกติ แต่จะพยายามลดให้น้อยละ   

เอกสารอ้างอิง

Doughman E. 2020. Gen Z is skeptical about cultured meat sustainability claims [Internet]. [Cited 2020 Sep 16]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/41159-gen-z-is-skeptical-about-cultured-meat-sustainability-claims 

ภาพที่ ๑  ผู้บริโภครุ่นใหม่ห่วงใยกับสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปอย่างยิ่งยวด (แหล่งภาพ ra2studio | BigStock.com)



วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563

ผลของระยะทางขนส่ง และสภาพอากาศต่อไก่เนื้อ

 นักวิจัยศึกษาผลกระทบของระยะทางการขนส่งต่อไก่เนื้อเชิงพาณิชย์ที่ระยะทางระหว่าง ๑๕ ถึง ๙๐ กิโลเมตร นักวิจัยจากบราซิลพยายามประเมินผลของอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และดัชนีความสบาย (ECL enthalpy comfort index) ของไก่เนื้อเชิงพาณิชย์ที่มีการขนส่งระหว่างระยะทาง ๑๕ ถึง ๙๐ กิโลเมตร ทั้งฤดูร้อน และหนาว (ฝน และแล้ง) และผลกระทบต่อน้ำหนักตัว อัตราการตาย และความชุกของรอยช้ำ

 ความเครียดจากการขนส่งต่อไก่เนื้อ ระหว่างการขนส่งไก่เข้าสู่โรงเชือด ไก่เนื้อต้องอดน้ำ และอาหารเป็นเวลานาน มีความสัมพันธ์กับ Yield losses ที่โรงเชือด และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการขนส่ง เช่น การสั่นสะเทือน สิ่งรบกวน และเสียงที่เกิดขึ้นบนถนนระหว่างการเดินทาง ล้วนสร้างความเครียดให้กับสัตว์ จนทำให้เกิดความสูญเสีย นอกเหนือจากนั้น ความผันผวนของสภาวะอากาศระหว่างการขนส่ง เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความชื้น และการไหลเวียนอากาศภายในกล่องไก่ ล้วนเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดสำหรับไก่เนื้อ

ผลกระทบต่อผลผลิต

ผลกระทบของปัจจัยด้านสภาวะอากาศในพื้นที่ขนาดเล็ก เป็นที่ยอมรับกันดีว่าส่งผลกระทบต่อผลผลิตไก่เนื้อที่โรงเชือด เช่น Carcass yield (ปริมาณของเนื้อ) และคุณภาพซาก โดยเฉพาะ การเกิดรอยช้ำ การวิเคราะห์ผลวิจัยครั้งนี้ ยังพิจารณา และประเมินระดับของอุณหภูมิอากาศที่ทำให้สัตว์รู้สึกสบายระหว่างการขนส่งอีกด้วย นั่นคือ ปัจจัยเหล่านี้จะใช้สำหรับการพิจาณาเป็นเกณฑ์ในการเลือก และพัฒนาการจัดการในขั้นตอนก่อนเข้าสู่โรงเชือด เช่น เวลาสำหรับการจับไก่ และขึ้นรถขนส่ง ความหนาแน่นของไก่เนื้อต่อกล่อง และการราดน้ำไก่ เป็นต้น

การประเมินความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านสภาวะอากาศในพื้นที่ขนาดเล็กจากการขนส่งด้วยระยะทางแตกต่างกัน

วัตถุประสงค์ของการวิจัยเป็นการประเมินความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านสภาวะอากาศในพื้นที่ขนาดเล็กระหว่างการขนส่งไก่เนื้อจับเข้าสู่โรงเชือดที่มีระยะทางแตกต่างกัน ในช่วงฤดูที่มีฝน และแห้งแล้ว และผลของปัจจัยด้านสภาวะอากาศในพื้นที่ขนาดเล็กต่อน้ำหนักไก่เข้าเชือด น้ำหนักตัวที่สูญเสียไป อัตราการตาย และการปรากฏรอยช้ำที่ซากไก่ ตามตำแหน่งของกล่องไก่บนรถขนส่ง

ฤดูฝนเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุด

เมื่อพิจารณาด้านความเป็นอยู่ที่สบายของสัตว์ ฤดูฝนเป็นช่วงเวลาที่ถือได้ว่าวิกฤติที่สุดสำหรับสัตว์ระหว่างการขนส่ง จากผลการทดลองที่สังเกตว่ามีค่าดัชนี ECI สูงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ในฤดูฝน และระยะทางไกลกว่า ๙๐ กิโลเมตร ค่าดัชนี ECI สูงที่สุดไปถึงระดับโซนที่ไก่ตายได้ ยิ่งระยะทางไกลมากเท่าไรก็ยิ่งเกิดความแตกต่างของน้ำหนักตัวไก่เพิ่มขึ้น แต่ตำแหน่งของกล่องไก่ที่มีค่าดัชนี ECI สูงก็ไม่ได้มีการสูญเสียน้ำหนักตัว และอัตราการตายสูงกว่าตำแหน่งอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ

ผลกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์

ผลการวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า  สภาวะอากาศในพื้นที่ขนาดเล็กอาจส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์ แต่ไม่จำเป็นต้องส่งผลกระทบต่อผลผลิตไก่เนื้อให้ลดลงได้ ฤดูกาล และระยะทางขนส่งไม่มีผลกระทบต่อความชุกของรอยช้ำ เป็นไปได้ว่า ความชุกจะมีความสัมพันธ์กับการจัดการไก่เนื้อ ผลของการขนส่งที่ส่งผลต่อผลผลิตไก่เนื้ออาจสัมพันธ์กับสภาพถนน แต่ยังเป็นการยากที่จะประเมินผลกระทบที่แท้จริงของฤดูกาล และระยะทางต่อสวัสดิภาพสัตว์จริงๆ


เอกสารอ้างอิง

Berkhout N. 2020. Effect of transport distance and climate on broilers [Internet]. [Cited 2020 Sep 1]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2020/9/Effect-of-transport-distance-and-climate-on-broilers-634302E/ 

ภาพที่ ๑  รถขนส่งมาตรฐานที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ (แหล่งภาพ PLOS ONE)



วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

WHO เตือน อาหารราคาถูกจะทำให้โควิดยิ่งระบาด

 ความต้องการอาหารราคาถูกในสหราชอาณาจักรอาจเป็นเชื้อไฟให้การระบาดของโรคโควิด ๑๙ เป็นคำเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO)

หนังสือพิมพ์เดอร์การ์เดียนได้เผยแพร่ความเห็นของผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกที่มีสถานะเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในสหราชอาณาจักร หลังจากโรงงานหลายแห่งประสบปัญหาในการผลิตอาหาร และครอบครัวของพนักงาน อาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้สินค้าอาหารที่ผลิตด้วยต้นทุนต่ำหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดจนทำให้อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ความพยายามกดดันให้การผลิตสินค้าต้นทุนน้อยลง กำลังผลักภาระให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานในโรงงานผลิตอาหารตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างมากเทียบกับงานด้านอื่นๆ เนื่องจาก ผู้ประกอบการพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

โควิดเชื่อมโยงกับโรงงานผลิตอาหาร

อ้างอิงตามผลวิจัย แสดงให้เห็นว่า ผู้ติดเชื้อมากกว่า ๑,๔๕๐ รายมีความเชื่อมโยงกับโรงงานผลิตอาหารทั่วอังกฤษ สก๊อตแลนด์ และเวลส์ โรงงานแห่งล่าสุดก็ปิดลงเนื่องจากโควิด ๑๙ ในสหราชอาณาจักรเป็นโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกในกลุ่ม Sisters Food ที่เมือง Coupar Angus สก๊อตแลนด์ ที่มีพนักงาน ๑,๐๐๐ คน และโรงงานผลิตแซนด์วิช Greencore ที่เมือง Northampton อังกฤษ ที่ผลิตสินค้าให้กับ Marks and Spencer, Waitrose, Sainsburry และ Tesco

การปิดโรงงานที่เมือง Coupar Angus เกิดขึ้นภายหลังจากการระบาดใหญ่ใน ๒ พื้นที่ของกลุ่มบริษัท Sisters Food ในเมือง Anglesey เวลส์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วมากกว่า ๒๒๐ ราย การปิดโรงงานที่เมือง Coupar Angus เป็นมาตรการที่แสดงความรับผิดชอบ โดยบริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และสุขภาพของพนักงานเป็นสำคัญ ก่อนหน้านี้ โรงงานสามารถผลิตสินค้าได้เป็นเวลาหกเดือนโดยไม่พบผู้ติดเชื้อเลยท่ามกลางการระบาดของโรคในประเทศ   

โรงงานผลิตแซนด์วิช Greencore พบว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พนักงานเกือบ ๓๐๐ คนที่โรงงาน Northampton มีผลตรวจเป็นบวก โรงานแห่งนี้เป็นสถานที่ผลิตสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทมีพนักงาน ๒,๑๐๐ คนจากทั้งบริษัท ๑๑,๐๐๐ คน ขณะเดียวกัน Cranswick Country Foods ใกล้กับเมือง Ballymena ไอร์แลนด์เหนือก็ได้ปิดลงแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อทำความสะอาดใหญ่ ภายหลังพบคลัสเตอร์ของไวรัสในพนักงาน ๓๕ คนที่โรงงานแปรรูปเนื้อสุกร โรงงานแห่งนี้มีพนักงาน ๕๐๐ คน

เอกสารอ้างอิง

McDougal T. 2020.UK’s cheap food could be spreading Covid; WHO envoy warns. [Internet]. [Cited 2020 Aug 29]. Available from:https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2020/8/UKs-cheap-food-could-be-spreading-Covid-WHO-envoy-warns-633179E/



วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563

อังกฤษทำลายไก่เนื้อหลังวิกฤติปิดโรงงานติดโควิด ๑๙

 

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ไก่เนื้อมากกว่าแสนตัวในฟาร์มอังกฤษ ถูกทำลายเนื่องจากการปิดโรงเชือดที่ประสบปัญหาการระบาดของโควิด ๑๙ ในกลุ่มพนักงาน

ปัญหาการขาดแคลน พ.ท.ห้องเย็บเก็บสินค้าก็กดดันให้มีความจำเป็นต้องทำลายไก่ โดยเฉพาะเมื่อโรงงานผลิตอาหารเฟอร์เธอร์ต้องหยุดการทำงานอีก

สภาสัตว์ปีกสหราชอาณาจักร แสดงความวิตกเกี่ยวกับการขาดแคลนสินค้า และปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ การระบาดของโควิด ๑๙ ในโรงเชือด แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการเตรียมการ และการควบคุมอย่างเพียงพอต่อการป้องกันโรค สุขภาพของพนักงาน และชุมชนเป็นสิ่งจำเป็นลำดับแรก แต่ก็ต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร และสวัสดิภาพของสัตว์

การระบาดใหม่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

Banham Poultry ผู้ผลิตสัตว์ปีอังกฤษซึ่งตั้งอยู่ที่ Attleborough เมือง Norfolk นับเป็นโรคเชือดรายล่าสุดที่พบพนักงานติดเชื้อโควิด ๑๙ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง พนักงาน ๘๐ คนมีผลการทดสอบเป็นบวกสำหรับไวรัส เรียกได้ว่า เกิดการระบาดอย่างมีนัยสำคัญ พนักงานที่มีผลการทดสอบเป็นบวกทั้งหมดปฏิบัติงานร่วมกันในห้องตัดแต่งชิ้นส่วน ตอนนี้ถูกปิดลงแล้ว และพนักงานทั้งหมด ๓๕๐ คนก็ต้องกักกันตัวเอง แต่หลายส่วนของโรงงานก็ยังคงเปิดทำงาน

บริษัทแห่งนี้ ผลิตสินค้าเนื้อไก่ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๗ ของโรงเชือดในปี พ.ศ.๒๕๖๒ โดยมีกำลังเชือด ๑ ล้านตัวต่อสัปดาห์

ขณะนี้ บริษัทพยายามเรียกร้องให้ DEFRA ให้ความช่วยเหลือให้โรงงานกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด ๑๙ ขณะเดียวกัน DEFRA เองกำลังเฝ้าติดตามผลกระทบของการระบาดโควิด ๑๙ อย่างใกล้ชิดภายในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร รวมถึง โรงเชือดสัตว์ปีก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะขาดแคลนอาหารจากการปิดโรงงาน 

 

เอกสารอ้างอิง

McDougal T. 2020. Birds culled as UK forced to close plants due to Covid-19. [Internet]. [Cited 2020 Aug 31]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2020/8/Birds-culled-as-UK-forced-to-close-plants-due-to-Covid-19-634009E/

ภาพที่ ๑  ไก่เนื้อมากกว่าแสนตัวในฟาร์มอังกฤษ ถูกทำลายเนื่องจากการปิดโรงเชือดที่ประสบปัญหาการระบาดของโควิด ๑๙



วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ชุดทดสอบเชื้อ เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม ในเป็ดปักกิ่ง

รายงานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Avian Pathology ว่าด้วยการพัฒนาชุดตรวจสอบ in-house ELISA สำหรับตรวจสอบแอนติบอดีต่อเชื้อแบคทีเรีย เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม ในเป็ดปักกิ่ง โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสัตวแพทย์ฮานโนเวอร์ เยอรมัน ถึงเวลานี้เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้กลายเป็นเชื้ออุบัติใหม่ที่ได้รับความสนใจในแวดวงสัตว์ปีกเป็นอย่างมาก ทั้งในฐานะที่เป็นสาเหตุของขาพิการ ปัญหาคุณภาพซาก และการถ่ายทอดเชื้อทั้งในแนวดิ่งจากแม่สู่ลูก และแนวระนาบทางการกิน และหายใจได้อย่างรวดเร็ว 

เชื้อ เอนเทอโรคอคคัส ซีโครัม หรืออีซี เป็นที่กล่าวกันกันมากในช่วงไม่กี่ปีที่่ผ่านมา มีบทความวิชาการจำนวนมากทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการอ้างว่าเชื้อชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญของรอยโรคที่กระดูกในไก่เนื้อ และการติดเชื้อตามระบบในเป็ดปักกิ่ง แม้ว่านักวิชาการจะเห็นความสำคัญของเชื้อก่อโรคชนิดนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมือการวินิจฉัยทางซีโรโลยีสำหรับการตรวจสอบการติดเชื้ออีซีได้ ล่าสุด คณะผู้วิจัยจึงพยายามพัฒนาชุดตรวจสอบอีไลซาขึ้นใช้เองในห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Indirect ELISA สำหรับตรวจสอบแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้ออีซี แล้วลองประเมินชุดทดสอบโดยการตรวจซีรัมจำนวน ๖๗ ตัวอย่างจากเป็ดปักกิ่งที่ทดลองให้ติดเชื้อ และอีก ๗๑๐ ตัวอย่างจากฟาร์มเป็ดปักกิ่งพันธุ์ที่มีการให้วัคซีนเชื้อตาย ย้ำวัคซีนเชื้อตายป้องกันเชื้ออีซี และอีก ๘๐ ตัวอย่างจากเป็ดปักกิ่งเนื้อที่ได้จากฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่ให้วัคซีน

สัตว์ทดลองทุกกลุ่มที่ทดลองฉีดเชื้อเข้าทางถุงลมให้ผลบวกต่อชุดทดสอบอีไลซาที่พัฒนาขึ้นใหม่ โดยมีค่า S/P ratios หรือค่าเฉลี่ยตัวอย่างทดสอบต่อตัวอย่างบวกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เป็น ๐.๗๑ ถึง ๒.๗๐ ที่อายุ ๗ ๑๔ และ ๒๑ วันหลังการฉีดเชื้อ ขณะที่ เป็ดที่ให้เชื้อป้อนปาก และกลุ่มควบคุมลบ ยังคงมีผลเลือดเป็นลบ โดยมีค่า S/P ratios เฉลี่ยเป็น ๐.๐ ถึง ๐.๑๕ 

ฟาร์มเป็ดปักกิ่งพันธุ์ที่ให้วัคซีน ๔ ฝูง ก็สามารถตรวจพบแอนติบอดีได้ โดยตัวอย่างร้อยละ ๖๘ ให้ผลเลือดเป็นบวก มีอัตราส่วน S/P ratio สูงที่สุดอายุระหว่าง ๑๖ ถึง ๒๖ สัปดาห์ มีค่ามัธยฐานของ S/P ratios เป็น ๐.๑๕ ถึง ๑.๐๓ แอนติบอดียังคงตรวจพบได้จากบางตัวอย่างในช่วงสัปดาห์ที่ ๖๑ ถึง ๖๗

สำหรับเป็ดปักกิ่งเนื้อไม่สามารถตรวจสอบแอนติบอดีได้เลย การตอบสนองของแอนติบอดีในเป็ดอาจได้รับอิทธิพลมาจากองค์ประกอบของวัคซีนเชื้อตาย

ชุดตรวจสอบอีไลซาที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับตรวจสอบการติดเชื้อ และการให้วัคซีนอีซีที่น่าจะมีโอกาสวางตลาดในธุรกิจสัตว์ปีกเร็วๆนี้ 

เอกสารอ้างอิง

Arne Jung & Silke Rautenschlein (2020) Development of an in-house ELISA for detection of antibodies against Enterococcus cecorum in Pekin ducks, Avian Pathology, 49:4, 355-360, DOI: 10.1080/03079457.2020.1753653


วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ลำแสงอินฟาเรดเพื่อชีวิตที่ีดีของสัตว์ปีก


การวิจัยด้านการผลิตปศุสัตว์ได้เดินทางถึงระดับที่มีความซับซ้อนลึกซึ้งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อแสวงหาหนทางรอดจากปัญหาด้านการผลิต
งานวิจัยตีพิมพ์เกี่ยวกับผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชาวคานาดาในการใช้ลำแสง Mid Infrared Spectromicroscopy จาก infrared synchroton light ที่มีความสว่างสูง ลำแสงนี้เป็นประโยชน์ในการให้ความสว่างสูงนับเป็นหลายล้านเท่าของความสว่างจากดวงอาทิตย์ ถือเเป็นสุดยอดนวัตกรรมด้าน Spectrophotometer และ Microscopy ที่ช่วยให้ diffraction-limited spactial resolution ที่กล่าวมาข้างต้นฟังแล้วเสมือนเทคโนโลยีจากอวกาศ แต่ไม่ใช่เลยตอนนี้ได้อยู่ในมือของนักวิจัย Andrew Olkowski และคณะนักวิจัย พยายามทำความเข้าใจปัญหาไก่เนื้อโตเร็วจากโรคหัวใจ ด้วยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีนี้จากมหาวิทยาลัย Saskatschewan เป็นไปได้ที่จะค้นพบโปรตีนที่ถูกทำลาย และผิดรูปที่สะสมอยู่ในหัวใจ ปัญหาเล็กๆที่ซุกซ่อนอยู่ในโปรตีนภายในกล้ามเนื้อหัวใจ นักวิจัยต่อยอดการศึกษาไปยังสุขภาพสัตว์ปีก และสาเหตุสำคัญของโรค เพื่อให้สุขภาพของไก่นับล้านตัวมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี ก้าวเข้าสู่บริบทของสวัสดิภาพสัตว์ ภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมก็จะได้ประโยชน์จากผลผลิตที่ดีขึ้น และสร้างความมั่นคงทางอาหาร
โครงการวิจัยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแวดวงสุขภาพสัตว์ปีก แต่ยังขยายขอบเขตไปยังพันธุกรรม อุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ โภชนาการ การใช้สารเติมอาหารทางเลือกใหม่ การผลิตสัตว์ปีกอย่างแม่นยำ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ และการผลิตพลังงานทางเลือกใหม่ และอื่นๆ

เอกสารอ้างอิง
Ruiz B. 2020. A beam of infrared light for the well-being of poultry. [Internet]. [Cited 2020 Jun 28]. Available from: https://www.wattagnet.com/blogs/25-latin-america-poultry-at-a-glance/post/40812-a-beam-of-infrared-light-for-the-well-being-of-poultry
ภาพที่ ๑  การวิจัยด้านปศุสัตว์เดินทางมาถึงเวลาที่ใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้อุตสาหกรรมก้าวผ่านปัญหาที่เคยประสบมาก่อน (แหล่งภาพ KANIN.studio | AdobeStock.com)



วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

คุณภาพซาก เครื่องมือตรวจสอบปัญหาสารพิษจากเชื้อราในไก่เนื้อ


วิธีการที่นิยมกันทั่วไปสำหรับการตรวจสอบการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราในอาหารสัตว์ โดยการเก็บตัวอย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทางเลือกใหม่สำหรับการตรวจติดตามปัญหาสารพิษจากเชื้อราได้โดยการตรวจสอบรอยโรคที่โรงเชือด
วิธีการตรวจสอบรอยโรคของสัตว์ปีกในโรงเชือด สารพิษจากเชื้อราสามารถก่อให้เกิดรอยโรคได้หลายชนิดในอวัยวะภายใน ขึ้นกับชนิดของสารพิษจากเชื้อราที่พบในอาหารสัตว์ว่าจะทำลายอวัยวะชนิดใด การตรวจสอบรอยโรคสารพิษจากเชื้อราเป็นเครื่องมือเพิ่มเติมสำหรับการเฝ้าระวังปัญหา

การตรวจสอบสารพิษจากเชื้อราจากรอยโรคที่โรงเชือด
ข้อมูลการวิเคราห์สารพิษจากเชื้อราในวัตถุดิบ และอาหารสัตว์ ไม่สามารถให้ภาพที่สมบูรณ์องการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราที่แท้จริงได้ บางครั้งระดับของสารพิษจากเชื้อราที่ตรวจพบมีระดับต่ำมาก หรือไม่สามารถตรวจพบได้เลย บ่อยครั้ง นักวิชาการอาหารสัตว์อาจเข้าใจว่าสามารถควบคุมทุกสิ่งไว้ได้อยู่แล้ว และความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ยังสามารถสังเกตเห็นผลกระทบของสารพิษจากเชื้อราในฟาร์มได้ เนื่องจาก
๑. สารพิษจากเชื้อรามีความหลากหลายของชนิด และกระจายทั่วไปในวัตถุดิบ และอาหารสัตว์ในระดับต่ำบ้าง สูงบ้าง
๒. ในทางปฏิบัติ ปริมาณตัวอย่างน้อยมาก ไม่สามาถเป็นตัวแทนที่ให้ผลที่ดีได้ เช่น จำนวนตัวอย่างต้องมากกว่า ๑๐๐ ตัวอย่างต่อแบทช์ที่มีขนาด ๘๐ ตัน
๓. การปรากฏของสิ่งที่บดบังสารพิษจากเชื้อราไม่ให้ตรวจพบได้
๔. การเสริมฤทธิ์ร่วมกันระหว่างสารพิษจากเชื้อรา
๕. การได้รับสารพิษจากเชื้อราในระดับต่ำเป็นเวลานาน
เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ของปัญหาสารพิษจากเชื้อรา พยาธิวิทยาสามารถใช้เป็นเครื่องมือเสริมเพิ่มเติมสำหรับการประเมินผลกระทบของสารพิษจากเชื้อราต่อสัตว์ โดยอาศัยรอยโรคภายนอกที่จำเพาะสำหรับสารพิษจากเชื้อรา ในบางครั้ง อาจเก็บตัวอย่างอวัยวะที่ได้รับผลกระทบเพื่อตรวจวินิจฉัยทางจุลพยาธิวิทยา
สัตวแพทย์ทั่วโลกมีความรู้เป็นอย่างดีเลิศกับเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส สิ่งแรกที่สัตวแพทย์นึกขึ้นได้มักเป็นโรคติดเชื้อ แต่มักลืมคิดไปถึงรอยโรคที่เกิดจากสารพิษเชื้อรา หรือไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยด้วยซ้ำ 
สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ เมื่อทุกสิ่งทำทุกอย่างแล้ว และไม่มีการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ หรือวัคซีน ให้คิดถึงสารพิษจากเชื้อรา สารพิษจากเชื้อมักไม่ทำให้สัตว์ตาย แต่ทำให้สัตว์เติบโตช้าลง ใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น ไม่เพียงแต่รอยโรคที่เกิดจากสารพิษจากเชื้อราในการวินิจฉัยแยกอาจทำให้ตัดสินใจผิดไปจากความเป็นจริง เทคนิคนี้ไม่เพียงใช้ประโยชน์ได้ในโรงเชือดเท่านั้น แต่ยังประยุกต์ใช้ได้ในฟาร์ม ด้านการป้องกัน เช่น การใช้ตัวจับสารพิษจากเชื้อรา หากผลิตภัณฑ์ที่สามารถจับกับสารพิษจากเชื้อราได้ดี ไม่เพียงผลผลิตจะดีขึ้น แต่ผู้ผลิตสัตว์ยังเห็นคุณภาพซากที่โรงเชือดเปลี่ยนไปจากเดิม ขณะที่อุบัติการณ์ของสารพิษจากเชื้อราลดลง

รอยโรคสำคัญจากสารพิษเชื้อรา
องค์ความรู้ด้านพยาธิวิทยาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจำแนกปัญหา ประสบการณ์ทางคลินิกช่วยให้สามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ในห้องปฏิบัติการ วิธีการนี้เหมาะกับโรงเชือด จึงต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วิธีการปฏิบัติงานตามปรกติของพนักงาน เพื่อให้เข้าใจได้ว่ายังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นด้วยหรือไม่
ซากที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษจากเชื้อราจะถูกปลดทิ้งด้วยหรือไม่ขึ้นกับกฎระเบียบ และกฏหมายของแต่ละประเทศ ในสุกร อวัยวะส่วนใหญ่ที่เกิดโรค เช่น ตับที่ดำเยิ้ม ไตที่มีถุงน้ำ ปอดที่บวม หรือความผิดปรกติที่เกิดขึ้นในอวัยวะสืบพันธุ์จะถูกดึงออกจากกระบวนการผลิต อวัยวะถูกนำออกมา เนื่องจาก ลักษณะที่ปรากฏขึ้นภายนอก สำหรับสัตว์ปีก กฏระเบียบภาครัฐไม่ได้กำหนดไว้สำหรับซากสัตว์ปีกที่อาจมีความสัมพันธ์กับสารพิษจากเชื้อรา ประเด็นสำคัญคือ พนักงานตรวจซากในโรงเชือดอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับรอยโรคที่สัมพันธ์กับสารพิษจากเชื้อรา จำเป็นต้องให้ความรู้ และนำภาพของรอยโรคแสดงให้พนักงานเหล่านี้รู้จัก และสามารถจำแนกจากสาเหตุอื่นๆที่เป็นไปได้
เมื่อมีการสื่อสารจากโรงเชือดให้กับผู้ผลิตในฟาร์ม หรือโรงงานอาหารสัตว์ก็จะเกิดประโยชน์ต่อองค์กรโดยภาพรวม โดยเฉพาะ เมื่อมีการสร้างระบบการสื่อสารแบบเรียลไทม์สำเร็จ ขั้นแรกเป็นการสร้างความตระหนักต่อปัญหา และผลกระทบจากสารพิษเชื้อราของสัตวแพทย์ และผู้บริหารโรงเชือด และให้ความรู้จดจำรอยโรคสำคัญที่อาจเกิดจากสารพิษเชื้อรา ข้อมูลที่ได้จากโรงเชือดควรถูกแบ่งปันให้กับสัตวแพทย์ผู้รับผิดชอบดูแลฟาร์มอื่นๆ เพื่อให้คำแนะนำ เมื่อทุกฝ่ายคุ้นเคยกับภาพรอยโรคสำคัญดังกล่าว ก็จะรายงาน และคอยติดตามผ่าซากที่ฟาร์มต่อไป ขั้นตอนเหล่านี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และราคาถูกที่สุดในการสร้างระบบการสื่อสารข้อมูลภายในภาคการผลิตทั้งฟาร์ม และโรงงานอาหารสัตว์สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างสัตวแพทย์ นักวิชาการอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และฝ่ายควบคุมคุณภาพในโรงเชือด  

เอกสารอ้างอิง
Ploegmakers M. 2020. Interview: Agrimprove – mycotoxin lesions in slaughterhouses. [Internet]. [Cited 2020 Jun 29]. Available from: https://www.allaboutfeed.net/Mycotoxins/Articles/2020/6/Interview-Agrimprove--mycotoxin-lesions-in-slaughterhouses-604183E/
ภาพที่ ๑  คุณภาพซากไก่ที่โรงฆ่า และปัญหาสารพิษจากเชื้อรา (แหล่งภาพ Katherine Herborn, University of Plymouth)



วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

บราซิลจับตามองกำแพงการค้า และเฝ้ามองหาโอกาส


 ผู้ประกอบการบราซิลจับตามองอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ กำแพงการค้าใหม่ ๑๗ ข้อที่เกิดจากประเทศต่างๆทั่วโลก ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา โดย ๓ ข้อในนั้นเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก
National Confederation มองว่า เม็กซิโก อินเดีย และซาอุอาระเบียเป็นตัวร้ายสำคัญ จากระบบการตรวจติดตามทั่วโลก เม็กซิโก และอินเดียเพิ่มภาษีการนำเข้าเนื้อไก่จากบราซิล ซาอุฯ เริ่มกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนนำเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ประเทศกลุ่มอาหรับเป็นลูกค้าสำคัญสำหรับสินค้าสัตว์ปีกของบราซิล และนำเข้า ๔๖๘,๘๒๘ ตันในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ขณะที่ เม็กซิโก นำเข้า ๙๗,๙๘๗ ตัน แต่ไม่มีข้อมูลจากอินเดีย
National Industry Confederation (CNI) อัพเดต้อมูลการสำรวจเป็นประจำ โดยอาศัยข้อมูลที่เป็นทางการจากระบบอิเล็กโทรนิกส์สำหรับการตรวจติดตามอุปสรรคการส่งออกมีชื่อเป็นภาษาสเปนว่า "Sem Barreiras" นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นมา ระบบ Sem Barreira ตรวจพบอุปสรรคทางการค้าต่อสินค้าบราซิลรวมทั้งหมด ๗๐ รายการ
ข้อมูลเหล่านี้ได้ช่วยให้หน่วยงานราชการในบราซิลกำหนดกลยุทธ์เพื่อจัดการกับปัญหา ถึงกระนั้น รัฐบาลก็สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาได้ร้อยละ ๑๐ ของปัญหาที่เกิดขึ้น ประเด็นทางการค้ายังครอบคลุมส่วนที่นอกเหนือจากสินค้าเกษตรกรรม จีน อาร์เจนติจา และอียู สร้างกำแพงการค้าต่อสินค้ายาง อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ และผลิตภัณฑ์โลหะ ยานยนต์ พลาสติก และเทคโนโลยีสารสนเทศ

เวียดนามเปิดประตูรับผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกบราซิลรวดเดียวสี่ราย
บราซิลอนุญาตให้ผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีกบราซิล ๔ ราย ส่งออกไปยังตลาดเวียดนามได้แล้ว ตามข้อมูลจากกระทรวงเกษตร เวียดนามนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกบราซิล ๑๒,๑๐๐ ตัน ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗๓ เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ตั้งแต่ปีที่แล้ว ความต้องการเนื้อสัตว์ปีกเวียดนามเติบโตร้อยละ ๔๒ 

เอกสารอ้างอิง
Azevedo D. 2020. Brazil keeps an eye out for trade barriers and finds them. [Internet]. [Cited 2020 May 15]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2020/6/Brazil-keeps-an-eye-out-for-trade-barriers-and-finds-them-596891E/
ภาพที่ ๑  บราซิลจับตามองกำแพงการค้า และเฝ้ามองหาโอกาส (แหล่งภาพ Mark Pasveer)


วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ระบบสเปคทรัลเอนโทรปี วิเคราะห์เสียงพยากรณ์ผลการเลี้ยง และสวัสดิภาพไก่


ระบบการฟังเสียงสำหรับตรวจจับความเบี่ยงเบนจากเสียงแบคกราวนด์ สามารถช่วยพยากรณ์สุขภาพในระยะยาว และความเป็นอยู่ที่ดีของฝูงไก่
นักวิจัยได้พัฒนาระบบการตรวจติดตามสวัสดิภาพสัตว์ที่มีราคาย่อมเยา และง่าย โดยใช้ระบบการฟังเสียงแบบอัตโนมัติ ผลการศึกษาจากความร่วมมือของนักวิจัยจากสี่มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร รวบรวม และวิเคราะห์เสียงบันทึกของลูกไก่จำนวนมากกว่า ๒๕,๐๐๐ ตัวจาก ๑๒ ฝูง เริ่มตั้งแต่วันแรกของการเลี้ยง ลูกเจี๊ยบทุกตัวส่งเสียงร้องเจี๊ยบๆ ตื่นตกใจไปกับสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ แต่หลังจากนั้น ลูกเจี๊ยบจึงเริ่มมองหาอาหาร และน้ำ เปิดใจยอมรับโลกใบใหม่ส่งเสียงน้อยลง ค่อยๆสงบ หากเรายังคงได้ยินเสียงร้องส่งเสียงดังหลังจากนั้นอีก อาจเป็นสัญญาณของสิ่งผิดปรกติบางประการขึ้นแล้ว ในแต่ละปี มีการเลี้ยงสัตว์ปีกมากกว่าห้าหมื่นล้านตัว เครื่องมืออย่างง่ายที่สามารถตรวจจับสิ่งผิดปรกติในช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตจะส่งผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ต่อสวัสดิภาพสัตว์ และคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงได้
 
ระบบสเปคทรัล เอนโทรปี
วิธีใหม่ที่เรียกว่า สเปคทรัล เอนโทรปี (Spectral entropy) ช่วยตรวจจับเสียง แล้ววิเคราะห์เสียงสูงต่ำ ใช้ง่าย ระบบนี้สามารถตรวจจับเสียงที่ผิดไปจากเสียงแบคกราวนด์รอบตัวไก่ ระบบการตรวจติดตามเสียงแบบอัตโนมัตินี้สามารถแยกเสียงร้องจากความเครียดของลูกไก่จากเสียงที่แวดล้อมตัวสัตว์ เช่น เสียงของอุปกรณ์การเลี้ยงต่างๆ เป็นต้น
ทุกวันนี้ ผู้เลี้ยงสัตว์อาจใช้ประสาทสัมผัสของร่างกาย แล้วประเมินสวัสดิภาพของไก่เนื้อออกมาเป็นคะแนนตามความรู้สึก แต่ระบบอัตโนมัตินี้จะช่วยขจัดโอกาสของความคลาดเคลื่อนเนื่องจากมนุษย์ และช่วยส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ และประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการได้

เสียงโวยวายของลูกเจี๊ยบบ่งบอกสวัสดิภาพชีวิตในระยะยาว
สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลการวิจัยเผยให้เห็นเสียงร้องจากความเครียดเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเครียดในเวลานั้น หรือความตื่นตกใจของลูกไก่ เสียงร้องเหล่านี้ช่วยพยากรณ์พฤติกรรมของฝูงสัตว์ การเจริญเติบโตในอนาคต อัตราการตาย และข้อมูลด้านสวัสดิภาพสัตว์ในมิติต่างๆของสัตว์ได้
โดยการวิเคราะห์เสียงต้องของลูกเจี๊ยบในช่วงวันแรกๆของชีวิต สามารถพยากรณ์อัตราการเจริญเติบโต และจำนวนไก่ตายตลอดช่วงเวลาการเลี้ยงได้ หมายความว่า ผู้เลี้ยงไก่สามารถใช้เครื่องมือนี้ช่วยให้การเลี้ยงไก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยไม่ต้องเพิ่มพนักงานเป็นพิเศษ และยังได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นสำหรับช่วยให้สวัสดิภาพสัตว์ดีขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง
Doughman E. 2020. Automated acoustic monitoring could improve chick welfare. [Internet]. [Cited 2020 Jun 20]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/40627-automated-acoustic-monitoring-could-improve-chick-welfare
ภาพที่ ๑  การตรวจติดตามเสียงเพื่อเฝ้าระวังสวัสดิภาพการเลี้ยงไก่ ด้วยวิธีง่ายๆแค่ฟังเสียงลูกเจี๊ยบ (แหล่งภาพ Katherine Herborn, University of Plymouth)


วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การลดความเสี่ยงของเชื้อซัลโมเนลลาปนเปื้อนซ้ำในอาหารสัตว์


การตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ลดความเสี่ยงของเชื้อซัลโมเนลลาตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์สู่อาหารมนุษย์ เพื่อช่วยให้มั่นใจทั้งอาหารสัตว์ และการเลี้ยงสัตว์ปีก อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตบางขั้นตอน เช่น การสร้างสภาวะที่แห้ง ทำให้เซลล์ของเชื้อ ซัลโมเนลลา แห้งไปเอง ก็สามารถช่วยสนับสนุนการทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อได้ด้วย

ในบางช่วงของการผลิตอาหารสัตว์ เซลล์ของเชื้อซัลโมเนลลา สามารถจำศีลพักรักษาตัวก่อน รอคอยเวลาถูกปลุกให้ตื่นในระหว่างกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถตรวจสอบเซลล์ของเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่ยังอยู่ในระยะจำศีลได้เลย ทำให้เข้าใจว่า อาหารสัตว์ที่ผลิตจำหน่ายยังปราศจากเชื้อปนเปื้อน กลายเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร ความเสี่ยงดังกล่าวนี้จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การฆ่าเชื้อด้วยเทคนิคการบำบัดด้วยไฮโดรเทอร์มัล ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์การถนอมคุณภาพอาหารสัตว์ ด้วยการใช้ส่วนผสมของบัฟเฟอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ร่วมกับกรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิว สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนอาหารสัตว์ระหว่างการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

การปนเปื้อนอาหารสัตว์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการผลิต    

การปนเปื้อนอาหารสัตว์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการผลิต ได้แก่ วัตถุดิบอาหารสัตว์ การขนส่ง การจัดเก็บ กระบวนการผลิต หรือแม้กระทั่ง โรงเรือนเลี้ยงสัตว์

ในแต่ละขั้นตอนก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การลดความเสี่ยงด้านจุลชีววิทยามีความจำเป็นในระยะแรกของการผลิต ตามห่วงโซ่อาหารสัตว์สู่อาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนข้าม และสร้างความมั่นใจว่าอาหารปลอดภัยสำหรับการบริโภคของมนุษย์ ในกระบวนการถัดมา สุขอนามัยระหว่างการผลิต แผนการเก็บสินค้าวัตถุดิบ และการจัดการฟาร์มที่ดี ก็เป็นจุดวิกฤติที่การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์อาจเกิดขึ้นได้

 เมื่อสภาวะสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ปรากฏขึ้นในขั้นตอนใดของการผลิตอาหารสัตว์ เชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริซีอี เช่น ซัลโมเนลลา สามารถเป็นภัยคุกคามต่อทั้งสัตว์ที่กินอาหารสัตว์ที่ปนเปื้อน และมนุษย์ผู้บริโภคเนื้อสัตว์นั้น หนึ่งในอันตรายคุกคามนั้นคือเชื้อ ซัลโมเนลลา ในระยะจำศีล เนื่องจากความแห้ง เชื้อ ซัลโมเนลลา ที่อยู่ในระยะแห้งทำให้ห้องปฏิบัติการไม่สามารถตรวจสอบเชื้อได้ด้วยวิธีตามปรกติได้ และทำให้สรุปผลกันผิดพลาดได้ว่า อาหารสัตว์ และระบบการผลิตอาหารสัตว์ยังคงปลอดเชื้อ ซัลโมเนลลา ปนเปื้อน

ความเสี่ยงจากการปนเปื้อนซ้ำ

อุณหภูมิ และความชื้นที่เพิ่มขึ้น สามารถปลุกเชื้อซัลโมเนลลา และเชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริซีอี ที่จำศีลอยู่ การแปรผันของอุณหภูมิ และความชื้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ในทุกกระบวนการผลิต รวมถึง การเก็บรักษาวัตถุดิบอาหารสัตว์ การบด และการหยุดการผลิต เอื้ออำนวยให้ระบบเมตาโบลิซึมของเชื้อ ซัลโมเนลลา และเชื้อจุลชีพต่างๆ ที่หลับไหลอยู่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นใหม่ และเพิ่มจำนวน อุณหภูมิ และความชื้นที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้สารอาหารสำหรับเชื้อจุลชีพเข้าถึงได้ง่ายขึ้นระหว่างกระบวนการบด เปิดไปสู่ตำแหน่งที่เชื้อจุลชีพเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งเซลล์เพิ่มจำนวน และปนเปื้อนข้ามไปสู่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ขึ้นตอนตางๆ ดังภาพที่ ๑ แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของระดับเชื้อกลุ่ม เอนเทอโรแบคเทอริอีซิอี เป็นหน่วยซีเอฟยู (Colony-forming unit) ในขั้นตอนก่อน และหลังการบด

ผลกระทบที่เป็นอันตราย

หากเชื้อจุลชีพสามารถเข้าถึงสารอาหารได้สำเร็จระหว่างกระบวนการบด ก็จะเกิดการเสื่อมคุณภาพของสารอาหาร และส่งผลกระทบต่อคุณภาพอาหารสัตว์ ขณะที่ สารอาหารเสื่อมคุณภาพลง เชื้อจุลชีพใช้สารอาหารต่างๆสำหรับการเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนจนกระทั่งไม่เหลือให้ใช้ประโยชน์ต่อไปได้ จึงส่งผลให้คุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์ลดลง

ตัวอย่างเช่น ข้าวโพด การสูญเสียสารอาหารจากเชื้อจุลชีพจากการเสื่อมคุณภาพอาหารสัตว์เกิดขึ้นราวร้อยละ ๗ ของน้ำหนักอาหารสัตว์รวมทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน การเพิ่มอุณหภูมิ และความชื้นอาจโน้มนำให้เกิดเชื้อรา ยีสต์ และระดับเชื้อกลุ่ม เอนเทอโรแบคเทอริอีซิอี เพิ่มขึ้นสูงสุดทันที กลายเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหารต่อไปได้

เครื่องมือจัดการความเสี่ยงของการปนเปื้อนซ้ำ

วิธีการแก้ไขปัญหาที่อาจช่วยลดความเสี่ยง และการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพอย่าง ซัลโมเนลลา มีหลายวิธี วิธีที่นิยมมากที่สุดคือ เทคนิคการบำบัดด้วยไฮโดรเทอร์มัล ในกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน โดยให้ความร้อน และความชื้นลงในอาหารสัตว์ก่อนการอัดเม็ด ภาพที่ ๒ แสดงให้เห็นถึงผลของการเพิ่มความชื้นที่อุณหภูมิสูงกว่า ๑๐๐ องศาเซลเซียสต่อการลดระดับของเชื้อ ซัลโมเนลลา หน่วยเป็นซีเอฟยูต่อกรัม

เพื่อสร้างความมั่นใจว่า เชื้อ ซัลโมเนลลา และจุลชีพอื่นๆลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องให้อุณหภูมิที่ถูกต้อง และเวลาที่เหมาะสม ตารางที่ ๑ แสดงเวลาที่ลดลงเป็นหน่วยทศนิยม เรียกว่า "ค่าดี (D values)" ที่ใช้สำหรับกำจัดเชื้อ ซัลโมเนลลา เป็นหน่วยซีเอฟยูต่อกรัมได้ร้อยละ ๙๐ ในการผลิตอาหารไก่เนื้อระยะแรก หมายความว่า วิธีนี้มีประสิทธิภาพ อุณหภูมิในขั้นตอนการคอนดิชันนิ่งต้องสูงเพียงพอ และมีระยะเวลาที่นานเพียงพอด้วย

การเติมกรดอินทรีย์

 นอกเหนือจากข้อปฏิบัติที่ดีทั้งก่อน และระหว่างกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ผู้จัดการคุณภาพโรงงานอาหารสัตว์ และฟาร์ม ควรมีมาตรการควบคุมการปนเปื้อนซ้ำภายหลังใช้เทคนิคการบำบัดด้วยไฮโดรเทอร์มัล วิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยลดความเสี่ยงการปนเปื้อนซ้ำ ร่วมกับการใช้เทคนิคการบำบัดด้วยไฮโดรเทอร์มัล ได้แก่ การใช้กรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิว ที่ออกฤทธิ์ส่งเสริมกัน การใช้กลยุทธ์บูรณาการวิธีการเหล่านี้ สามารถช่วยลดการสูญเสียความชื้น ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร และยังเป็นวิธีการถนอมคุณภาพอาหารสัตว์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อรา ยีสต์ และเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม เอนเทอโรแบคเทอริซิอี ได้ด้วย

กรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิวที่ยังคงฤทธิ์อยู่ได้ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพเป็นเวลานาน เมื่อใช้กับวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง หรืออาหารสำเร็จรูป การผสมสารลดแรงตึงผิวได้ด้วยช่วยให้กรดอินทรีย์ออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยการลดแรงตึงผิว ช่วยให้การดูดซึม และการกระจายตัวในอาหารสัตว์ดีขึ้น

กลยุทธ์ดั้งเดิมที่นิยมใช้สำหรับป้องกันการปนเปื้อนซ้ำด้วยฟอร์มัลดีไฮด์ แม้ว่า ฟอร์มัลดีไฮด์ จะสามารถออกฤทธิ์ได้นาน และเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงมากสำหรับการกำจัดเชื้อจุลชีพปนเปื้อนในอาหารสัตว์ แต่ได้ถูกห้ามใช้ไปแล้ว เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ต่างจากกรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิวที่มีความปลอดภัย ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงสั่งห้ามใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ในอาหารสัตว์ นอกจากนั้น นักวิจัยยังแนะนำว่า ฟอร์มัลดีไฮด์ส่งผลกระทบทางลบต่อการผลิตไก่เนื้อได้อีกด้วย โดยเฉพาะ อัตราการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนอาหาร

กลยุทธ์การบูรณาการใช้กรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิวรวมกัน ช่วยเพิ่มสุขอนามัยอาหารสัตว์ และเสริมความแข็งแกร่งตามธรรมชาติของระบบทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียแกรมลบในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น โดยสามารถป้องกันไม่ให้อาหารสัตว์ปนเปื้อนซ้ำอีกที่ฟาร์ม และช่วยถนอมคุณภาพทั้งวัตถุดิบ และอาหารสัตว์สำเร็จรูปได้เป็นเวลานานอีกด้วย โดยมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับฟอร์มัลดีไฮด์

ความปลอดภัยอาหารเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด

แม้ว่า การบำบัดด้วยความร้อน ร่วมกับการใช้กรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิวจะให้ผลดีกับการแก้ปัญหาความเสี่ยงต่อเชื้อจุลชีพ เช่น ซัลโมเนลลา  แต่ก็ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล จัดการได้เบ็ดเสร็จ การปนเปื้อนซ้ำของเชื้อจุลชีพสามารถเกิดได้ตลอดเวลา ทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการผลิตอาหารสัตว์ แผนด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพยังเป็นสิ่งจำเป็นในโรงงานอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และควรมีการประเมินด้านอื่นๆ เช่น คุณภาพของวัตถุดิบอาหารสัตว์ สำรวจหาชุดวิกฤติตลอดห่วงโซ่การผลิต เข้มงวดด้านสุขอนามัยในแต่ละขั้นตอนของการผลิตอาหารสัตว์ การบำบัดด้วยเทคนิคไฮโดรเทอร์มัล ร่วมกับการใช้กรดอินทรีย์ และสารลดแรงตึงผิว ที่ช่วยส่งเสริมฤทธิ์ทำงานร่วมกันได้ เป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนความปลอดภัยของอาหารสัตว์ โดยเฉพาะ ความเสี่ยงของเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่อาจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ได้ ทั้งนี้ก็มีเป้าหมายสุดท้ายก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของอาหารสำหรับผู้บริโภค



เอกสารอ้างอิง

van Houte G. 2010. Reducing the risk of salmonella re-contamination in feed. [Internet]. [Cited 2020 Apr 20]. Available from: https://www.poultryworld.net/Health/Articles/2020/4/Reducing-the-risk-of-salmonella-re-contamination-in-feed-566977E/



ภาพที่ ๑ เมื่อสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพเกิดขึ้นที่ระยะใดของกระบวนการผลิตอาหาร เชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริซิอี เช่น ซัลโมเนลลา สามารถเป็นอันตรายต่อทั้งสัตว์ที่กินอาหารปนเปื้อน และมนุษย์ที่บริโภคเนื้อสัตว์ปีกได้ (แหล่งภาพ Jan Willem van Vliet)  



วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ส่งออกยูเครนทรุดจากทั้งหวัดนก และโควิด ๑๙


บริษัทชั้นนำในยูเครน เอ็มเอชพี (MHP) ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอุปสรรคการส่งออก หลังวิกฤติการณ์โรคไข้หวัดนก และโควิด ๑๙ พร้อมกัน บริษัทผู้ผลิตสัตว์ปีกที่ใหญ่ที่สุดในยูเครนมียอดการส่งออกลดลงในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เนื่องจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในเมือง Vinnitsa Oblast แม้ว่า ผลกระทบจากโรคต่อการส่งออกผ่อนคลายลงแล้วในปัจจุบัน หลังจากสถานการณ์ของโรคถูกควบคุมไว้ได้ แต่ก็ถูกโรคโควิด ๑๙ ส่งผลลบต่อการส่งออกในไตรมาสที่ ๒ ของปี พ.ศ. ๒๕๖๓

โรคไข้หวัดนกทำให้ยูเครนถูกจำกัดการจำหน่ายสินค้าโดยอียู และรัฐบาล MENA ทำให้บริษัทเอ็มเอชพีต้องหันไปจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศที่ยังคงเปิดโอกาสให้ส่งออกไปได้บ้าง นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของบริษัทมาก เอ็มเอชพียังคงดำเนินการไปตามกลยุทธ์สร้างความหลากหลายมากขึ้นสำหรับการส่งออกให้ได้มากที่สุด

การจำหน่ายสินค้าเนื้อสัตว์ปีกในไตรมาสแรกของปี

ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เอ็มเอชพีส่งออกได้ ๘๒,๐๔๘ ตัน ต่ำลงร้อยละ ๑๒ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับเป็นการตกต่ำลงอย่างมากสำหรับยอดการส่งออกของยูเครน ปริมาณการส่งออกเป็นสัดส่วนร้อยละ ๕๒ ของยอดการจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีกทั้งหมดในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เปรียบเทียบกับร้อยละ ๕๗ ในไตรมาสแรกของปีก่อนหน้านี้ พื้นที่ควบคุมโรคส่วนใหญ่ยกเลิกไปแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เอ็มเอชพีได้เพิ่มปริมาณการผลิตเต็มที่เหมือนเดิมแล้ว

โควิด ๑๙ ทำลายการส่งออกสินค้าเกษตรฯของยูเครน

แม้ว่า ความเสี่ยงจากโรคไข้หวัดนกคลี่คลายลงแล้ว แต่ธุรกิจก็ไม่สามารถพลิกกลับไปดีได้เหมือนเดิม มาตรการกักกันโรคของยูเครนเพื่อรับมือกับโรคระบาดในมนุษย์ โควิด ๑๙ ได้ซ้ำเติมสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกยูเครนให้แย่ลงไปอีก เนื่องจาก การควบคุมการขนส่งสินค้าด้านการเกษตร และอาหาร   

ทั้งช่องทางการนำเข้า และส่งออกเป็นอุปสรรค เนื่องจาก มาตรการล็อกดาวน์ตามพรมแดน ปัญหาการขนส่งทำให้ไม่สามารถนำสินค้าออกสู่ตลาดได้ ยอดการส่งออกตกลงร้อยละ ๑๐ เนื่องจาก การระบาดของโควิด ๑๙ เจ้าของบริษัทด้านการเกษตรกรรมในยูเครนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากอย่างมากในการรักษาการผลิตตามปรกติ และส่งผลต่อทั้งคุณภาพของสินค้า และประสิทธิภาพการผลิต ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกอาจได้ประโยชน์จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในตลาดอาหารภายในประเทศ สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจเลวร้ายเช่นนี้ ทำให้พลเมืองยูเครนเปลี่ยนแหล่งอาหารโปรตีนที่ราคาถูกลง หมายความว่า ผู้บริโภคในยูเครนจะเลือกซื้อเนื้อแดงลดลง และหันไปซื้อเนื้อสัตว์ปีกแทน บริษัทขนาดเล็กอาจจะไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกักกันโรค เนื่องจาก ตลาดจำหน่ายอาหาร และตลาดนัดต่างๆปิดลงทั่วประเทศ



เอกสารอ้างอิง

Vorotnikov V. 2020. MHP poultry exports hit by both AI and Covid-19. [Internet]. [Cited 2020 Apr 19]. Available from: https://www.poultryworld.net/Meat/Articles/2020/5/MHP-poultry-exports-hit-by-both-AI-and-Covid-19-585769E/

ภาพที่ ๑  การผลิตของบริษัทเอ็มเอชพีหวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกคลี่คลาย แต่ถูกโรคโควิด ๑๙ ดับความหวังลงในปัจจุบัน  (แหล่งภาพ MHP)

วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

การจัดการวัสดุรองพื้นสัตว์ปีกในช่วงโควิด ๑๙


ผลกระทบของโควิด ๑๙ ได้สร้างประเด็นเล็กบ้างใหญ่บ้างสำหรับภาคการเกษตรกรรม การเก็บรักษาวัสดุรองพื้นอาจเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ใหญ่เพียงพอสำหรับวิทยาลัยเกษตรกรรมในไอร์แลนด์เหนือออกคำแนะนำให้กับผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีก ที่ประสบปัญหาการกำจัดและการเก็บรักษาวัสดุรองพื้นใช้แล้วระหว่างการระบาดของโรคโควิด ๑๙
 ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ อาจเผชิญกับปัญหาการควบคุมการเดินทาง จนไม่สามารถกำจัดวัสดุรองพื้นใช้แล้วในแต่ละรุ่นเหมือนปรกติได้ จนทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ความพยายามช่วยเหลือ และให้คำแนะนำของวิทยาลัยเกษตรฯแห่งไอร์แลนด์เหนือ หรือซีเอเอฟอาร์อี เผยแพร่คำแนะนำเบื้องต้นต่อผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีก เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บวัสดุรองพื้นใช้แล้วจากการเลี้ยงไก่เนื้อ ภายหลังการจับไก่ออกไปจากฟาร์มเรียบร้อยแล้ว ไม่ทราบจะทำอย่างไรกับวัสดุรองพื้นที่ใช้แล้วต่อไปดี เนื่องจาก การควบคุมการขนส่ง และการเดินทางในสถานการณ์โรคระบาดโควิด ๑๙  
การเก็บวัสดุรองพื้นใช้แล้วในบริเวณฟาร์ม
คำแนะนำให้กับผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีก วัสดุรองพื้นสามารถเก็บไว้ได้ในบริเวณฟาร์ม ก่อนการเคลื่อนย้ายไปยังที่อื่น วัสดุรองพื้นใช้แล้วควรเก็บกองไว้โดยปิดมิดชิดด้วยวัสดุที่ยอมให้แก๊สระบายออกได้ ในสถานที่จัดเก็บที่ปลอดโปร่ง สามารถเก็บได้ในปริมาณไม่จำกัด
วัสดุรองพื้นสามารถ 
วัสดุรองพื้นสามารถกองไว้ในลานกว้าง แต่เกษตรกรต้องแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับในไอร์แลนด์เหนือก็จะมีหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมชื่อว่า เอ็นไออีเอ สิ่งสำคัญคือ ต้องคลุมไว้ด้วยวัสดุที่ยอมให้แก๊สผ่านได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมงหลังนำมากองไว้ กรณีกองไว้ในลานกว้าง วัสดุรองพื้นใช้แล้วต้องเก็บไว้เป็นเวลาไม่เกิน ๑๒๐ วัน หรือต้องไม่เก็บไว้ในพื้นที่เดียวกันต่อเนื่องกันหลายปี ใหรือไม่เก็บไว้เป็นปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมมากในพื้นที่เดียวกัน วัสดุรองพื้นใช้แล้วต้องเก็บไว้เป็นกองอัดแน่น โดยต้องไม่อยู่ในระยะ ๔๐ เมตรห่างจากเส้นทางน้ำไหล ๑๐๐ เมตรจากทะเลสาบ ๕๐ เมตรจากบ่อบาดาล หรือบ่อน้ำ ๒๕๐ เมตรจากบ่อบาดาลที่ใช้สำหรับจ่ายน้ำให้กับชุมชน เป็นต้น 
การใช้วัสดุรองพื้้นใช้แล้ว
เกษตรกรบางรายชอบนำวัสดุรองพื้นใช้แล้วไปหว่านโดยตรงลงในไร่ แต่นักวิชาการให้คำแนะนำว่า ไม่ควรหว่านลงไปในไร่เกษตร โดยเฉพาะ กรณีจะทำเป็นฟาง หรือหญ้าหมักมาใช้เลี้ยงสัตว์ เนื่องจาก เสี่ยงต่อการเกิดโรคบอโทลิซึม หากจะใช้ในการเพาะปลูก ควรไถลึกลงไปในพื้นดินเพาะปลูกตามแนวพืชไร่ที่จะปลูกลงไป หากไม่มีทางเลือก และต้องใช้วัสดุรองพื้ีนใช้แล้วในการเพาะปลูก ไม่ควรปล่อยให้โคกระบือเข้าไปในพื้นที่อย่างน้อยอีกหลายๆเดือน แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะยังปลอดภัยกับสัตว์ การใช้วัสดุรองพื้นใช้แล้วยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสู่พื้นที่ข้างเคียงได้อีกด้วย 

เอกสารอ้างอิง
McCullough C. 2020. Farmers get advice for poultry litter storage during corona. [Internet]. [Cited 2020 Apr 17]. Available from: https://www.poultryworld.net/Home/General/2020/4/Farmers-get-advice-for-poultry-litter-storage-during-corona-571302E/
ภาพที่ ๑  การกำจัดวัสดุรองพื้นในช่วงโควิด ๑๙ (แหล่งภาพ Hans Prinsen)



วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ผลกระทบของโควิด ๑๙ ต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์


แม้ว่า ความต้องการอาหารสัตว์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่การขนส่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้

บางประเทศอย่างโรมาเนีย ได้แบนการส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ไปยังประเทศที่ไม่อยู่ในสหภาพยุโรป เชื่อว่า จะส่งผลต่อปัญหาดีมานด์-ซัพพลายอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยุโรป การแบนการส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์แล้ว รวมถึง ถั่วเหลือง แป้ง ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลี

ขณะเดียวกัน จีนผู้ผลิตรายใหญ่ถั่วเหลืองอินทรีย์ของโลกก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่เข้มงวดจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด ๑๙ นอกจากนั้น การจัดส่งบรรจุภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุดิบรองก็ยังได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจาก อุปสรรคการขนส่งในจีน รัฐบาลจีนก็สั่งปิดท่าเรือระหว่างรปะเทศบางส่วน ยิ่งเร่งให้เกิดความเสียหายต่อการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลก 

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปิดร้านอาหารทั่วโลก พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงในระหว่างการระบาดของโรคโควิด ๑๙ ไปอย่งมากทำให้ผู้ประกอบการต้องคิดนโยบาย และกลยุทธ์ใหม่ในการทำงาน การผลิตเนื้อแกะ สัตว์น้ำ เนื้อโค และเนื้อลูกโคเป็นภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบอย่างเลวร้ายที่สุด เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์ในอียูเรียกร้องมาตรการจัดการวิกฤติ เพื่อบรรเทาผลกระทบของโรคโควิด ๑๙ ห้องเย็นเก็บสินค้าเป็นมาตรการสำคัญที่จะผู้ประกอบการผลิตสัตว์น้ำเรียกร้อง

นักวิเคราะห์คาดการใช้ถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลีในอาหารสัตว์จะลดลง

การบริโภคปลา และเนื้อทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการเมล็ดธัญพืช และเมล็ดพืชให้น้ำมันสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือจีแอนด์โอลดลงเช่นกัน นักวิเคราะห์คาดว่า ความต้องการถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลีสำหรับผลิตเป็นอาหารสัตว์จะลดลงในประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ นี้

ยอดการผลิตสุทธิของถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี ประมาณร้อยละ ๖๕ ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๓๕ ใช้สำหรับมนุษย์บริโภค ดังนั้น แม้ว่า การบริโภคจีแอนด์โอในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็จะได้รับผลกระทบจากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ลดลงอย่างมาก

การอพยพกลับของแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำรงอยู่ได้ด้วยแรงงานต่างชาติ เมื่อมาตรการล็อกดาวน์เป็นไปอย่างเข้มข้น แรงงานต่างชาติเหล่านี้จึงเริ่มทยอยกลับภูมิลำเนาของตัวเอง ส่งผลต่อวงจรการผลิตอาหารตั้งแต่การกระจายสินค้า และการผลิตอย่างรุนแรง ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่จึงประสบปัญหาแรงงานอย่างมาก ได้แต่คอยความหวังว่า ภาครัฐจะคลายมาตรการ เพื่อเริ่มกิจกรรมการผลิตด้านการเกษตรกรรมอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการล่มสลายของเศรษฐกิจต่อไป

นอกเหนือจากนั้น อุปสรรคการขนส่งทางอากาศ ท่าเรือ การปิดด่านตามถนนทางหลวง และการขนส่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะยิ่งเพิ่มความเข้มงวดต่อไป การบริโภคปลา เนื้อสัตว์ปีก เนื้อสุกร และเนื้อโค จะลดลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงไตรมาสที่ ๒

ความต้องการน้ำมันสำหรับสารเติมอาหารสัตว์จากความวิตกกันเอง

ขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้คำสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้าน เกษตรกรหลายรายวิตกกังวลจึงรีบไปซื้ออาหารสัตว์กักตุนไว้ เพราะเกรงว่าจะเกิดความขาดแคลน เช่น รถขนส่งอาหารสัตว์ไม่สามารถวิ่งได้ และคนงานติดเชื้อโควิด ๑๙ ทำให้ผู้ประกอบการผลิตในฟาร์มพยายามกักตุนอาหารสัตว์ ทำให้ความต้องการสารเติมอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน เกษตรกรในสหรัฐฯ ยังกังวลว่า มาตรการในการผลิตที่โรงเชือดอีกด้วย รัฐบาลสหรัฐฯยังสั่งปิดโรงงานเอธานอล ทำให้เกษตรกรยิ่งกังวล โดยเฉพาะ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดอาหารปศุสัตว์ก็เกรงว่าจะขาดดีดีจี (Dried distrillers grains, DDGs) ที่เป็น by-product ที่สำคัญในการผลิตอาหารสัตว์อย่างมาก 

แนวโน้มดังกล่าวนี้ มีรายงานมาก่อนแล้วในจีน ติดตามมาด้วยเยอรมัน และฝรั่งเศส ในเวลาต่อมาก็เป็นสหรัฐฯ หลังจากศูนย์กลางการระบาดของโควิด ๑๙ ขยับจากเอเชียไปยังยุโรป และอเมริกาเหนือ ตามลำดับ ในช่วงแรกของการล็อกดาวน์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ฝรั่งเศสซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ปริมาณมาก ตามมาด้วยเยอรมัน ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าจะหยุดการผลิตลงชั่วคราว ทำให้ยอดจำหน่ายอาหารสัตว์ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นร้อยละ ๑๐ ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์วางแผนจัดการให้ผลิตอาหารสัตว์ได้ต่อเนื่อง

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากปัญหาการขนส่ง และการผลิตอาหารสัตว์ โดยรัฐบาลพยายามใช้แผนจัดการใหม่ที่ยังคงความปลอดภัยให้กับผู้ผลิตในฟาร์ม เพื่อให้ยังคงการผลิต และจัดหาสารเติมอาหารสัตว์ได้อย่างต่อเนื่อง สมาคมอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ดัทช์กำหนดแนวทางเบื้องต้นเพื่อรักษาการผลิตให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำส่งอาหารสัตว์ให้กับผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ โดยที่ปกป้องคุ้มครองสุขภาพคนงานด้วย นอกจากนั้น การปฏิบัติตามคำแนะนำให้เป็นการตัดสินใจได้เอง ไม่เป็นการบังคับ คำแนะนำดังกล่าวจะถูกปรับใช้ตามสถานการณ์ในอนาคต รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังคงดำเนินไปตามแผนความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มงวด และประสานงานการจัดการผ่านทางโทรศัพท์

พนักงานขับรถขนส่งสารเติมอาหารสัตว์จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการหลักสุขศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะ การสอบย้อนกลับโอกาสสัมผัสโรคของพนักงานมีความสำคัญอย่างมาก การสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับบุคคลอื่นๆต้องหลีกเลี่ยง หรือลดลงให้ได้มากที่สุด เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตสารเติมอาหารสัตว์เดินหน้าต่อไปได้ ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขศาสตร์อย่างเคร่งครัด สำหรับข้อแนะนำเบื้องต้น การสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคลควรมีระยะห่างกัน ๒ เมตร และไม่เกิน ๑๕ นาที ผู้ประกอบการในสหราชอาณาจักร พยายามปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว เพื่อให้การผลิตอาหารสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ไปได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังคงความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค และพนักงานไว้ได้ 

 

เอกสารอ้างอิง

Roy Choudhury N. 2020. Covid-19: The impact on the animal feed industry. [Internet]. [Cited 2020 Apr 28]. Available from: https://www.allaboutfeed.net/Raw-Materials/Articles/2020/4/Covid-19-The-impact-on-the-animal-feed-industry-575937E/

ภาพที่ ๑ สมาคมอาหารสัตว์ในเนเธอร์แลนด์ออกข้อปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อรักษาการผลิตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การส่งอาหารสัตว์สู่ฟาร์ม และการคุ้มครองปกป้องสุขภาพคนงานพร้อมไปด้วยกัน  (แหล่งภาพ Bert Jansen)





วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

อิหร่านขาดแคลนอาหารสัตว์


อิหร่านประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารสัตว์ เนื่องจาก อุปสรรคการนำเข้าในประเทศตั้งแต่โรคโควิด ๑๙ ระบาด

ในอิหร่าน การระบาดของโควิด ๑๙ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารสัตว์อย่างรุนแรง ทำให้ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์ไม่สามารถผลิตลูกไก่ได้อีกแล้ว ในประเทศอื่นๆ อย่างจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อุตสาหกรรมสัตว์ปีกประสบปัญหาผลกระทบของโรคในแบบที่ต่างกันไป ขณะนี้ ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์ในอิหร่านได้ทำลายลูกไก่วันแรกไปแล้วหลายล้านตัว และคาดว่ายังต้องทำลายอีกจำนวนมาก

สมาคมสัตว์ปีกในเตหะราน ระบุไว้ว่า สัตว์ปีกมากกว่า ๑๕ ล้านตัวที่เกิดความเสียหาย นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด ๑๙ ในประเทศ ผู้ผลิตสัตว์ปีกซื้อลูกไก่น้อยลง

เมื่อยอดจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีกลดลง ส่งผลต่อราคาเนื้อไก่ และลูกไก่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดจำนวนลูกไก่ในตลาด เพื่อรักษาความสมดุลของตลาด อุตสาหกรรมปศุสัตว์ และสัตว์ปีกในอิหร่านยังต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก นับตั้งแต่การระบาดของโรคในประเทศ ทำให้ประสบปัญหาในการนำเข้า อย่างไรก็ตาม ภายหลังสื่อโซเชียลเผยแพร่วีดีโอการทำลายลูกไก่ออกไป ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ขู่จะดำเนินคดีผู้ที่ทำลายลูกไก่

การเติบโตภาคการผลิตเนื้อสัตว์ปีกในอิหร่าน

ในอิหร่าน การผลิตเนื้อไก่เติบโตอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา อ้างอิงตามข้อมูลจาก FAOstat ที่รวบรวมสถิติจากองค์การอาหารและการเกษตรโลก หรือเอฟเอโอ ภายใต้สหประชาชาติ หรือยูเอ็น การผลิตเนื้อไก่สูงถึง ๒.๑๘๗ ล้านเมตริกตันในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ในช่วงห้าปีก่อนหน้านี้ มีการเติบโตต่อเนื่องต่อจากปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่มีการผลิต ๑.๙๖๗ เมตริกตัน

โรคไข้หวัดนกมีรายงานเป็นระยะในอิหร่าน แต่ครั้งล่าสุดก็ผ่านมาแล้วเป็นปีตั้งแต่กรกฏาคมปีที่ผ่านมา

 ผลกระทบของโควิด ๑๙ ในภาคสัตว์ปีกทั่วโลก

โรคโควิด ๑๙ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสัตว์ปีกอิหร่านเท่านั้น ผลของโรคเกิดทั้งทางตรง และทางอ้อมไปทั่วโลก

ย้อนหลังไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ เกษตกรในมณฑลหูเป่ยประเทศจีน ตกอยู่ในความกดดันอย่างมาก เนื่องจาก การจัดหากากถั่วเหลืองป่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อมีการควบคุมการขนส่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญไปยังฟาร์มอย่างเคร่งครัด สมาคมการปศุสัตว์ยื่นมือมาช่วยร้องขอให้มีการส่งข้าวโพด ๑๘,๐๐๐ เมตริกตัน และกากถั่วเหลือง ๑๒,๐๐๐ เมตริกตันเข้าไปในมณฑลเพื่อเป็นการบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าว  

ผู้บริโภคในสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเนื้อสัตว์ สถานการณ์โควิด ๑๙ ที่ตึงเครียดทั่วประเทศกำลังส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารอย่างเพียงพอ นอกเหนือจากข้อจำกัดด้านการขนส่งอาหารสัตว์แล้ว สถานการณ์โรคระบาดยังส่งผลต่อการปฏิบัติงานภายในโรงเชือดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตอาหาร ไทสันเตือนว่า เนื้อสัตว์หลายล้านปอนด์กำลังหายไปจากชั้นวางสินค้า เนื่องจาก การปิดโรงงานจำนวนมาก

ในสหภาพยุโรป สถานการณ์น่าจะน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้เน้นให้สมาชิกให้ความสำคัญกับสิ่งท้าทายจากรายงานภาพรวมการเกษตรกรรมในสหภาพยุโรปปีนี้ รวมถึง อุปสรรคการขนส่ง และการกระจายสินค้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ และสารเติมอาหารสัตว์ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก สำหรับตลาดเนื้อสัตว์ คณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่า ภาพรวมการผลิตอาจลดลงเนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่ปิดลง ผู้บริโภคซื้อไปรับประทานที่บ้านเป็นหลัก ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นกับเนื้อโค และเนื้อแกะมากกว่าเนื้อสุกร หรือเนื้อสัตว์ปีก เนื่องจาก การควบคุมการขนส่งสัตว์  


เอกสารอ้างอิง

Linden J. 2020. Feed shortage forces Iranian farmers to cull chickens. [Internet]. [Cited 2020 Apr 28]. Available from: https://www.wattagnet.com/articles/40168-feed-shortage-forces-iranian-farmers-to-cull-chickens

ภาพที่ ๑   อิหร่านทำลายไก่ (แหล่งภาพ Ehsan Graph, Freeimages.com)

ไทสันสหรัฐฯ ใช้บริการห้องแลบเคลื่อนที่ ช่วยเปิดโรงเชือด


ผู้ให้บริการเครือข่ายทางการแพทย์ Matrix Medical Network healthcare เปิดบริการห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ทั่วไประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของแผนสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสำหรับคนงาน และพนักงานสำนักงานทั้งหลายระหว่างการเตรียมเปิดโรงเชือดสัตว์ปีกทั่วประเทศของบริษัทไทสันฟู้ด ในสหรัฐฯ การใช้คลินิกสุขภาพเคลื่อนที่ และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญด้านการตรวจสอบ และวินิจฉัยโรคโควิด ๑๙ โดย Matrix เป็นผู้ให้บริการด้านการวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย 

เมื่อไทสันฟู้ด สหรัฐฯ เริ่มเปิดโรงเชือดให้ปฏิบัติงานใหม่อีกครั้ง ได้รับการสนับสนุนของ Matrix เพื่อช่วยดูแลบุคลากรที่ปฏิบัติงานภายในโรงงาน โดยจัดให้บริการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มเติมตามความต้องการ และมาตรฐานของผู้ประกอบการผลิตสัตว์ปีก 

ไทสันจัดให้มีคลินิกเคลื่อนที่ของ Matrix เพื่อเปิดบริการด้านสุขภาพในสถานประกอบการต่างๆ ทั้งโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆของบริษัท โดยร่วมกับ Matrix เพื่อเป็นการตรวจคัดกรองสิ่งแวดล้อมสำหรับการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย รวมถึง การให้ความรู้ด้านสุขอนามัยสำหรับพนักงานอีกด้วย Matrix ยังช่วยออกแบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัส

ไทสันมีความมุ่งมั่นกำหนดมาตรการป้องกันสมาชิกเพื่อนพนักงานทุกคนของบริษัท การกลับมาเปิดโรงงานผลิตเนื้อสัตว์อีกครั้งจะมาพร้อมกับความเชื่อมั่นต่อพนักงานผู้ปฏิบัติงานว่า บริษัทใส่ใจต่อสุขภาพของทุกคน

ถึงเวลานี้ พันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการผลิตเนื้อสัตว์ และผู้ให้บริการทางการแพทย์ครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงในการผลิต โดยเฉพาะในฐานะของบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ถือเป็นความสำคัญลำดับแรกของบริษัทที่จะดูแลใส่ใจสุขภาพ และความปลอดภัยของพนักงาน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครอบครัวชาวอเมริกันที่จะมีอาหารที่ดีสำหรับบริโภค Matrix เป็นบริการทางการแพทย์ที่จะช่วยนำพนักงานของไทสันกลับมาทำงานได้ตามปรกติเหมือนเดิม



เอกสารอ้างอิง

Crews J. 2020. Tyson announces deployment of mobile medical clinics to reopening plants. [Internet]. [Cited 2020 May 1]. Available from: https://www.meatpoultry.com/articles/23058-tyson-announces-deployment-of-mobile-medical-clinics-to-reopening-plants 

ภาพที่ ๑ บริการห้องแลบเคลื่อนที่ ช่วยเปิดโรงเชือด  (แหล่งภาพ Google Earth)


วิวัฒนาการเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล

  ขณะที่ วัคซีนช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคนิวคาสเซิล การระบาดก็ยังพบได้อยู่ โดยมีอัตราการตายสูง และกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ มีผลกระทบเ...